โรคใหม่คล้ายเอดส์ ไม่ใช่โรคติดต่อ

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2555 สำนักข่าวต่างประเทศซีเอ็นเอ็น (CNN) ได้รายงานข่าวพบโรคชนิดใหม่ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีลักษณะอาการคล้ายโรคเอชไอวี หรือเอดส์ (HIV/AIDS) คือ ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย รายงานยังกล่าวอีกว่าโรคที่พบใหม่นี้ไม่ใช่โรคติดเชื้อ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสเอชไอวี ต่อมาเมื่อมีการเสนอข่าวนี้ในสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ของประเทศไทย ทำให้ผู้ที่ทราบข่าวนี้เกิดความไม่สบายใจ รวมถึงกังวลว่า อาการเจ็บป่วยของตนจะเข้าข่ายเป็นโรคใหม่นี้หรือไม่ อีกทั้งยังมีข้อสงสัยตามมาอีกมากมายว่า โรคนี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร ติดต่อกันได้หรือไม่ และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจึงขอเสนอรายละเอียดของโรคใหม่ดังกล่าวเพื่อคลายความกังวลกันครับ

ที่มาของการค้นพบ

          เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แพทย์ได้สังเกตว่า มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มีอาการแบบเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเอดส์ คือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และไม่พบว่ามีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน มะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่นๆ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยลักษณะเช่นนี้ประมาณ 100 รายที่ป่วยด้วยอาการเป็นๆหายๆ ไม่หายขาด ต่อมาในปีพ.ศ.2547 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พบผู้ป่วยชาวเอเชียที่มีลักษณะอาการเช่นเดียวกัน ทำให้สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health หรือ NIH) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับประเทศไทย และประเทศไต้หวัน โดยรวบรวมอาสาสมัครผู้ป่วยจากทั้งสองประเทศได้ประมาณ 200 ราย มีอายุตั้งแต่ 18-78 ปี และศึกษาโดยการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด

“โรคใหม่คล้ายเอดส์” คือโรคอะไร

          โรคนี้มีชื่อว่า “กลุ่มอาการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่” หรือ “โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองในวัยผู้ใหญ่” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า adult-onset immunodeficiency syndrome ส่วนมากพบในผู้ป่วยอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี และอาจสัมพันธ์กับเชื้อชาติในทวีปเอเชีย
ปกติแล้วเมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี (antibody) ขึ้นมาเพื่อจับกับสิ่งแปลกปลอมนั้น ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ร่างกายใช้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ

          แต่โรคนี้พบว่าสารแอนติบอดีที่ผู้ป่วยสร้างขึ้นกลับมาทำร้ายร่างกายของผู้ป่วยเอง โดยจะทำลายสารโปรตีนชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า “อินเตอร์เฟียรอน-แกมมา” (interferon-γ) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ และไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและทำให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ (เชื้อฉวยโอกาสคือ เชื้อที่โดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดโรคในคนภูมิคุ้มกันปกติ) ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคเอดส์

โรคนี้เป็นโรคติดต่อหรือไม่

          โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคแต่ประการใด แต่เกิดจากระบบการสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ จัดอยู่ในกลุ่ม โรค “ภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเอง” (autoimmune disease) ยกตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเอสแอลอี (SLE หรือ Systemic Lupus Erythematosus) ดังนั้นโรคนี้จึงแตกต่างจากโรคเอดส์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
ทำไมถึงเกิดขึ้นมาได้ และโรคนี้จะเป็นอย่างไร

          ขณะนี้ยังขาดข้อมูลด้านระบาดวิทยา การดำเนินโรค และการพยากรณ์โรค จึงไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ระบบการสร้างภูมิคุ้มกันผิดปกติเกิดขึ้นมาอย่างไร เมื่อเกิดโรคนี้แล้วจะเป็นนานแค่ไหน จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ หรือจะกลับเป็นซ้ำอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศแถบทวีปเอเชีย กำลังร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น

โรคนี้แตกต่างจากโรคเอชไอวีเอดส์ (HIV/AIDS) อย่างไร

          โรคเอดส์ หรือโรคเอชไอวี (HIV/AIDS) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human immunodeficiency virus หรือ HIV) ซึ่งติดต่อกันได้จากการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสนี้แล้วจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และเมื่อมีการติดเชื้อฉวยโอกาสจะเรียกว่าเป็นกลุ่มอาการเอดส์ (AIDS หรือ acquired immunodeficiency syndrome) การวินิจฉัยโรคเอดส์ทำได้โดยตรวจพบเชื้อไวรัสเอชไอวีจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเอชไอวี แต่จะตรวจพบว่ามีสารแอนติบอดีที่ต่อต้านอินเตอร์เฟียรอน-แกมม่า (interferon-γ)

