BHRC Research Weekly

ระบบจัดสรรแพทย์เฉพาะทาง

โรงพยาบาลในเครือบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายหนึ่งในประเทศไทยที่ต้องการแพทย์เฉพาะทาง ในการให้บริการผู้ป่วยตรงตามสาขาและความรุนแรงของโรค ปัจจุบัน BDMS มีโรงพยาบาลเอกชนอยู่ 43 โรงพยาบาล แบ่งเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ

กลุ่มที่ 1 เป็นโรงพยาบาลกรุงเทพและอยู่ในภาคกลาง
กลุ่มที่ 2 เป็นโรงพยาบาลกลุ่มสมิติเวช
กลุ่มที่ 3 เป็นโรงพยาบาลกรุงเทพที่อยู่ในภาคตะวันออก
กลุ่มที่ 4 เป็นโรงพยาบาลกรุงเทพที่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน
กลุ่มที่ 5 เป็นโรงพยาบาลกลุ่มพญาไทและเปาโล
กลุ่มที่ 6 เป็นโรงพยาบาลกรุงเทพที่อยู่ในภาคใต้ และอนาคตวางแผนจะขยายโรงพยาบาลเป็น 50 โรงพยาบาลในปี 2560

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ให้เหมาะสม ซึ่งพบว่ายังมีความขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในภาคอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคกลาง จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เพื่อหารูปแบบที่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งน่าจะทำได้ง่ายกว่า ประกอบกับงานวิจัยที่ศึกษาการจัดสรรแพทย์เฉพาะทางในเครือข่ายโรงพยาบาลที่เป็นเอกชนยังมีน้อย และเป็นการสร้างความพร้อมในการให้บริการโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งในการประดิษฐ์นี้เป็นการออกแบบเว็บเพื่อใช้ในการจัดสรรแพทย์โดยดูถึงความสามารถและความชำนาญ โดยดูจากดัชนีชี้วัดทางด้านความรุนแรงในการมีประสบการณ์ ในการรับผู้ป่วยหนัก เบาหรือที่เรียกว่า case Mix Index (CMI) ซึ่งยังไม่มีใครเคยนำดัชนี้มาใช้ในการบริหารจัดสรรแพทย์มาก่อน

ระบบจัดสรรแพทย์เฉพาะทาง ประกอบด้วย หน่วยรับข้อมูลผู้ป่วย กำหนดให้นำเข้าข้อมูลผู้ป่วยจากแหล่งข้อมูลที่ประกอบด้วยอย่างน้อยข้อมูลห้องผ่าตัด ข้อมูลแผนกผู้ป่วยนอก และข้อมูลแผนกผู้ป่วยในเพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลความต้องการและความรุนแรงของโรค หน่วยรับข้อมูลแพทย์ กำหนดให้นำเข้าข้อมูลแพทย์ ที่ประกอบด้วย ข้อมูลเคสมิกซ์ อินเด็กซ์ ข้อมูลความผูกพันของแพทย์ต่อองค์กร และข้อมูลระยะทางและจัดให้มีการประมวลผลในลักษณะการจัดลำดับแพทย์ตามน้ำหนักคะแนนข้อมูลที่กำหนด โดยที่การให้น้ำหนักคะแนนของแต่ละข้อมูลจัดให้มีการปรับเปลี่ยนการให้น้ำหนักคะแนนของข้อมูลแต่ละตัวได้ ในกรณีที่ไม่สามารถคัดเลือกแพทย์ที่เหมาะสมได้ หน่วยคัดแยกผู้ป่วย ทำหน้าที่รับข้อมูลจากหน่วยรับข้อมูลผู้ป่วย และประมวลผลในการคัดแยกข้อมูลผู้ป่วย ตามความต้องการและความรุนแรงของโรค หน่วยประมวลผลความต้องการแพทย์ ทำหน้าที่รับข้อมูลการจัดลำดับแพทย์ และเปรียบเทียบกับความต้องการและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วย และหน่วยจัดสรรแพทย์ จัดให้คัดเลือกแพทย์ที่เหมาะสมและแสดงผลข้อมูลแพทย์ที่ได้รับการจัดสรร

ผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Healthcare Leadership “ Model for Allocation of medical specialists in a hospital network ” (Volume 10, 2018) หน้า 45-53 และวารสาร The Bangkok Medical Journal “ Potential Factors of Medical Specialist Allocation in a Private Hospital Network in Thailand: A Modified Delphi Study ” ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 (Volume 15 Number 2) หน้า 198 – 202) รวมถึงได้มีการขอจากผู้ก่อตั้งบริษัท lindo systems ไปประชาสัมพันธ์ใน website ของบริษัท lindo systems ที่ได้มีการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้สนับสนุนในการนำผลงานนี้ไปจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในสถานะ "Patent pending" หรือ "รอรับสิทธิบัตร" โดยมีระยะเวลาพิจารณารับจดทะเบียนคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-5 ปี / ระยะเวลาพิจารณารับจดทะเบียนคำขอรับอนุสิทธิบัตร ประมาณ 6-15 เดือน นับจากวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

สำหรับผู้สนใจในการเข้าใช้โปรแกรม : http://bit.ly/324MlwC

ประเภทงาน : อนุสิทธิบัตร

ชื่อผู้ประดิษฐ์ : 1.ดร.นันทนา ศุภพิชญ์นาม 2. นายพุฒิพงศ์ สวาทะสุข / Authors : ดร.นันทนา ศุภพิชญ์นาม ธิติมา วิริยา