ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (hepatitis B virus)

ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ และการอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ ในประเทศไทย พบผู้ป่วยที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 8-10 ล้านคน โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี จึงนับว่ามีความสำคัญมาก แต่ในปัจจุบันหลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแรก เกิดทุกคน ทำให้อุบัติการณ์ในคนไทยลดลง ประมาณร้อยละ 3-5เมื่อเป็นโรคตับอักเสบบีระยะเฉียบพลันแล้วมีโอกาสจะหายขาดประมาณ ร้อยละ 90 ซึ่งจะกลับเป็นปกติทุกอย่าง ส่วนอีกร้อยละ10 จะไม่หายขาด โดยบางคนอาจจะเป็นพาหะของโรคโดยไม่มีอาการ หรือบางคนอาจจะเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้บางคนอาจจะเป็นโรคตับแข็งตามมา ถ้ายังมีการอักเสบของตับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักต้องเป็นนานประมาณ 10-20 ปี บางคนอาจจะเป็นโรคมะเร็งตับได้โดยเฉพาะถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค มะเร็งตับ โอกาสที่จะเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ในแต่ละคนไม่เท่ากัน ความร้ายแรงของโรคไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรค และมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัสในเลือด และตับ โดยอาจมีอาการของตับอักเสบเรื้อรัง หรืออาจไม่มีอาการ บุคคลทั้งสองกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปได้ เราเรียกบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ว่าเป็น “พาหะ” หรือตับอักเสบเรื้อรัง ในประเทศไทย พบผู้ป่วยที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 8-10 ล้านคน ประมาณร้อยละ 10 ของผู้เป็นพาหะจะกลับเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังได้อีก และบางรายอาจตายด้วยโรคตับแข็ง ตับวาย ท้องมาน และอาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ผู้เป็นพาหะมีโอกาสเกิดโรคเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติถึง 100 เท่า โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยทั้งหมด โอกาสการเกิดโรคมะเร็งจะมีมากหากผู้ป่วยติดเชื้อชนิดนี้ตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ติดมาจากมารดาขณะแรกเกิด เป็นต้น

สาเหตุ

          1. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความคงทนสูง และทำลายได้ยาก การทำลายเชื้อต้องใช้วิธีต้มเดือดนานอย่างน้อย 30 นาที หรือนึ่งภายใต้ความดันสูงนาน 30 นาที หรืออบในตู้อบแห้งที่อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือโดยการแช่ในสารเคมี เช่น แช่ในโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.5% อย่างน้อย 30 นาที แช่ในฟอร์มาลิน 40% อย่างน้อย 12 ชั่วโมง หรือแช่ในแอลกอฮอล์ 70% อย่างน้อย 18 ชั่วโมง ไวรัส สามารถถ่ายทอดจากมารดาสู่บุตร ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อที่สำคัญประการหนึ่งในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันการถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่บุตรลดลงมาก เพราะบุตรที่คลอดออกมาจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100
          2. การติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ยังถือเป็นวิธีการติดต่อที่สำคัญใน ปัจจุบัน ทั้งนี้เกิดจากการมีเพศสัมพันธุ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบชนิดบี จะสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์
          3. การได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับ อักเสบชนิดบี ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสน้ำคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง การติดเชื้อจากการไดรับเลือดพบได้น้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากระบบการตรวจกรองของธนาคารเลือดดีขึ้นมาก
          4. อาจติดต่อได้จากการสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง

อาการ

          หลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวในร่างกายประมาณ 2-3 เดือน บางรายอาจจะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนในรายที่มีอาการอาจจะอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่บางรายจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับ มีไข้ ตับโต ปัสสาวะเข้ม ตัวเหลือง อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ จากนั้นร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีออกไปพร้อมๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีซ้ำอีก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 จะหายขาดได้ ส่วนอีกร้อยละ 10 จะเป็นชนิดเรื้อรัง ซึ่งสามารถเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับได้ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ โดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีตั้งแต่เด็กๆ ส่วนการเกิดตับแข็งเนื่องจากมีการตายของเซลล์ตับ เกิดมีพังผืดเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