“อินเตอร์เฟียรอน-แกมมา” (interferon-γ) คืออะไร

          อินเตอร์เฟียรอน-แกมมา เป็นสารโปรตีนในกล่มอินเตอร์เฟียรอน (interferon) ซึ่งมีอยู่ในร่างกาย สร้างมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ (ตัวอย่างเช่น ลิมโฟไซต์) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันและกลไกการอักเสบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สารโปรตีนอินเตอร์เฟียรอนนั้นมีหลายชนิด ได้แก่ แอลฟา (α) เบต้า (β) แกมมา (γ) โอเมกา (ω) และ เทา (τ) หากขาดสารเหล่านี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีอะไรบ้าง
          ภูมิคุ้มกันปกติของมนุษย์ประกอบด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างเม็ดเลือดขาว สารแอนติบอดี ฯลฯ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในระบบภูมิคุ้มกันจะทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ซึ่งแบ่งสาเหตุหลักๆได้ดังนี้
1. เกิดจากพันธุกรรม ส่วนใหญ่มีอาการตั้งแต่กำเนิด และอาจเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย มักพบคนในครอบครัวมีอาการเช่นเดียวกัน
2. เกิดขึ้นภายหลัง เช่น จากการติดเชื้อ การได้ยากดภูมิคุ้มกัน การผ่าตัดม้าม โรคมะเร็ง เป็นต้น

อาการของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองในวัยผู้ใหญ่
อาการที่พบบ่อย คือ ไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต และจะมีการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น

  • เชื้อรา “คริปโตคอกคัส (Cryptococcus)”
  • เชื้อรา “ฮิสโตพลาสมา (Histoplasma)”
  • เชื้อรา “เพนิซิเลียม (Penicillium)”
  • เชื้อวัณโรคเทียม (non-tuberculous mycobacteria)
  • เชื้ออื่นๆ

          โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง คือมีอาการเป็นมานาน อาการอาจเป็นๆหายๆ ความรุนแรงไม่มาก สามารถรักษาภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนได้ โอกาสเสียชีวิตค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรง เชื้อฉวยโอกาสคืออะไร เชื้อฉวยโอกาสเป็นเชื้อโรคที่โดยปกติไม่ก่อให้เกิดโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

          สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเมื่อได้รับเชื้อเหล่านี้จะเกิดอาการเจ็บป่วยได้ เชื้อกลุ่มนี้มีหลายชนิดทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต การควบคุมและจัดการการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม (mycobacterium) กลุ่มเชื้อรา (molds) และ เชื้อแบคทีเรีย ซัลโมเนลลา (salmonella) ขึ้นกับการทำงานร่วมกันของสารไซโตไคน์ (cytokine) ได้แก่ อินเตอร์เฟียรอน-แกมมา (interferon-γ) อินเตอร์ลิวคิน-12 (interleukin-12) และทูเมอร์ เนโครซิส แฟคเตอร์-แอลฟา (Tumor Necrosis Factor: TNF- α) หากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีปัจจัยอื่นที่ยับยั้งการทำงานของสารเหล่านี้ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมและจัดการการติดเชื้อได้

          สารแอนติบอดีที่จับทำลายไซโตไคน์มีบทบาทในการก่อโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ในปีพ.ศ. 2547 ได้พบผู้ป่วยชาวเอเชีย 25 รายที่ไม่ได้เป็นโรคเอดส์ แต่มีการติดเชื้อไมโคแบคทีเรียมระยะแพร่กระจาย และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดอื่น จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีสารแอนติบอดีที่ต่อต้านทำลายอินเตอร์เฟียรอน-แกมมา ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จึงถูกจัดอยู่ใน “กลุ่มอาการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่” (adult-onset immunodeficiency syndrome)

สรุป

“กลุ่มอาการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่” ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไม่ใช่โรคติดเชื้อ และไม่ใช่โรคติดต่อ ที่สำคัญคือ โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นใหม่ แต่พบในประเทศไทยและประเทศไต้หวันตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 สาเหตุของโรคเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและจากสาเหตุอื่นที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง เมื่อป่วยเป็นโรคนี้พบว่า ร่างกายมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย รวมทั้งเชื้อฉวยโอกาส แต่โชคดีที่โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่รักษาได้ไม่ยาก ถึงกระนั้น “กลุ่มอาการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่” นี้ยังต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านระบาดวิทยา สาเหตุ และแนวทางการรักษา รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ต่อไป

เอกสารอ้างอิง (References)

1. Sarah K. Browne, M.D., Peter D. Burbelo, Ph.D., Ploenchan Chetchotisakd, M.D., et al. Adult-Onset Immunodeficiency in Thailand and Taiwan. N Engl J Med 2012;367:725-34.
2. Schroder K, Hertzog PJ, Ravasi T, Hume DA. Interferon-gamma: an overview of signals, mechanisms and functions. J Leukoc Biol 2004;75:163-89.
3. Ballow M. Primary immunodeficiency diseases. In: Goldman L, Ausiello D, eds. Cecil Medicine. 23rd ed. Philadelphia, Pa: Saunders Elsevier; 2007:chapter 271.
4. สำนักระบาดวิทยา. สถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์ พ.ศ. 2554. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2555
5. Saundra Young, CNN. Researchers identify rare adult immune disease in Asia. Cable News Network Web site. 2012. Available at:http://edition.cnn.com/2012/08/23/health/adult-onset-immunodeficiency-syndrome/index.html Accessed August 28, 2012.
6. สำนักพิมพ์ไทยรัฐ. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ฉบับประจำวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555
7. เจาะข่าวเด่น. พบโรคประหลาดคล้ายเอดส์. สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3. 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ที่มา ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ ผู้เรียบเรียงบทความ นพ.วิรชัช สนั่นศิลป์
ที่ปรึกษาบทความ พญ. พรรณพิศ สุวรรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top