ไวรัสฮันทาคืออะไร

ไวรัสฮันทา (Hanta virus) เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส ชนิดสายเดียว จัดอยู่ในตระกูลบันยาไวรัส ซึ่งไวรัสในกลุ่มนี้ไม่ค่อยเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์เท่าใดนัก ไวรัสฮันทาก่อให้เกิดโรคที่สำคัญๆ สองลักษณะ ประการแรกไวรัสฮันทาทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะไตวายร่วมด้วย ซึ่งโรคที่เกิดมีอาการค่อนข้างรุนแรง พบมีรายงานการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสฮันทา ลักษณะนี้ในประเทศเกาหลี ประเทศจีน และทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย อีกประการหนึ่งไวรัสฮันทาทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจที่รุนแรง อาการสำคัญคือ ไข้และปอดบวมน้ำที่มีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาที่รวดเร็ว เชื้อไวรัสฮันทาที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบบทางเดินหายใจพบการระบาดทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ

          พาหะของโรคติดเชื้อไวรัสฮันทาคือ สัตว์ประเภทกัดแทะประเภทหนู มนุษย์จะได้รับเชื้อไวรัสฮันทาที่ถูกขับออกมาทางสารคัดหลั่งของหนู เช่น ปัสสาวะ น้ำลาย รวมทั้งมูลอุจจาระ เมื่อคนหายใจเอาละอองสารคัดหลั่งดังกล่าวที่มีเชื้อไวรัสฮันทาเข้าไปในร่างกาย ก็จะเกิดภาวะการติดเชื้อขึ้น สำหรับกรณีที่คนถูกหนูกัดโดยตรง โอกาสที่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล อาจพบได้แต่ความเสี่ยงไม่สูงนัก จากการศึกษาพบว่าการติดต่อโรคโดยการจับหรือสัมผัสกับฉี่หนู น้ำลายหนู หรือมูลอุจจาระ จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่ามาก ส่วนใหญ่พบหนูที่ติดเชื้อไวรัสในบริเวณนอกบ้านมากกว่าในบ้าน เช่น พบในฟาร์ม ในบริเวณชนบท มาตราการป้องกันไม่ให้หนูเข้ามาเพ่นพ่านในบริเวณบ้าน ที่ซึ่งผู้คนมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งปฎิกูลของมัน จึงมีความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง

          การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสฮันทาภายในกลุ่มของสัตว์ที่เป็นพาหะคือ หนู จะมีลักษณะเป็นการแพร่กระจายในแนวราบ โดยการขยายพันธุ์ของสัตว์ หรือสัมผัสกันโดยตรง เช่น การต่อสู้กัน และเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่าเชื้อไวรัสฮันทาจะไม่ก่อโรคในหนูเลย และไม่ใช่หนูทุกชนิดที่แพร่เชื้อไวรัสฮันทา พบว่าชนิดของหนูที่แพร่เชื้อไวรัสมากที่สุดเป็นหนูเล็กซึ่งเป็นหนูท้องถิ่น ขนาดลำตัว 2-3 นิ้ว หางยาว 2-3 นิ้ว ตาโต หูโต ขนมีหลายสี สีเทาบ้าง แดงออกน้ำตาลบ้าง ใต้ท้องเป็นแถบสีขาว พบทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ โดยมักพบอยู่ในบริเวณชายป่า นอกจากนี้ยังพบเชื้อไวรัสในหนูสายพันธุ์อื่นๆได้อีกหลายชนิด โดยเฉพาะหนูขาขาว ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่มักมีไวรัสอยู่เป็นจำนวนมาก

          การเกิดโรคในมนุษย์ มนุษย์จะสามารถรับเชื้อไวรัสฮันทาได้สองวิธีหลักๆ โดยส่วนมากแล้วการติดเชื้อเกิดจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสในลักษณะของฝอยละออง เชื้อไวรัสฮันทาที่มากับปัสสาวะหรืออุจจาระของสัตว์กัดแทะ จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์โดยการหายใจเข้าไป หรือเชื้อไวรัสผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือเยื่อบุตา หรืออาจพบเชื้อไวรัสปะปนมากับอาหารและน้ำดื่ม ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่พบได้และทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อ คือ การได้รับเชื้อไวรัสฮันทาจากการที่ถูกสัตว์กัด โดยผ่านทางน้ำลายของหนูที่มีเชื้อไวรัส ในทางทฤษีแล้ว อัตราการติดเชื้อจะขึ้นกับโอกาสที่มนุษย์สัมผัสโรค ซึ่งมักเป็นในช่วงฤดูกาลที่จะพบสัตว์ที่เป็นแหล่งของเชื้อไวรัสฮันทา และปัจจัยที่เกี่ยวกับอาชีพของแต่ละบุคคล

          ตราบจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดต่อโรคติดเชื้อไวรัสฮันทาสู่มนุษย์โดยพาหะอื่นที่ไม่ใช่หนู และยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนหรือการติดโรคระหว่างมนุษย์ที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า มีรายงานการเกิดโรคในผู้ที่ทำงานในห้องปฎิบัติการที่ใช้หนูเป็นสัตว์ทดลองบ้างประปราย และจากการศึกษาการระบาดของเชื้อไวรัสฮันทาในประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี ค.ศ.1996 พบความเป็นไปได้ที่จะเกิดมีการติดต่อจากคนสู่คนได้ แต่หลักฐานทางระบาดวิทยายังไม่แน่ชัด

          สำหรับเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโรคติดเชื้อไวรัสฮันทา พบการระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อสิบสองปีก่อนในปี ค.ศ.1993 ที่รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา บริเวณแถวมลรัฐอะริโซนา นิวเม็กซิโก โคโรลาโด และยูทาห์ พบผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจรุนแรง ภายหลังประวัติการมีไข้สูง ซึ่งอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ตอนแรกมีเกิดการระบาด แพทย์และนักวิทยาศาสตร์พากันคิดว่าเกิดจากเชื้อกาฬโรค แต่ผลการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อมา พบว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่กาฬโรคตามที่เข้าใจแต่แรก กระบวนการขั้นตอนการสืบสวนและสอบสวนโรคโดยหน่วยงาน CDC ของประเทศสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ถึงจะค้นพบว่าโรคระบาดในครั้งนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสฮันทา

          สำหรับในประเทศไทยของเรา ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัสฮันทา แต่จากการศึกษาวิจัยหนูชนิดต่างๆ ในชุมชนทั่วประเทศ พบว่าสามารถตรวจพบแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสฮันทาได้ในหนูชนิดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีความชุกอยู่ระหว่าง 2.3-3.0 จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นทำให้มีการตั้งสมมุติฐานว่า โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสฮันทาในประเทศไทย อาจจะไม่ได้มีอาการและอาการแสดงที่รุนแรงในแบบที่พบในต่างประเทศ หรืออาจเป็นเพียงการติดเชื้อแบบไม่มีอาการก็ได้

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top