โรคเนื้องอกสมอง

รศ.นพ.สิทธิ์ สาธรสุเมธี

เนื้องอกสมองเป็นภาวะที่มีการเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมอง เนื้องอกสมองอาจเป็นเนื้องอกธรรมดา (Benign)  หรือเป็นมะเร็ง (Malignant) ทั้งสองชนิดสามารถลุกลามในสมองเองจนเป็นอันตรายหรือทำให้เกิดความพิการต่อผู้ป่วยได้ เนื้องอกสมองที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้ได้ผลในการรักษาดีที่สุด

เนื้องอกสมองอาจแบ่งเป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเซลล์ในสมองเอง (primary brain tumor) หรือเกิดจากการแพร่กระจายมายังสมองของโรคมะเร็งจากอวัยวะอื่น (metastatic brain tumor) เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น ซึ่งมะเร็งที่แพร่กระจายมายังสมองจากโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นนั้นพบบ่อยกว่าชนิดที่เกิดจากเนื้อสมองเอง ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก เนื้องอกสมองจัดเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่นั้น แม้เนื้องอกสมองจะพบได้น้อยกว่าโรคมะเร็งของอวัยวะอื่น แต่จัดเป็นโรคที่สำคัญเพราะทำให้ผู้ป่วยเกิดพิการถาวรหรือเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคเนื้องอกสมอง

สาเหตุการเกิดโรคเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์ในสมองนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เนื้องอกสมองมักความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลเนื้องอกสมองของผู้ป่วย โดยไม่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ไปยังลูก นอกจากนี้อาจมีปัจจัยภายนอกบางอย่างที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ เช่น เคยได้การได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะมาก่อน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเนื้องอกสมองได้มากกว่าคนทั่วไป

สำหรับโรคมะเร็งในอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมายังสมองนั้น เกิดขึ้นตามระยะของโรคและชนิดความรุนแรงของโรคมะเร็งที่อวัยวะตั้งต้น

อาการและอาการแสดง

เนื้องอกสมองสามารถกดเบียดเนื้อสมองปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามตำแหน่งของของสมองแต่ละส่วนที่มีหน้าที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก มีปัญหาเรื่องการพูดหรือภาษา บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ชักเกร็งกระตุก ตามัวมองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน ได้ยินน้อยลง ชาลดความรู้สึก การทรงตัวและการเดินแย่ลง อาการเหล่านี้มักจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคทางสมองและจิตประสาทอื่น ๆ หากผู้ป่วยมีอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนต่อไป

นอกจากอาการที่เกิดจากการกดเบียดตามตำแหน่งของเนื้อสมองปกติแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการจากภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะและโพรงช่องน้ำในสมองสูงจากเนื้องอกที่โตขึ้น เช่นอาการปวดศีรษะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประกอบกับมีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการมักเป็นมากในตอนเช้า อาจมีอาการอาเจียนพุ่ง ตามัว หรือเห็นภาพซ้อนได้ การรับประทานยาแก้ปวดอาจทำให้อาการปวดศีรษะทุเลาได้ชั่วคราว อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่สำคัญ ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเช่นกัน

การวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติทางสมอง แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไปร่วมกับการตรวจทางระบบประสาท เพื่อตรวจหาอาการของความดันในกะโหลกศีรษะสูง และความผิดปกติของการทำงานของเนื้อสมองแต่ละส่วน หากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกสมอง แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography; CT; ซี-ที) หรือเครื่องตรวจโดยใช้คลื่นสะท้อนสนามแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging; MRI; เอ็ม-อาร์-ไอ) การตรวจด้วย CT หรือ MRI นี้สามารถบอกตำแหน่ง และระยะของเนื้องอกได้ นอกจากนี้อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วย MRI ชนิดพิเศษเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหรือการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่สงสัยว่าอาจเป็นเนื้องอกได้ การตรวจด้วยเพ็ทสแกนร่วมกับ CT (positron emission tomography; PET) โดยฉีดสารน้ำตาลติดสารกัมมันตรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำและถ่ายภาพบริเวณที่สงสัยว่ามีเนื้องอก ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนว่ามีโรคเนื้องอกจริงหรือไม่ การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น จะช่วยวินิจฉัยและวางแผนการรักษาในขั้นต่อไป

หลังจากตรวจพบเนื้องอกในสมองจากการตรวจข้างต้นแล้ว การตรวจขั้นต่อไปคือการผ่าตัดเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกหรือไม่ และเป็นชนิดใด เนื่องจากเนื้องอกสมองมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีการรักษาที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ข้อมูลจากการตรวจชิ้นเนื้อสามารถบอกระดับความรุนแรงและการพยากรณ์ของโรคได้ และสามารถชี้แนะแนวทางใรการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป

การรักษาโรคเนื้องอกสมอง

การรักษาโรคเนื้องอกสมองอาศัยความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ได้แก่

  • ประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมอง)
  • แพทย์ทางรังสีวินิจฉัย (หมอเอ็กซ์เรย์)
  • แพทย์ทางรังสีรักษา (หมอฉายแสง)
  • ประสาทแพทย์ (หมอทางสมองและระบบประสาท)
  • แพทย์เฉพาะทางประสาทมะเร็งวิทยา แพทย์ด้านเคมีบำบัด หรืออายุรแพทย์โรคมะเร็ง (หมอรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ยา)
  • พยาธิแพทย์ (หมอตรวจชิ้นเนื้องอกทางกล้องจุลทรรศน์)
  • จิตแพทย์ (หมอดูแลด้านสุขภาพจิต)

 การรักษาโดยทีมแพทย์จากหลายสาขาร่วมกันจะทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งในด้านการรักษาเฉพาะต่อโรคเนื้องอก การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และการรักษาเพื่อมุ่งเน้นที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

การผ่าตัด (surgery)

เป็นวิธีหลักที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาเพื่อกำจัดเนื้องอกออกไป การผ่าตัดสมองในปัจจุบันได้มีการใช้เทคนิคและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยในการช่วยผ่าตัดมากขึ้น การผ่าตัดอาจเป็นได้ตั้งแต่การเจาะเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา จนถึง การผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะเพื่อตัดเนื้องอกออกไปให้ได้มากที่สุดโดยไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางสมองมากขึ้นหลังการผ่าตัด  สำหรับความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดนั้น ประสาทศัลยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเป็นรายๆไป เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งส่วนใหญ่อาจหายด้วยการผ่าตัด หากเนื้องอกเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่น การฉายรังสี และ/หรือ การให้ยาเคมีบำบัด

การรักษาด้วยการฉายรังสี (radiation therapy)

         การฉายรังสีเป็นการรักษาเนื้องอกโดยใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นมุ่งไปยังเนื้องอกเพื่อทำลายกลุ่มเซลล์มะเร็ง การรักษาต่อครั้งส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาสั้น และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจเกิดผลข้างเคียงต่อเนื้อสมองปกติได้ เช่น อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนหลับมากขึ้น หรืออาการที่เกิดจากเนื้องอกนั้นเป็นมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีผมร่วงแบบชั่วคราวในบริเวณที่ฉายรังสีได้ ปัจจุบันเทคนิคการฉายรังสีมีวิวัฒนาการไปมาก ได้แก่ การฉายรังสีแบบสามมิติเฉพาะที่ การฉายรังสีโดยปรับความเข้มได้ในจุดต่างๆ ของบริเวณที่ฉาย การใช้รังสีขนาดสูงเสมือนการผ่าต้ดเพื่อรักษาเนื่องอก เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้เทคนิคต่างๆ และการกำหนดขนาดของรังสีนั้น ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกในผู้ป่วยแต่ละคน บางรายอาจฉายเฉพาะที่ บางรายต้องฉายทั้งศีรษะ หรือฉายครอบคลุมทั้งสมองและไขสันหลัง

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (chemotherapy)

เนื้องอกสมองบางชนิดสามารถตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แพทย์อาจเลือกใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด โดยให้ร่วมกันกับการฉายรังสี และให้ต่อหลังจากฉายรังสีครบ ในกรณีที่มีการกลับเป็นซ้ำของโรค หรือไม่ตอบสนองต่อการฉายรังสีแล้ว อาจใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการของโรค การให้ยาเคมีบำบัดอาจให้เป็นยาชนิดเดียวหรือเป็นสูตรยาหลายชนิดร่วมกัน รูปแบบยามีทั้งใช้รับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

ยาเคมีบำบัดรวมถึงยารักษาแบบมุ่งเป้า อาจมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายด้วย เช่น รากผม เม็ดเลือด เยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้ผมร่วง โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดลดลง คลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสียได้ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผลข้างเคียงเกือบทั้งหมดจะกลับเป็นปกติเมื่อหยุดการรักษาไประยะหนึ่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะตัดสินใจเลือกสูตรยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการรักษา ค่าใช้จ่ายรวมถึงสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษา ลักษณะเฉพาะของเนื้อเยื่อ่มะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งสภาพร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองเฉพาะที่ หรืออาการปวดศีรษะจากความดันในกระโหลกศีรษะสูงจากเนื้องอก ส่วนใหญ่จะได้รับยาสเตียรอยด์ (corticosteroids) เช่น dexamethasone เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งยาสเตียรอยด์นี้สามารถลดภาวะสมองบวมจากการกดเบียดของเนื้องอกและสามารถช่วยลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีได้ ยากลุ่มสเตียรอยด์นี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หรือมีอาการทางจิตประสาทได้ ภูมิต้านทานต่ำลงซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อาจมีใบหน้าและคอบวม น้ำหนักขึ้น สิวขึ้น กระดูกพรุน และ มีแผลในกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยานี้ในขนาดต่าที่สุดเท่าที่จะบรรเทาอาการได้และเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

Scroll to Top