โรคไข้สมองอักเสบเจอี

image 38

โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคไข้สมองอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัสเจอี Japanese encephalitis (JE) ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อสมองทั่วๆ ไป หรือเฉพาะที่บางส่วน เนื่องจากเนื้อสมองอยู่ติดกับเยื่อหุ้มสมอง จึงอาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมกับการอักเสบของสมองด้วยได้ โรคไข้สมองอักเสบเจอี ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตและเป็นโรคที่รักษายาก ที่สำคัญเมื่อเป็นแล้วมีอัตราการตายสูง หากรอดชีวิตมักมีความพิการหรือผิดปกติทางสมองตามมา อัตราป่วยตายอยู่ระหว่างร้อยละ 20-30 ประมาณสองในสามของผู้รอดชีวิต จะมีความพิการเหลืออยู่ เชื้อไวรัสเจอีเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคไข้สมองอักเสบในเอเชีย พบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณปีละ 30,000-50,000 ราย โรคนี้เรียกว่า Japanese เนื่องจากสามารถแยกเชื้อได้จากผู้ป่วยในญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2476 จากสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้สมองอักเสบ ชื่อที่เรียกในระยะต้นคือ Japanese B encephalitis virus เพื่อบ่งว่าเป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบชนิด B ซึ่งระบาดในหน้าร้อน ส่วนไข้สมองอักเสบชนิด A ซึ่งระบาดตลอดปีในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีชื่อเรียกว่า Von Economo’s encephalitis
          โรคไข้สมองอักเสบเจอีพบแพร่กระจายทั่วไปในทวีปเอเชีย พบในหลายประเทศและมีการระบาดบ่อยครั้งในญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไต้หวัน แต่ปัจจุบันประเทศดังกล่าวสามารถควบคุมโรคนี้ได้ ในประเทศไทยมีรายงานการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และระบาดเรื่อยมาทุกภาค บริเวณที่มีการระบาดชุกชุมมากที่สุดคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และน้อยที่สุดในภาคใต้ พบการระบาดประปรายทั้งปี แต่จะมีช่วงระบาดสูงสุดในฤดูฝน ส่วนใหญ่จะพบโรคนี้ได้ในเด็ก พบมากในเด็กอายุ 3-14 ปี แต่พบมากที่สุดในเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และพบโรคนี้ได้ชุกชุมในฤดูฝน มักระบาดในราวเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในประเทศไทยจะพบโรคนี้ได้ในภาคเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ

          ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้สมองอักเสบเจอี ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทในท้องถิ่นที่มีการระบาด ทหารที่เข้าไปประจำการหรือปฏิบัติการในท้องถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้อพยพไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และเดินทางเข้าไปในพื้นที่ชนบท โรคไข้สมองอีกเสบเจอี ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง การระบาดของโรคไข้สมองอักเสบเจอี มักเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด ไม่ขยายวงกว้าง กินระยะเวลาไม่เกินสองสามเดือน การระบาดอาจเกิดขึ้นจากยุงที่เป็นพาหะ โดยแพร่กระจายเชื้อไวรัสเจอีจากสุกรติดเชื้อ ประเทศที่เคยมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้สมองอักเสบเจอี ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และประเทศไทย ประเทศที่พบการระบาดเป็นครั้งคราว ได้แก่ เวียดนาม เขมร พม่า อินเดีย เนปาล และมาเลเซีย


