BHRC Research Weekly

Screening test

เร็วๆนี้ เราจะได้เห็นผลการวิจัยจากโรงพยาบาลกรุงเทพ พิษณุโลก เปรียบเทียบผลการตรวจสายตาด้วยเครื่องTitmus กับวิธีมาตรฐาน

แต่ก่อนที่ผลการวิจัยจะออกมา ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพอยากจะทบทวนความรู้เรื่องการตรวจคัดกรองกันหน่อย

ส่วนใหญ่การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติหรือวินิจฉัยโรคมีหลายวิธี แต่ละวิธีอาจจะให้ผลสรุปเหมือนหรือต่างกันขึ้นกับคุณภาพการตรวจเหล่านั้นเทียบกับวิธีมาตรฐาน (Gold standard)

ข้อจำกัดที่พบเสมอ คือ การตรวจมาตรฐานมักจะมีราคาสูงหรือใช้วิธียุ่งยากซับซ้อนเราจึงมาใช้การตรวจคัดกรองที่ถูกกว่า ง่ายกว่า เพื่อช่วยในการตัดสินใจแทนโดยต้องยอมรับว่า การตรวจคัดกรองเหล่านี้อาจจะมีความแม่นยำรองลงไป

วิธีการตรวจคัดกรองที่ดีต้องให้ค่าผลบวกจริง (True positive) และผลลบจริง (True negative) สูงที่สุด ส่วนความผิดพลาดได้แก่ ผลบวกปลอม (False positive) และผลลบปลอม (False negative) ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียทางการแพทย์และทางสังคม ต้องอยู่ในระดับต่ำที่สุด

จากตารางข้างบนนี้ เราสามารถอธิบายถึงค่าต่างๆได้ดังนี้

  • - ความไวของการตรวจคัดกรอง (Sensitivity) คือสัดส่วนผลการตรวจที่ได้ผลเป็นโรคจากจำนวนที่เป็นโรคจริงทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ a / (a+c)
  • - ความจำเพาะของการตรวจคัดกรอง (Specificity) คือสัดส่วนผลการตรวจที่ได้ผลไม่เป็นโรคจากจำนวนที่ไม่เป็นโรคจริงทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ d / (b+d)
  • - ค่าพยากรณ์ความถูกต้องของผลบวก (Positive predictive value) คือสัดส่วนผลการตรวจที่ได้ผลเป็นโรคจริงๆจากจำนวนทั้งหมดที่ผลตรวจบ่งชี้ว่าเป็นโรค ซึ่งเท่ากับ a / (a+b)
  • - ค่าพยากรณ์ความถูกต้องของผลลบ (Negative predictive value) คือสัดส่วนผลการตรวจที่ได้ผลไม่เป็นโรคจริงๆจากจำนวนทั้งหมดที่ผลตรวจบ่งชี้ว่าไม่เป็นโรค ซึ่งเท่ากับ d / (c+d)

Reference : ชัยยศ คุณานุสนธิ์ , ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ บทที่ 11 ระบาดวิทยาคลินิก ในหนังสือ พื้นฐานระบาดวิทยา โรงพิมพ์แคนนา กราฟฟิค กรุงเทพ พฤษภาคม พ.ศ. 2557