โรคหืด หรือหอบหืด (asthma)

โรคหืด หรือหอบหืด (asthma)โรคหอบหืด เมื่อปลายปีที่ผ่านมาหลายท่านคงได้ยินข่าวการเสียชีวิตของดาราหนุ่ม ออฟ – อภิชาติ พัวพิมล ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหอบหืด ที่เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ นอกจากนี้ดาราตลก ‘ดี๋ ดอกมะดัน’ ยังคงนอนพักรักษาตัวในห้องไอซียู เนื่องมาจากถูกโรคหอบหืดกำเริบเล่นงานเช่นเดียวกัน

          โรคหอบหืด เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ โดยสองในสามของผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีภาวะภูมิแพ้ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการไอในตอนเช้า และตอนกลางคืน คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 จากประชากรทั้งหมด ในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคหอบหืดประมาณ 3 ล้านคน เสียชีวิต 1,000 คนต่อปี กว่า 70% ของผู้เสียชีวิตเนื่องจากการเดินทางมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป

          โดยทั่วไปโรคหอบหืดเกิดจากอาการแพ้ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือแม้แต่การแพ้อาหารทะเล ซึ่งขึ้นอยู่กับความไวในการตอบสนองสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ในบางรายอาจรุนแรงมากทำให้เสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยโรคหอบหืด เกิดจากการหดตัวของหลอดลมอย่างรุนแรงทำให้หลอดลมตีบ มีเสมหะที่เหนียวออกมามาก ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อหายใจออกเกิดอาการเหนื่อยเวลาหายใจ เมื่ออาการหอบเพิ่มขึ้นเวลาหายใจจะมีเสียงดังวี้ดๆ เมื่อเป็นมากขึ้นจะเหนื่อยจนไม่สามารถหายใจเข้าออกได้ จนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

          Fatal Asthma Attack เป็นอาการจับหืดขั้นรุนแรงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิด อาการหืดจับขั้นรุนแรงมาจากการใช้ยาไม่สม่ำเสมอหรือใช้ยาไม่ถูกต้อง อีกกรณีหนึ่ง คือ หลอดลมของผู้ป่วยมีความไวต่อตัวกระตุ้นอย่างรุนแรง

          เนื่องจากโรคหอบหืดเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบทำให้เจ็บคอง่ายกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนสูง

          โรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่องร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ร่างกายแข็งแรงเกิดภูมิต้านทานโรค ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด กินยาหรือพ่นยาตามแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดยยาพ่นจะมีสองแบบ คือพ่นเพื่อป้องกัน และพ่นเมื่อมีอาการ

ที่มา : นพ.องอาจ โกสินทรจิตต์

โรคหืด หรือหอบหืด (asthma) หมายถึงโรคที่มีการตีบแคบของหลอดลมเป็นพักๆ ซึ่งเกิดจากหลอดลมมีภาวะไวเกินต่อการกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ เมื่อมีการกระตุ้นจะทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง มีการบวมของเยื่อบุ และเสมหะถูกหลั่งออกมามากกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบ เพื่อเอาชนะความต้านทานในทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้น อาการดังกล่าวอาจทุเลาลงได้เอง หรือทุเลาภายหลังได้รับการรักษา

          โรคหืดพบได้ร้อยละ 5-10 ของประชากร ในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วพบว่าเด็กเป็นโรคหืดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลันมักต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอยู่เสมอๆ อัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดเท่ากับ 0.86 ต่อผู้ป่วย 100,000 คน ผู้ป่วยเด็กโรคหืด อัตราส่วนเด็กชายต่อเด็กหญิง เท่ากับ 2 :1 ผู้ป่วยสองในสามของทั้งหมดได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดก่อนอายุ 18 ปี ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหอบหืดเพิ่มมากขึ้น เพราะในเมืองมีมลภาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการกำเริบมี 2-3 อย่าง คือ เมื่อเป็นหวัดทำให้เกิดอาการหอบมากขึ้น หรือมีการสำลักน้ำ ก็จะเกิดการกระตุ้นให้ไอไม่หยุดบานปลายรุนแรงได้

          ในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วพบว่าเด็กเป็นโรคหืดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลันมักต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอยู่เสมอๆ คนที่เป็นโรคหอบหืดจะต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ ในกรณีของเด็กที่เป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้นก็สามารถหายได้เองอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดมากถึงร้อยละ 6 จากประชากรทั้งหมด

