ไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus)

เป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ จัดอยู่ในกลุ่มฟลาวิไวรัส กลุ่มเดียวกับไวรัสแจแปนนีสบีที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบเช่นกัน และไวรัสเดงกี่ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก เชื้อนี้ทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ ไข้เฉียบพลันที่มีผื่นร่วมด้วย ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการทางข้อ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1937 ที่ประเทศยูกันดาในทวีปแอฟริกา ต่อมาพบเชื้อในการระบาดที่ประเทศอียิปต์ ในทวีปยุโรปตอนใต้ เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส รวมทั้งทวีปเอเชียตอนใต้ และทวีปอเมริกา

          เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1999 มีการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มพบการระบาดที่รัฐนิวยอร์ก ผู้ป่วยสมองอักเสบ 58 ราย เสียชีวิต 6 ราย การระบาดครั้งนั้น พบว่านกที่อยู่ในสวนสัตว์บร๊อนซ์ในกรุงนิวยอร์ก ส่วนใหญ่มีไวรัสอยู่ และอาจเป็นตัวแพร่กระจายโรค การระบาดของไวรัสเวสต์ไนล์ในกรุงนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ. 1999 ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตกว่า 560 คน ซึ่งร้อยละแปดสิบของผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการของโรค ปัจจุบันก็ยังมีการระบาดของไวรัสเวสต์ไนล์ในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งคราวอยู่เสมอๆ และนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่ง

บันทึกประวัติศาสตร์

          1.พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวัยเพียง 33 พรรษา จากบันทึกที่มีปรากฎไว้เป็นหลักฐานว่า พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยสาเหตุประชวร ซึ่งอาจเป็นจากการติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ด้วยความเป็นไปได้จากการที่ก่อนหน้านี้ทรงเสด็จเยือนบาบิโลน เมโสโปเตเมีย และอิรัก
          2.นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งสันนิษฐานว่า ทรงเป็นโรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ โดยติดเชื้อไวรัสมาจากยุงกัด ทรงมีไข้สูงหลายวัน และในวันท้ายๆ พระองค์เคลื่อนไหวท่อนล่างของพระองค์ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์

ลักษณะการติดเชื้อ

          1.เป็นที่น่าสังเกตว่าไวรัสเวสต์ไนล์ ทำให้เกิดการติดเชื้อโดยไม่มีอาการ มากกว่ามีอาการ ในอัตราสูงถึงประมาณ 300:1 เช่นเดียวกับไวรัสแจแปนนีสบี
          2.คนส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ คิดเป็นอัตราประมาณร้อยละ 80
          3.ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโดยไม่ปรากฎอาการ แต่ก็ยังไม่ทราบคำตอบที่ชัดเจน
          4.สำหรับไวรัสแจแปนนีสบี ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐ พบว่ามีผู้ติดเชื้อปีละ 30,000-50,000 คนทั่วเอเชีย และมีผู้เสียชีวิตประมาณหนึ่งในสามของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

การติดต่อ

          1.โรคนี้ติดต่อโดยยุงรำคาญ หรือเรียกว่า ยุงไข้สมองอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า culex มีนกเป็นแหล่งของเชื้อไวรัส

          2.โดยปกติแล้วเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์จะเข้าสู่มนุษย์ได้จากยุงที่กินเลือดนกที่ติดเชื้อ ยุงจึงเป็นพาหะที่สำคัญของไวรัสนี้

          3.ยุงในโลกทั้งหมดมีมากกว่า 2,500 สปีชี่ส์ มีจำนวน 43 สปีชี่ส์ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และที่พบได้บ่อยๆ มีสามชนิด

  • ชนิดแรก ส่วนปากมีสีดำตรงกลางจะมีแถบขาวหนึ่งแถบ ส่วนอกด้านบนมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องมีแถบขาวแทรกระหว่างข้อ ขนบนหัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม
  • ชนิดที่สอง ส่วนปากมีสีดำตรงกลางจะมีแถบขาว หนึ่งแถบ ส่วนอกด้านบนจะมีเกล็ดสีขาวเห็นชัด ส่วนท้องมีแถบขาวคล้ายเจดีย์
  • ชนิดที่สาม ส่วนปากจะดำตลอดไม่มีแถบขาว ส่วนอกด้านบนมีสีน้ำตาลเข้ม ด้านข้างมีเกล็ดสีขาวอยู่ระหว่างแถบสีดำสองแถว เห็นชัดเจน ส่วนท้องไม่มีแถบขาวแทรกระหว่างข้อ

ฟลาวิไวรัส

          1.ไวรัสเวสต์ไนล์เป็นสมาชิกของกลุ่มฟลาวิไวรัส ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส ชนิดสายเดียว มีเปลือกหุ้ม ความยาว 10-12 กิโลเบส ขนาดของไวริออนประมาณ 40-60 นาโนเมตร
          2.ภายในแคปสิดประกอบด้วยโปรตีนที่สำคัญสองชนิด คือ โปรตีน E และ prM ส่วนของจีโนมไวรัสประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 7 ชนิดเรียงตัวกัน
          3.โปรตีน E มีความสำคัญโดยเป็นตัวจับกับเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และเป็นส่วนที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ
          4.ฟลาวิไวรัสหลายชนิดก่อให้เกิดการตอบสนองโดยการสร้างแอนติบอดี้ที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ยากต่อการแปลผลการตรวจแอนติบอดี้ในเลือด จึงเป็นหลักสำคัญที่ต้องตรวจเลือดสองครั้ง เพื่อดูว่ามีการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดี้ตามหลักการติดเชื้อไวรัสหรือไม่
          5.ไวรัสในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไวรัสเวสต์ไนล์ ไวรัสแจแปนนีสบี ไวรัสเซนต์หลุยส์ ไวรัสเมอเรย์แวลเลย์ ไวรัสอัลฟาย ไวรัสคาปิปาคอร์ ไวรัสคูแทงโก ไวรัสโรชิโอ ไวรัสสแตรทฟอร์ด ไวรัสเยาอันดี และไวรัสคุนจิน

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top