ไส้เลื่อน (inguinal hernia)

ไส้เลื่อน (inguinal hernia)เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในเพศชาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผนังบุช่องท้องมีความอ่อนแอ และความดันภายในช่องท้องดันเอาลำไส้ออกมาตรงตำแหน่งที่ผนังบุช่องท้องที่อ่อนแอนั้น โดยปกติภายในช่องท้องของคนเรา จะมีอวัยวะหลายอย่างอยู่ เช่น ตับ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ไส้ติ่งและลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ช่องท้องจะมีผนังบุอยู่โดยรอบ และหากมีการอ่อนแอของผนังบุช่องท้อง และความดันในช่องท้องมีมากกว่าก็จะดันผนังช่องท้องให้โป่งออกมา และจะมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อมีลำไส้เคลื่อนตามออกมา บางครั้งลำไส้อาจเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ก็จะไม่มีอาการอะไร ถ้าหากลำไส้ที่เคลื่อนออกมาแล้วกลับเข้าไปในช่องท้องไม่ได้ จะทำให้รู้สึกหน่วงๆ เวลายืนหรือเดิน ถ้าเกิดเป็นเวลานานๆ ลำไส้ที่เคลื่อนออกมาขาดเลือดมาเลี้ยงจะทำให้ลำไส้ตาย และเน่าได้จะก่อให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงได้

ตำแหน่ง

          ตำแหน่งของไส้เลื่อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณขาหนีบ และบริเวณลูกอัณฑะ บริเวณขาหนีบจะพบว่ามีก้อนหรือมีอะไรออกมาตุงอยู่ เพราะผนังบุช่องท้องบริเวณนั้นอ่อนแอ ความดันในช่องท้องจะดันเอาลำไส้ออกมา ส่วนบริเวณลูกอัณฑะก็เช่นเดียวกัน ลำไส้จะเคลื่อนออกมาตามแนวของลูกอัณฑะ ที่เคลื่อนลงมาจากช่องท้อง ลงมาอยู่ในลูกอัณฑะ ทำให้พบว่าลูกอัณฑะมีขนาดใหญ่มากๆ ได้ โดยเฉพาะในรายที่ไม่ได้รับการรักษา

การรักษา

          1.การรักษาโรคไส้เลื่อนนี้ขึ้นอยู่กับอาการที่มี ว่ามากน้อยเพียงใด และเกิดบ่อยครั้งแค่ไหน ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาว่าจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรปรึกษาศัลยแพทย์ผู้รักษาถึงแนวทางการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ
          2.การรักษาโรคไส้เลื่อนนี้ขึ้นอยู่กับอาการที่มีว่ามากน้อยเพียงใด และเกิดบ่อยครั้งแค่ไหน แพทย์จะช่วยตัดสินใจ และเลือกวิธีการรักษาว่าจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหรือไม่ หลักการรักษาไส้เลื่อนทำได้โดยการผ่าตัดนำลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้อง และเย็บซ่อมรูหรือตำแหน่งที่ลำไส้ออกมา เทคนิกการผ่าตัดวิธีหนึ่งจะผ่าตัดบริเวณไส้เลื่อนเมื่อนำไส้กลับเข้าในช่องท้องแล้วก็เย็บซ่อมรู หรือจุดอ่อน ส่วนอีกวิธีหนึ่งจะใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรูหรือจุดอ่อน
          3.การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ใช้การเย็บซ่อมซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ใช้ได้ดี และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่มีข้อเสียคือ มีแรงดึงมาก และโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำใหม่มีมาก ดังนั้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ได้มีผู้นำเอาวิธีผ่าตัดรักษาโดยลดแรงดึงหลายวิธีเข้ามาใช้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารสังเคราะห์ชนิดพิเศษเพื่อเย็บซ่อมในการผ่าตัดทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดจากทางด้านหน้า หรือการผ่าตัดจากทางด้านหลัง พบว่าวิธีผ่าตัดรักษาโดยลดแรงดึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำใหม่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเก่า

การผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้อง

          หลักการเหมือนกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่เทคนิคต่างกัน คือ ใช้กล้อง และเครื่องมือผ่าตัดด้วยกล้องเข้าไปช่วย ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้อง คือ แผลผ่าตัดเล็กกว่า กลับไปทำงานได้เร็วกว่าข้อด้อยคือ ต้องทำโดยศัลยแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะ ต้องดมยาสลบ และค่าใช้จ่ายสูงกว่า ว่าไปแล้วการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้องมีวิวัฒนาการประมาณสิบกว่าปีมานี้เอง และมีเทคนิกการผ่าตัดไค้หลายวิธี วิธีแรกเป็นการผ่าตัดวิธีแรกเริ่มเมื่อมีผู้นำเอาการผ่าตัดด้วยกล้องมารักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ซึ่งทำแบบง่ายๆ คือ เข้าไปในช่องท้อง แล้วเข้าไปปิดรูไส้เลื่อน และเย็บติดกับเยื่อบุช่องท้องโดยตรง วิธีนี้มีข้อเสีย คือจะไม่แข็งแรง เลื่อนหลุดได้ง่าย โอกาสที่จะเกิดไส้เลื่อนเป็นซ้ำใหม่ได้ง่ายกว่า และอาจจะเกิดพังผืดในท้อง และลำไส้อาจทะลุได้ วิธีที่สองเป็นการผ่าตัดในช่องท้อง โดยผ่าตัดเปิดเยื่อบุช่องท้องออกแล้วปิดส่วนที่เปิดอ้า แล้วเย็บเยื่อบุช่องท้องปิดทับอีกที โอกาสที่จะเกิดไส้เลื่อนเป็นซ้ำใหม่น้อยกว่า แต่มีข้อเสียคือใช้เวลาทำการผ่าตัดนานกว่า และเกิดพังผืด และลำไส้อุดตันได้มากกว่า และวิธีสุดท้ายเป็นการผ่าตัดที่ศัลยแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะส่วนใหญ่นิยมทำกันมากเป็นวิธีผ่าโดยไม่ต้องเข้าไปในช่องท้อง โดยทำให้เกิดช่องว่างภายนอกโดยใช้บอลลูน แล้วเข้าไปปิดทางเปิดได้เช่นเดียวกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเย็บเยื่อบุช่องท้อง