สาเหตุ

1. เกิดจากเชื้อไวรัสเจอี หรือที่เรียกว่า Japanese encephalitis virus ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส และอยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสเด็งกี เชื้อไวรัสเจอีมีสมบัติเช่นเดียวกับฟลาวิไวรัสตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีแมลงกินเลือดเป็นพาหะนำโรค อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก สภาวะอากาศ ฤดูกาล โอกาสในการสัมผัสกับสัตว์นำโรค และภูมิต้านทานของผู้ป่วย สำหรับประเทศไทย เชื้อไวรัสเจอี เป็นสาเหตุการติดเชื้อไวรัสในสมองที่พบบ่อยที่สุดช่วงฤดูฝนของภาคเหนือ ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยไข้สมองอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสเจอี โรคนี้พบได้ทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งเขตชานเมืองของกรุงเทพ เชื้อไวรัสอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เอนเทอโรไวรัส ไวรัสโรคมือเท้าปาก ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสหัด ไวรัสเริม ไวรัสอีสุกอีใส ไวรัสคางทูม ไวรัสเอดส์ ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสนิปาห์ เป็นต้น
2. โรคไข้สมองอักเสบเจอีติดต่อกันโดยมียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค ในเมืองไทยพบยุงรำคาญ พันธุ์ Culex tritaeniorhynchus, Culex gelidus และ Culex fascocephalus ยุงรำคาญเหล่านี้เพาะพันธุ์ในท้องทุ่งท้องนาที่มีน้ำขัง จำนวนยุงจะเพิ่มมากในฤดูฝน ยุงตัวเมียสามารถถ่ายทอดเชื้อผ่านรังไข่ไปสู่ลูกยุงได้ เมื่อยุงกัดกินเลือดสัตว์ในระยะที่มีเชื้อไวรัสเจอีอยู่ในกระแสเลือด ยุงที่กัดจะได้รับเชื้อไวรัสเจอี ซึ่งจะเพิ่มจำนวนในตัวยุง โดยมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 9 -12 วัน เมื่อยุงไปกัดสัตว์อื่นก็จะแพร่เชื้อไปสู่สัตว์นั้น ถ้าคนถูกยุงมีเชื้อกัดก็จะได้รับเชื้อไปด้วย
3. หมูเป็นรังโรคที่สำคัญ หมูที่ติดเชื้อไวรัสเจอีจะไม่มีอาการ แต่มีเชื้อไวรัสในเลือดเมื่อยุงไปกัดหมูในระยะนี้ เชื้อจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในยุง เมื่อมากัดคนจะแพร่เชื้อเข้าสู่คน สัตว์อื่นๆ ที่จะติดเชื้อไวรัสเจอี ได้แก่ ม้า วัว ควาย นก แต่สัตว์เหล่านี้จะไม่มีอาการมีแต่ม้าและคนเท่านั้น เมื่อได้รับเชื้อแล้วประมาณ 1 ใน 300 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการสมองอักเสบ หมูมีความสำคัญในวงจรการแพร่กระจายของโรค เพราะจะมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือดได้นานกว่าสัตว์อื่นๆ จึงจัดว่าเป็นรังโรคที่สำคัญ
4. หลังจากโดนยุงที่มีเชื้อกัดจะมีเชื้อเข้าไปในร่างกายของคนและเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนมากพอที่จะทำให้เกิดอาการของโรค ทำให้สมองและเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ ระยะนี้เรียกว่าระยะฟักตัว ซึ่งกินเวลา 7-10 วัน หรืออาจนานถึง 2 สัปดาห์ เชื้อไวรัสเจอีจะสามารถอาศัยในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังโดยเฉพาะลูกหมู เนื่องจากลูกหมูที่หย่านมแม่นานหนึ่งเดือน ภูมิคุ้มกันจากแม่จะเริ่มหมดไป เมื่อยุงที่มีเชื้อกัดลูกหมู เชื้อสามารถอยู่ในลูกหมูได้นาน โดยลูกหมูไม่มีอาการ เมื่อยุงตัวอื่นกัดลูกหมูที่มีเชื้อไวรัสเจอี ยุงนั้นก็จะสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้ ลูกหมูจึงเป็นตัวกระจายเชื้อที่สำคัญ นอกจากนี้ วัว ควาย ม้า ลา แพะ แกะ ค้างคาว ก็เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน
5. ระยะฟักตัวของโรคในคน 1-2 สัปดาห์ หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสเจอีกัด
6. โรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคของสัตว์ที่ระบาดมายังคนได้ คนมักติดโรคโดยบังเอิญ สัตว์หลายชนิดติดเชื้อได้ ที่สำคัญลูกหมูซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เนื่องจากมีระยะไวรีเมียนาน และมีเชื้อไวรัสจำนวนมาก ส่วนในคนมีระยะไวรีเมียสั้นมาก จึงไม่มีปัญหาในด้านการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