โรคไวรัสตับอักเสบ บี ติดต่อได้อย่างไร

          โรคนี้สามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่งของผู้ป่วยตับอักเสบหรือผู้เป็นพาหะซึ่งเกิดขึ้นได้ในลักษณะ ต่างๆ เช่น
          1. การรับถ่ายเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือดที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่
          2. การใช้เข็มฉีดยาที่มีเชื้อปนเปื้อน การเจาะหู การสัก การทำฟันที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่โดยไม่ได้ผ่านการฆ่า เชื้ออย่างถูกต้อง
          3. การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็ก เพราะอาจปนเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้ออยู่
          4. การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่
          5. การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่โดยผ่านเข้าทางบาดแผลโดยไม่รู้ตัว เช่นการกัดกันเล่นๆ ของเด็ก
          6. การถ่ายทอดเชื้อมาจากมารดาที่เป็นพาหะ หรือเป็นโรคอยู่ไปยังลูกระหว่างอยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด

การวินิจฉัยโรค

          การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบชนิดบี ในปัจจุบันทำได้ไม่ยาก เพียงตรวจเลือดในปริมาณเล็กน้อยเพื่อหาเปลือกของไวรัส (HBsAg) การตรวจหาหลักฐานว่ามีตับอักเสบหรือไม่โดยการตรวจระดับเอนไซม์ของตับ ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจนัดตรวจระดับเอนไซม์ของตับเป็นระยะๆ การตรวจหาปริมาณไวรัสโดยทางอ้อมด้วยการตรวจ HBeAg หรือการตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง เพื่อประเมินปริมาณของไวรัสก่อนการรักษา ในบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาตรวจชิ้นเนื้อตับ โดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังหลังจากฉีดยาชา ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการอักเสบของตับ
          ถ้าตับส่วนมากเกิดเป็นโรคตับแข็ง จนตับส่วนดีที่เหลืออยู่ทำงานแทนตับส่วนที่เสียไปไม่ไหว อาจจะมีอาการดังนี้ ท้องบวม เพราะมีน้ำในท้อง อาจจะบวมที่เท้า ข้อเท้า มือ อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนถ่าน เพราะมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร หรือลำไส้ เกิดจากเลือดไหลเข้าตับที่เป็นตับแข็งได้ไม่ดีเลยคั่งตามรอบๆ ทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อมาก อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร

การรักษา

          1. คนที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังบางคนอาจจะหายเองได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่หายเอง เหตุผลที่ต้องรักษาภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้สูงกว่าคน ทั่วไป โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับสูง คือผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 40 ปี มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ และมีตับแข็งร่วมด้วย การรักษาโดยการใช้ยานี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส ลดการอักเสบของตับ ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ และลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
          2. ยาชนิดฉีดที่ได้ผลดีในปัจจุบันคือ อินเตอร์เฟอรอน (interferon) มีใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว อาศัยหลักการที่สารอินเตอร์เฟอรอนสร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ ซึ่งสามารถกำจัดไวรัสได้ แต่ในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีสารนี้ไม่เพียงพอที่จะกำจัดไวรัส ให้หมดไป จึงต้องให้อินเตอร์เฟอรอนจากภายนอกเข้าไปเสริม ต้องฉีดติดต่อกันนาน 4-6 เดือน โอกาสที่จะกำจัดเชื้อได้หมด พบน้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ช่วยลดความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้ร้อยละ 40-60 (HBeAg จากบวกเป็นลบ, anti HBe จากลบเป็นบวก) และลดการเกิดตับแข็ง และมะเร็งตับได้ แต่อินเตอร์เฟอรอน มีข้อเสียคือ ผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น อาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ไทรอยด์เป็นพิษกำเริบ และอาการทางจิตประสาท เป็นต้น แต่อาการข้างเคียงเหล่านี้ ไม่ได้พบในผู้ป่วยทุกราย การฉีดอินเตอร์เฟอรอนจะไม่ได้ผลในรายที่เป็นพาหะ
          3. ยาชนิดรับประทานที่ได้ผลดีคือ ลามิวูดีน (lamivudine) ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และอาจมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยกระตุ้นทางอ้อมให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ตอบสนอง และกำจัดเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น ในระยะแรกจำนวนไวรัสลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกันยานี้ใช้ได้เฉพาะในรายที่มีภาวะตับอักเสบมาก่อนเท่านั้น และต้องกินยาทุกวันเป็นเวลานานเป็นปีๆ ผู้ป่วยที่ได้รับยานาน 1 ปี จะทำให้ไวรัสหยุดแบ่งตัวร่วมกับเอนไซม์ตับกลับมาปกติได้ผลประมาณร้อยละ 20 แต่การรักษาจะได้ผลเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 40 ถ้าผู้ป่วยมีภาวะตับอักเสบปานกลาง ก่อนเริ่มการรักษา ยาลามิวูดีนสามารถก่อให้เกิดไวรัสผ่าเหล่า และดื้อต่อยาได้ โดยถ้ายิ่งกินนานก็ยิ่งมีโอกาสในการเกิดเชื้อผ่าเหล่าและดื้อยามากยิ่งขึ้น ปัจจุบันแนะนำให้ทานยาวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันประมาณ 1-1.5 ปี ผลข้างเคียงน้อย ผลการรักษาใกล้เคียงกับอินเดอร์เฟอรอน แต่ข้อเสียคือมักจะหยุดยาไม่ได้ ถ้าหยุดแล้วมักจะมีการอักเสบของตับเกิดขึ้นใหม่
          4. นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆ อีก เช่น อะดีโฟเวีย (adefovir), แอนติคาเวีย (entecavir) ซึ่งในปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ๆจากการศึกษาวิจัยพบว่าใช้ได้ผลมากขึ้น

การป้องกัน

          1. การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดก่อน เมื่อตรวจพบว่ายังไม่เคยได้รับเชื้อ และไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงควรรับการฉีดวัคซีน
          2. วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนที่มีการใช้มานาน มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี ควรฉีดให้ครบ 3 เข็มในช่วงเวลา 6 เดือน เพื่อให้ได้ผลคุ้มกันอย่างแน่นอน
          3. การฉีดวัคซีนทำได้โดยปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการฉีดวัคซีน แพทย์อาจแนะนำว่าให้ตรวจเลือดก่อน เมื่อตรวจพบว่ายังไม่เคยได้รับเชื้อ และไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรรับการฉีดวัคซีนปกติจะต้องฉีด 3 เข็ม เข็มแรกทันที เข็มสองห่างไป 1 เดือน และเข็มสามหางจากเข็มแรก 6 เดือน เพื่อให้ได้ผลการป้องกันที่เพียงพอ
          4. ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีด เช่น บวมแดง ตึง บริเวณนั้น
          5. เช่นเดียวกันกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ควรป้องกันที่จะติดเชื้อนั้นๆ เสียก่อน ดังนั้นจึงควรฉีดในทารก หรือในเด็กวันรุ่น และผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ฉีดวัคซีนนี้แก่ทารกแรกเกิดทุกราย
          6. คนหนุ่มสาวควรฉีดวัคซีน เนื่องด้วยวัยรุ่นเป็นคนกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคสูง อีกทั้งการหลีกเลี่ยงก็ทำได้ยาก ดังนั้นการป้องกันด้วยวัคซีน จึงเป็นการป้องกันที่คุ้มค่า และให้ผลดีที่สุด ปรึกษาแพทย์ของท่านวันนี้ เพื่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตับอักเสบบี

ข้อแนะนำสำหรับผู้ติดเชื้อชนิดเรื้อรัง

          1. โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทย ผู้ที่ติดเชื้อนี้แบบเรื้อรังจะมีการดำเนินโรคแตกต่างกันโดยอาจไม่มีอาการ อะไร ตรวจการทำงานของตับก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ กลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคที่ไม่ค่อยรุนแรงแต่อย่างไรก็ตามจะมีโอกาสเกิดโรค มะเร็งตับสูงกว่าคนปกติมาก
          2. บางรายมีอาการอ่อนเพลีย เหลือง เป็นๆ หายๆ ตรวจการทำงานของตับพบว่ามีการทำลายเซลล์ตับ เกิดขึ้นตลอดเวลา กลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะตับแข็งได้สูง และโอกาสเกิดมะเร็งตับก็สูงด้วย ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเนื้อตับ เพื่อดูว่าตับถูกทำลายมากน้อยเพียงใดและควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือไม่ มีหลักฐานทางการแพทย์ชี้บ่งชัดเจนว่า การรักษาด้วยยาต้านไวรัส สามารถชะลอการเกิดตับแข็งลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับ ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยาที่ใช้รักษาก็มีผลข้างเคียงสูง และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากการรักษา ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มรักษาทุกครั้ง มิฉะนั้นอาจจะทำให้ท่านเสียเงินโดยใช่เหตุ และยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
          3. ในกลุ่มที่เป็นตับแข็งแล้ว กลุ่มนี้จะมีพยากรณ์โรคเลวที่สุด โอกาสจะเกิดมะเร็งตับสูงมาก
          4. เมื่อท่านมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดนี้ หรือทราบว่าเคยติดเชื้อมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่า ท่านมีการติดเชื้อจริงหรือไม่ และอยู่ในกลุ่มใดเพื่อที่จะกำหนดแนวทางในการรักษาต่อไป ร่วมกับการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งตับ โดยถ้าสามารถตรวจพบได้ในขณะที่ไม่มีอาการ และก้อนมะเร็ง มีขนาดเล็กก็สามารถจะผ่าตัดก้อนมะเร็งทิ้งไปได้
          5. กิจกรรมประจำวัน หากท่านไม่มีอาการอะไร ตรวจการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่จำเป็นต้องจำกัดกิจกรรม ท่านสามารถเล่นกีฬา หรือทำงานได้เหมือนคนปกติ หากท่านมีการทำงานของตับผิดปกติมาก มีอาการอ่อนเพลีย ตาเหลือง ตัวเหลือง ท่านควรจะพักผ่อนห้ามทำงานหนักหรือออกกำลังกายหนักๆ
          6. อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือผสมสารกันบูด ของหมักดอง ถั่วลิสงบด เพราะพวกนี้อาจจะทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งตับสูงขึ้นอีก หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ท่านไม่จำเป็นต้องกินน้ำหวานตลอดเวลา หากไม่มีหลักฐานว่าท่านมีน้ำตาลในเลือดต่ำการกินน้ำหวานนอกจากจะไม่ได้ ประโยชน์ และอาจเกิดโทษได้ด้วย
          7. ท่านควรพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง และโรคนี้ควรจะต้องติดตามตลอดชีวิตโดยมีจุดประสงค์หลักของการติดตามคือ ดูการดำเนินของโรค และคัดกรองหามะเร็งตับในระยะแรก เพื่อการรักษาที่จะทำให้มะเร็งหายขาด

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี

          1. รับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบทุกหมู่ ทั้งปริมาณและคุณภาพ และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา
          2. งดสูบบุหรี่
          3. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
          4. ห้ามดื่มสุรา และเครื่องดื่มแอลกอออล์ รวมทั้งสารที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตับโดยเด็ดขาด
          5. ไม่รับประทานยาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยาบำรุงต่างๆ
          6. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเป็นระยะๆ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจการทำงานของตับ และคัดกรองหามะเร็งตับในระยะแรก
          7. ในกรณีที่จะแต่งงาน ควรให้คู่แต่งงานมาตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันแพทย์ก็จะนัดฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
          8. ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการมีบุตร สามารถมีได้โดยบุตรที่คลอดออกมาจะได้รับการฉีดอิมมูนโนโกลบูลิน และฉีดวัคซีน นอกจากนี้มารดาที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top