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดและเมื่อกลับบ้าน

          ควรระวังไม่ให้แผลเปียกชื้น จนกว่าจะตัดไหม ห้ามแกะ เกา ล้วงบริเวณแผล เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ หรือเป็นหนอง ขณะไอหรือจามให้ใช้ฝ่ามือ หรือผ้าหนานุ่มกดประคองแผลได้ หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ห้ามทำงานหนัก หรือยกของหนัก อย่างน้อย 2 เดือน ดูและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอจามบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบรวมทั้งผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูก ควรใส่กางเกงในที่กระชับ หรือสปอร์ตเตอร์สำหรับนักกีฬา เพื่อช่วยประคองแผล ลดความเจ็บปวด ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรรับประทานยาบรรเทาปวดตามแพทย์สั่ง ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไส้เลื่อนเกิดซ้ำ แผลแยกหรือบวม แผลมีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ให้รีบมาพบแพทย์

ในกรณีที่เริ่มเป็น ยังไม่รุนแรง และยังไม่อักเสบ

          1.การรักษาจะเป็นการดูแลด้วยตัวเอง ได้แก่ การบริหารร่างกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งต้องเป็นการบริหารเฉพาะมัดกล้ามเนื้อ โดยให้ได้กล้ามเนื้อหน้าเต็ม แต่ไม่ให้เกิดแรงดันมากที่ช่องท้อง เพราะจะทำให้เกิดแรงดันให้ไส้เลื่อนมามากกว่าเดิม ต้องได้รับคำแนะนำจากนักกายภายบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญของระบบกล้ามเนื้อโดยตรง จะปลอดภัยกว่า
          2.ร่วมกับการหลีกเลี่ยงจากภาวะที่จะทำให้เกิดแรงดันมากที่ช่องท้อง ได้แก่ ไม่ไอ/จามแรงๆ หากต้องไอต้องประคองหน้าท้องเอาไว้ ไม่ยกของหนักจนเกินไป กินอาหารประเภทผักผลไม้ให้มาก ไม่รับประทานประเภทที่มีไขมันมากเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องมีไขมันสะสมมาก จะทำให้อ่อนแรงมากด้วย
          3.ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไว้จะดีกว่า ด้วยการทำให้ร่างกายฟิตอยู่เสมอ ออกกำลังกายถูกวิธี รักษาสภาวะโครงสร้างร่างกายให้สมดุล บริหารร่างกายแบบที่ได้ระบบการหายใจและการไหลเวียนของเลือด และบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะมัดด้วย เน้นกล้ามเนื้อมัดลึก มัดที่เป็นหลักในการทำให้โครงสร้างมั่นคง พยุงส่วนอวัยวะต่างๆ ไว้ เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังชั้นลึก กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

โครงร่างช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่

          ผู้ที่มีภาวะไส้เลื่อนจะมีอาการเจ็บบริเวณที่มีก้อนโป่งนูน โดยก้อนดังกล่าวจะยุบลง และหายไปในเวลานอน แต่หากใช้มือลูบหรือยืนจะเห็นก้อนดังกล่าวชัดเจน ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากขณะขับถ่าย เพราะต้องออกแรงเบ่ง หากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก้อนดังกล่าวจะขยาย และไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้องได้ บางครั้งส่งผลให้ลำไส้เกิดการบิดจนทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยง สุดท้ายลำไส้อาจเน่า ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องอย่างรุนแรง บางรายอาจเสียชีวิตในที่สุด การรักษาในอดีตจะทำการผ่าตัด โดยการตัดหรือเลาะถุงไส้เลื่อนออก แล้วเย็บปิดด้วยผนังหน้าท้องของผู้ป่วย วิธีนี้ไม่ดีพอ เนื่องจากในระยะยาวจะส่งผลให้กล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ และผู้ป่วยกลับมาเป็นไส้เลื่อนอีก ล่าสุดได้วิจัย และพัฒนาวัสดุโครงร่างช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ เรียกว่า Mesh Plug เพื่อช่วยผู้ป่วยผ่าตัดไส้เลื่อน โดยวัสดุดังกล่าวผลิตจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ มีลักษณะเป็นร่างแหสำหรับใช้ในการปกคลุมแผลผ่าตัดแทนการใช้เนื้อจากผนังช่องท้องของผู้ป่วยมาปิดเหมือนในอดีต พอลิเมอร์ชนิดนี้จะกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาห่อหุ้มบริเวณแผลผ่าตัดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน และวัสดุดังกล่าวจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อใหม่ทันที โดยไม่เกิดพิษใดๆ การพัฒนานี้ได้ทดสอบประสิทธิภาพกับผู้ป่วยอาสาสมัคร พบว่าหลังการผ่าตัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีการติดเชื้อใดๆ และจากการติดตามระยะยาวพบว่า อัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคลดลงถึงร้อยละ 1-10

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top