อาการ

          ส่วนใหญ่ของผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ อัตราการติดเชื้อชนิดแสดงอาการต่อการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการพบประมาณ 1:90 ถึง 1:300 โดยทั่วไปพบว่ามีเพียง 1 ใน 300-500 คนเท่านั้นที่จะมีอาการสมองอักเสบ ซึ่งจะเริ่มด้วยมีไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อไปอาการปวดศีรษะจะมากขึ้น ผู้ป่วยอาเจียน ซึมลงเรื่อยๆจนหมดสติไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการตัวแข็งเกร็งและชักร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ ในรายที่เป็นรุนแรงมากจะถึงแก่กรรมประมาณวันที่ 7-9 ของโรค ถ้าพ้นระยะนี้แล้วจะผ่านเข้าระยะฟื้นตัว ระยะเวลาของโรคทั้งหมดประมาณ 4-7 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น อัมพาตแบบแข็งเกร็งของแขนขา พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง บุคลิกภาพเปลี่ยน สติปัญญาเสื่อม เชาวน์ปัญญาเสื่อม อัตราการเสียชีวิตของโรคไข้สมองอักเสบเจอีพบได้ร้อยละ 20-40

การวินิจฉัย

1. จากลักษณะอาการทางคลินิกที่มีไข้ ซึม หมดสติ และมีอาการชัก ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำไขสันหลัง จะให้การวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคสมองอักเสบ
2. จะบอกสาเหตุได้แน่นอนจะต้องตรวจแยกเชื้อไวรัสเจอีจากเลือด หรือน้ำไขสันหลัง ซึ่งพบได้ยาก
3. การตรวจหาแอนติบอดีย์จากตัวอย่างตรวจคือน้ำไขสันหลัง และ/หรือซีรัมคู่เจาะห่างกัน 1-4 สัปดาห์หลังจากมีอาการ การตรวจซีรัมคู่เพื่อดูการเพิ่มขึ้นของระดับแอนติบอดีย์อย่างน้อยสี่เท่า โดยวิธี HI เป็นวิธีที่ยังเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป นอกจากนี้อาจใช้วิธี NT, CF หรือ ELISA เนื่องจากไวรัสเจอีมีแอนติเจนกลุ่มร่วมกับฟลาวิไวรัสตัวอื่นๆ แอนติบอดีย์ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสเจอีจึงทำปฏิกิริยาร่วมกับเชื้อฟลาวิไวรัสตัวอื่นด้วย เช่น ไวรัสเด็งกี เป็นต้น วิธี HI, NT หรือ CF ไม่สามารถบ่งบอกถึงคลาสของอิมมูโนโกลบูลินที่ตรวจพบ
4. การวินิจฉัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือตรวจหาแอนติบอดีย์จำเพาะชนิด IgM ต่อไวรัสเจอีในน้ำไขสันหลังและซีรัมที่เก็บในระยะแรกของโรค จัดเป็นวิธีวินิจฉัยโดยรวดเร็ววิธีหนึ่ง นิยมใช้วิธี ELISA ซึ่งอาศัยหลักของ IgM capture test
5. การแยกเชื้อไวรัสในเลือดมักไม่พบเชื้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสเจอีมีระยะไวรีเมียสั้นมาก ในรายที่อาการหนักเมื่อทำการเจาะน้ำไขสันหลังและแยกเชื้อ จะพบเชื้อไวรัสเจอีได้ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว สามารถแยกเชื้อไวรัสเจอีจากเนื้อสมองของผู้ป่วย โดยฉีดเข้าสัตว์ทดลองหรือหยอดในเซลล์เพาะเลี้ยง