          ผู้ป่วยโรคหืดจะเกิดการตีบแคบของหลอดลมเป็นพักๆ ซึ่งเกิดจากหลอดลมมีภาวะไวเกินต่อการกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ เมื่อมีการกระตุ้นจะทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง มีการบวมของเยื่อบุ และเสมหะถูกหลั่งออกมามากกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบ เพื่อเอาชนะความต้านทานในทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้น อาการดังกล่าวอาจทุเลาลงได้เอง หรือทุเลาภายหลังได้รับการรักษา

สาเหตุของโรค

1.ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค
2.โรคหืดส่วนหนึ่งเกิดจากโรคภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ ได้แก่ ไรฝุ่นบ้าน ขนแมว ขนสุนัข แมลงสาบ และสปอร์เชื้อรา
3.ตัวไรฝุ่นที่แพร่พันธุ์ได้ดีในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น วงจรชีวิตของมันจะค่อนข้างสั้น คือ มีอายุอยู่ได้แค่ 6-7 เดือน แต่อุจจาระของมันสามารถอยู่แพร่เชื้อได้นานถึง 1-2 ปี หากไม่ทำความสะอาดเครื่องนอน จะยิ่งมีอาการแพ้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับอาหารของตัวไรฝุ่นเป็นสะเก็ดผิวหนัง ขี้รังแคของมนุษย์
4.ขี้แมลงสาบที่แห้งเกรอะกรังตามหลืบตามมุม เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่นเดียวกับขนและรังแคของสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น แมว สุนัข
5.เชื้อรามีทั้งในห้องที่เปียกชื้น และชั้นบรรยากาศทั่วไป
6.บางคนเกิดอาการเมื่อออกแรงหรือออกกำลังกาย สัมผัสกับอากาศที่เย็นจัด หรือเมื่อเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น
7.ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความรู้เรื่องโรคหืดได้เปลี่ยนไปพอสมควร ทั้งในแง่ระบาดวิทยา กลไกการเกิดโรค พยาธิสภาพที่พบ ทำให้แนวทางการรักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคนี้เปลี่ยนไปด้วย ในยุคหลังจีโนมิกส์ ความรู้เกี่ยวกับยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด (asthma genes) รุดหน้าไปมาก จนกระทั่งปัจจุบันพบความสัมพันธ์ของยีนที่เกี่ยวข้องหลายชนิดด้วยกัน และในอนาคตจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาโรคหืด

อาการของโรค

          อาการของโรคหืด คือ หอบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไอ หายใจมีเสียงวี๊ดหรือเสียงฮื้ด อาการมักเกิดเป็นพักๆโดยอาจเกิดอาการเมื่อออกกำลังหรือทำงานหนัก หรือเป็นเวลานอนกลางดึกจึงเป็นโรคที่ทรมาน ถ้าอาการมากจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากด้วย

          เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ประเมินความรุนแรงของโรค และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ขณะที่กำลังมีอาการหอบหืด แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโดยการฟังเสียงหายใจจากปอดได้เลย แต่ถ้าไปตรวจขณะไม่มีอาการอาจต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม

          โรคหืดก่อให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิต อาการของโรคจะรบกวนการนอน ทำให้สรรถภาพการทำงานถดถอย อาการแน่นหน้าอกอาจทำให้ผู้ป่วยตกใจ ด้วยเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจ สำหรับในเด็ก พบในเด็กวัยเรียนถึงร้อยละ 12 โรคหืดทำให้ขาดเรียนบ่อย ลดความสามารถในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ และอาจเกิดปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้ หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน

การวินิจฉัยโรค

          การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่ง การซักถามประวัติอาการโดยละเอียดการตรวจร่างกาย และการวัดสมรรถภาพของปอด ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการหอบจึงมีความจำเป็นมาก

          ในผู้ป่วยที่เมื่อมาพบแพทย์ครั้งแรก ยังมีอาการไม่ชัดเจน ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ ก็ควรติดตามดูอาการจนกว่าจะมั่นใจว่าใช่หรือไม่ใช่โรคหืด หรือโดยการให้วัดสมรรถภาพปอดที่บ้านด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย และสะดวกต่อการใช้ จะช่วยให้แพทย์เห็นการเปลี่ยนแปลงของสมรรถภาพปอดในแต่ละวัน และระหว่างวันได้อีกด้วย

