FITNESS กับการออกกำลังกาย

การทดสอบความฟิตของร่างกายสามารถกระทำได้หลายอย่าง ในที่นี้จะกล่าวถึงความฟิตสมบูรณ์ของระบบหัวใจ ปอด และการไหลเวียนของโลหิต (Aerobic fitness หรือ Cardiovascular fitness) ซึ่งหากต้องการความถูกต้องแม่นยำจะต้องกระทำกันในห้องปฏิบัติการทดสอบให้ผู้ที่จะทดสอบวิ่งบนสายพาน (Treadmill) หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ (Stationary bike) มีการวัดปริมาณการใช้ออกซิเจนมีการวัดชีพจรหรือการเต้นของหัวใจแล้วนำไปคำนวณ แต่ในที่นี้ ผมจะนำวิธีทดสอบความฟิตของร่างกายด้วยตนเองของสถาบันคูเปอร์แอโรบิคเซ็นเดอร์ (Cooper aerobic center) ที่ดัลลัส สหรัฐอเมริกา มานำเสนอต่อท่าน เพื่อท่านสามารถทำการทดสอบด้วยตนเอง หลังจากท่านได้พยายามปรับปรุงความกระฉับกระเฉงของท่านแล้วมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

การทดสอบความฟิตที่จะกล่าวถึงต่อไป เป็นการทดสอบที่ค่อนข้างปลอดภัยโดยการเดินระยะทาง 1 ไมล์ หรือ 1,600 เมตร (ต้องใช้ระยะทาง 1 ไมล์ เพราะเป็นข้อมูลของสถาบันคูเปอร์ที่ทำการศึกษาวิจัยโดยใช้ระยะทางเท่านี้) แต่เพื่อความปลอดภัยของท่านในการทดสอบ เขามีคำถาม 7 ข้อ (PAR-Q หรือ Physical activity readiness questionnaire) ให้ท่านตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ดังนี้ :

1.ท่านเคยได้รับการบอกกล่าวจากแพทย์ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่?

2.ท่านเคยมีอาการปวดหรือเจ็บแน่นหน้าอกหรือหัวใจหรือไม่?

3.ท่านเคยอาการหน้ามืดเป็นลม หรือเวียนศีรษะบ่อย ๆ หรือไม่?

4.ท่านเคยได้รับการบอกกล่าวจากแพทย์ว่าท่านมีความดันโลหิตสูงหรือไม่?

5.แพทย์เคยห้ามท่านออกกำลังกายเพราะมีปัญหาโรคกระดูกและข้อหรือไม่?

6.ท่านมีความผิดปกติของร่างกายอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ที่เป็นข้อจำกัดในการออกกำลังกายหรือไม่?

7.ท่านอายุมากกว่า 65 ปี และไม่คุ้นเคยกับการออกกำลังกายหนักมาก่อนใช่หรือไม่?

หากคำตอบของท่านว่า “ใช่” ตั้งแต่ 1 คำถามขึ้นไป ท่านต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะทำการทดสอบความฟิตด้วยตัวท่านเองนะครับ เพราะอาจมีอันตรายต่อตัวท่านได้ สำหรับรายละเอียดการทดสอบว่าต้องทำอะไรบ้าง ผมขอไปกล่าวต่อในสัปดาห์หน้านะครับ

นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top