การรักษา

1. ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ
2. ต้องให้การดูแลรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก
3. บางครั้งจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
4. การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาระงับชัก ยาช่วยลดอาการบวมของสมอง
5. ดูแลและช่วยการหายใจ รวมทั้งแก้ไขภาวะเสียดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
6. รักษาภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน
ภายหลังการป่วยเป็นไข้สมองอักเสบ ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจหายเป็นปกติได้ แต่ผู้ป่วยส่วนมากที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิต ในกรณีที่รอดชีวิตมักมีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ เช่น ชัก อัมพาต ปัญญาอ่อน พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลง พูดไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ บางรายอาจกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปเลย จะเห็นว่า โรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคที่น่ากลัว เมื่อเป็นแล้วรักษายาก และผลการรักษาไม่ดี


การป้องกัน

1. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาด ได้แก่ จำนวนยุงพาหะมีมาก สัตว์ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อคือลูกหมูมีปริมาณมาก และประชากรไม่มีภูมิคุ้มกันโรค
2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ยุงรำคาญมักจะกัดเวลาพลบค่ำ
3. ไม่ควรเลี้ยงหมูในบริเวณใกล้บ้านที่อยู่อาศัย เลี้ยงหมูในคอกที่อยู่ห่างคน หรือมีมุ้งลวดกันยุง หรือฉีดวัคซีนให้ลูกหมู
4. โรคไข้สมองอักเสบเจอีป้องกันโดยการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันหนึ่งเดือน แล้วฉีดเพิ่มอีกหนึ่งครั้งหลังจากฉีดเข็มที่สองได้หนึ่งปี ควรจะเริ่มให้วัคซีนนี้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง พร้อมกับการให้วัคซีนกระตุ้น DTP และ OPV จากนั้นฉีดกระตุ้นทุก 3-4 ปี
5. พบว่าการให้วัคซีนเชื้อตายผลิตจากสมองหมูมีผลในการป้องกันโรคได้ดีมาก ในปัจจุบันผลิตได้จากองค์การเภสัชกรรมในประเทศไทย แต่ปริมาณไม่พอ ต้องสั่งจากต่างประเทศมาเพิ่ม
6. วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันเป็นชนิดสายพันธุ์ นากายาม่า และไบจึง เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยให้ผลป้องกันได้ดีมาก ไม่ควรฉีดวัคซีนเกิน 5 ครั้ง เนื่องจากวัคซีนทำจากสมองลูกหนูอาจมีปฏิกิริยาได้มาก กระทรวงสาธารณสุขได้รวมวัคซีนนี้เข้าไว้ในโปรแกรมให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็ก ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 โดยเริ่มเข็มแรกในเด็กอายุ 12-24 เดือน
7. ในปีพ.ศ. 2543 กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายการให้วัคซีนนี้แก่เด็กทั้งประเทศ คนที่อยู่ในกรุงเทพฯตลอดเวลาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ถ้าจะต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างจังหวัด หรือย้ายไปทำงานต่างจังหวัดอาจติดโรคนี้ได้ และแม้มีเพียงหนึ่งในสามร้อยคนเท่านั้นที่มีอาการ แต่ไม่มีทางทราบล่วงหน้าว่าใครจะมีอาการ จึงควรป้องกันไว้ก่อนโดยการฉีดวัคซีน ในรายที่รีบด่วนอาจให้วัคซีนทั้งสามเข็มในเวลา 0, 7 และ 21 วัน
8. วัคซีนที่กำลังพัฒนาเป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ซึ่งเพาะเลี้ยงในเซลล์ และวัคซีนซึ่งผลิตโดยใช้กระบวนการพันธุวิศวกรรม

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

ร.อ. นพ. พันเลิศ ปิยะราช
ระบาดวิทยาคลินิค, ระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ
ผู้ปรับปรุง

Scroll to Top