          การวินิจฉัย และการรักษา แพทย์จะอาศัยการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอดซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของโรค ข้อมูลจากการทดสอบจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้เหมาะสม ในรายที่อาการ หรือการตรวจพบไม่ชัดเจน แพทย์จะทดสอบสมรรถภาพปอดก่อน และหลังการให้สารกระตุ้นหลอดลม โรคหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษา และควบคุมโรคให้ดีได้ คือ ควบคุมอาการให้สงบทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุข และมีสมรรถภาพปอดในระยะยาวให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

แนวทางการรักษาโรค

1.เป้าหมายของการรักษาก็คือ พยายามทำให้ผู้ป่วย อยู่ในช่วงดีนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติ หรือใกล้ปกติ
2.ในผู้ที่จับหืดบ่อย และไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติได้ เป้าหมายของการรักษาก็คือ การลดความรุนแรงของโรคลงด้วยการใช้ยาที่เหมาะสมอย่างเต็มที่ โดยทั่วไปการรักษาโรคหืด ในโรงพยาบาลจะกระทำเท่าที่จำเป็นหรือเมื่อมีอาการหนัก และมีสัญญาณอันตรายซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยหืดมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ เมื่อมีอาการดีพอที่จะให้กลับไปดูแลตนเองที่บ้าน
3.ผู้ป่วยและญาติควรจะได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัว เพื่อปฏิบัติตนในการป้องกันและขจัดอาการเบื้องต้น
ปัญหาที่พบบ่อยในการรักษาโรคหืดประการหนึ่ง คือ การวินิจฉัยโรคผิดพลาด มีทั้งกรณีที่วินิจฉัยโรคได้น้อยกว่าที่เป็นจริง (underdiagnosis) และกรณีที่วินิจฉัยโรคมากกว่าที่เป็นจริง (overdiagnosis) บางครั้งการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย ไอ หอบ หรือตรวจร่างกายได้ยินเสียงหวีดในทรวงอกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นโรคหืดไปเสียหมด และให้การรักษาด้วยยาขยายหลอดลม ทั้งที่ผู้ป่วยอาจเป็นโรคอื่นที่ต้องการการรักษาที่แตกต่างออกไป

          สำหรับผู้ป่วยที่มาบอกแพทย์ว่าตนเองเป็นหอบหืด หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืด ก็ควรได้รับการวิเคราะห์ใหม่ว่าเป็นหืดจริงหรือไม่ บางครั้งอาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม หรือทำการทดสอบความไวของหลอดลมเพิ่มเติม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่นิยมทำการทดสอบดังกล่าวกับผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน

4.การใช้ยารักษาจะเป็นไปอย่างมีขั้นตอน โดยมีขนาด และจำนวนยาที่ใช้มากน้อยตามความรุนแรงของโรค การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำเป็นการช่วยฝึกควบคุมการหายใจให้ดี พร้อมกับมีการออกกำลังกล้ามเนื้อด้วย ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และระมัดระวังอาหารบางอย่างที่กระตุ้นการจับหืด เช่น อาหารทะเล
5.ยาที่ใช้รักษาโรค มี 2 ประเภท คือ ยาควบคุม หรือยาป้องกัน ออกฤทธิ์ในการควบคุม และป้องกันไม่ให้เกิดอาการเฉียบพลัน โดยลด และควบคุมการอักเสบในหลอดลม ซึ่งมีผลในการลดความไวผิดปกติของทางเดินหายใจต่อสิ่งกกระตุ้นผู้ป่วยต้องใช้สม่ำเสมอ และในขนาดที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ยาบรรเทาอาการ ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม ช่วยบรรเทาอาการหอบ มีคุณสมบัติทำให้ลดการตีบตัวของหลอดลมในระหว่างที่มีการจับหืดเฉียบพลัน จึงควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น วิธีการใช้ยาที่ดีที่สุด คือ การสูดเข้าทางปาก ซึ่งต้องคอยฝึกหัด และตรวจสอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ
6.ยาขยายหลอดลม ใช้เพื่อขยายหลอดลม ลดอาการหอบเหนื่อย ได้แก่ ยา Ventolin, Bricanyl, Meptin ทั้งชนิดยาเม็ดรับประทานและยาพ่น รวมทั้งยาพ่น Berodual และ Combivent เป็นต้น
7.ยาต้านการอักเสบ ใช้ควบคุมโรคให้เข้าสู่ระยะสงบได้แก่ ยาพ่นที่มีส่วนประกอบของสเตอรอยด์ เช่น Pulmicort, Flixotide, Symbicort, Seretide และยารับประทาน ได้แก่ Singulair, Nuelin SR, Xanthium เป็นต้น

การเสียชีวิตจากโรคหอบหืด

          โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดเกิดจากอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น สปอร์ของเชื้อรา ฯลฯ ซึ่งความรุนแรงแต่ละรายไม่เหมือนกัน บางคนไวต่อสิ่งที่แพ้ก็จะทำให้เกิดอาการหอบหืดมาก ขณะที่บางคนมีอาการหอบหืดน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม อาการจับหืดขั้นรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ เรียกว่า fatal asthma attack อัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดเท่ากับ 0.86 ต่อผู้ป่วย 100,000 คน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโรคหืดเสียชีวิตประมาณปีละ 5,000 ราย มากกว่าร้อยละ 25 เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจับหืดขั้นรุนแรง

1.ใช้ยาไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นเพราะไม่รู้จักยาที่ใช้ดีพอ หรือไม่ทราบว่าควรใช้ยาในสถานการณ์ใด
2.ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า
3.โรคหอบหืดที่เกิดจากการแพ้สปอร์ของเชื้อราอัลเทอนาเรีย Alternaria
4.ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ทำให้ไม่สามารถวางแผนการรักษาในระยะยาวได้
5.ไม่ทราบว่าอาการหอบเหนื่อยที่เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน
6.หลอดลมของผู้ป่วยมีความไวต่อตัวกระตุ้นอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถทดสอบได้จากการตรวจความไวของหลอดลม
7.ผู้ป่วยที่มีประวัติการจับหืดที่รุนแรงมาก่อน เคยเข้ารับการรักษาฉุกเฉินบ่อยครั้ง
8.การที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่เข้าใจอาการและความรุนแรงของโรค

ความรุนแรงของโรคหอบหืด

โดยทั่วไป นิยมแบ่งขั้นความรุนแรงของโรคหอบหืด ดังนี้

ขั้นที่ 1 ความรุนแรงระดับอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง ไม่ค่อยมีอาการตอนกลางคืน หรือเดือนหนึ่งๆ จะหอบช่วงกลางคืนเพียงไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน เมื่อตรวจดูสมรรถภาพของปอดพบว่ายังเป็นปกติ
ขั้นที่ 2 ระดับรุนแรงน้อย โดยมีอาการหอบหืดมากกว่า 1 ครั้งในสัปดาห์ แต่ยังไม่ถี่ขนาดทุกวัน ในช่วงกลางคืนจะหอบมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน
ขั้นที่ 3 ระดับรุนแรงปานกลาง หอบทุกวัน การหอบตอนกลางคืนเฉลี่ยเกินกว่าสัปดาห์ละครั้ง และอาการที่เป็นจะกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
ขั้นที่ 4 ระดับรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีอาการหอบตลอดเวลา และเป็นบ่อยมากในตอนกลางคืน อาการแสดงจะรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

ตัวบ่งชี้ที่บ่งว่าหอบหืดคุมได้ดี

1.ผู้ป่วยมีอาการในช่วงกลางวันน้อยกว่า 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์
2.มีอาการในช่วงกลางคืนน้อยกว่า 1 ครั้งต่อ สัปดาห์
3.จำเป็นต้องใช้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่า 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
4.ไม่มีการขาดงานหรือขาดเรียนเนื่องจากหอบ
5.สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายได้ปกติ

การรักษาอาการจับหืดขั้นรุนแรง

1.อาการจับหืดขั้นรุนแรงถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่ ผู้ป่วยจะมีอาการหอบมาก หายใจลำบาก และก่อให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว
2.การรักษาที่ห้องฉุกเฉินโดยการประเมินความรุนแรง ให้ออกซิเจน ติดตามระดับออกซิเจนในเลือด พิจารณาเลือกใช้ยาขยายหลอดลมชนิดที่ออกฤทธิ์เร็ว
3.หากมีข้อบ่งชี้ อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ
4.ย้ายผู้ป่วยไปที่หออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU)
5.แก้ไขภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย เช่น ดุลกรด-ด่าง ดุลอิเล็กโตรลัยต์
6.ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top