โรคหวัดในเด็ก

สาเหตุ

          เกือบทั้งหมดมักเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัส ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายสายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุมีมากมาย กว่า 200 ชนิด กลุ่มที่สำคัญได้แก่ Rhinovirus พบได้ถึง 1/3 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ Corona virus, Adenovirus, Coxsackie virus เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียก็อาจเป็นสาเหตุเริ่มแต่แรกได้แต่พบได้น้อย ส่วนใหญ่การติดเชื้อแบคทีเรียของโรคหวัดมักเป็นการติดเชื้อซ้ำเติมภายหลังการติดเชื้อไวรัสพยาธิสภาพและการดำเนินโรค

          โรคนี้เป็นโรคที่หายได้เอง แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด ในเด็กเล็กอาการมักรุนแรงกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการจะแสดงให้เห็นตั้งแต่รับเชื้อเข้าไปประมาณ 1-2 วัน และจะแสดงอาการมากที่สุดภายใน 2 – 3 วัน แล้วจึงจะค่อยๆ ทุเลาลง ภายใน 5 – 7 วัน เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปทางจมูก หรือระบบทางเดินหายใจ จะทำให้เยื่อบุจมูกบวมแดง มีการหลั่งของเมือก ออกมาเป็นน้ำมูกใส แต่หากน้ำมูกระบายได้ไม่ดี มีการหมักหมมก็จะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ข้นขึ้น หรือถึงขั้นเป็นสีเขียวได้ ทำให้หายใจไม่ออก และหากไหลไปด้านหลังที่คอก็จะทำให้มีอาการไอ เจ็บคอได้ตามลำดับ

          ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ทำให้ร้องกวนงอแง และเบื่ออาหารตามมาได้ หากเชื้อติดในลำคอ จะทำให้เกิดคออักแสบแดง เจ็บคอ และมีเสมหะในลำคอ อาจมีโรคแทรกซ้อนถ้าเชื้อเข้าไปยังโพรงไซนัสรอบจมูก หูชั้นกลาง ต่อมน้ำเหลือง หลอดลมหรือปอด และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เด็กอาจจะมีไข้สูงขึ้น น้ำมูกอาจจะเปลี่ยนจากใสเป็นข้นเขียวหรือเหลืองตามมาได้

          อาการน้ำมูกไหล (running nose) จาม (sneezing) โพรงจมูกตีบหรือตัน (nasal obstruction) เจ็บคอ (sore throat) ไอ (cough) ปวดศีรษะ (headache) มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว (malaise)

ระยะติดต่อไปยังผู้อื่นตั้งแต่ 8 – 12 ชม. ก่อนปรากฏอาการ และตลอดระยะเวลาระหว่างมีอาการโดยเฉพาะช่วงมีไข้

          การติดต่อ

  • ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยจากการไอ จาม รดกัน
  • สัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ ภาชนะต่างๆ ของผู้ป่วยหรือดื่มน้ำรับประทานอาหารในภาชนะเดียวกัน
  • ที่ทำให้ สัมผัสทางอ้อมกับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เข้าทางจมูกหรือปาก

ผลแทรกซ้อนหรือปัญหาที่เกิดตามมาของไข้หวัด

  • การอักเสบของหูชั้นกลาง
  • การอักเสบของไซนัสที่รอบจมูก เยื่อบุตาอักเสบ
  • หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ปอดอักเสบ
  • กระตุ้นหลอดลมหดเกร็งตัวทำให้ไอมาก หรือหายในลำบาก
  • ชักจากไข้สูง
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ / สมองอักเสบ

การดูแลเบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นการดูแลรักษาตามอาการ ได้แก่

  • เช็ดตัวลดไข้หากมีไข้ รักษาความอบอุ่นของร่างกายให้พอดีให้ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้เสมหะไม่เหนียวจากการที่ผู้
  • ป่วยจะมีแนวโน้มขาดน้ำจากการมีไข้ และรับประทานได้น้อย
  • ดูแลเสมหะที่จมูกและคอ ในเด็กเล็กถ้ามีน้ำมูกเหนียว หรือแห้งให้หยอดจมูกด้วยน้ำเกลือ 5 – 10หยด แล้วใช้ลูกยางดูดออก หรือล้างจมูกแล้วสั่งออกอย่างถูกวิธี
  • ผู้ป่วยควรเลี่ยงควันและไอเย็นจัด เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้ไอและหลอดลมหดตัวขึ้นได้
  • รับประทานอาหารให้ครบหมู่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

ยาที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง

หากจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาผู้มีความรู้ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร เป็นต้น โดยเฉพาะในแง่ข้อบ่งชี้ที่ใช้ สรรพคุณ ปริมาณที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวัง

ยาที่มักมีบทบาทเกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มยาลดไข้หากมีไข้ ยากลุ่มแก้ไอ หรือละลายเสมหะ หรือขยายหลอดลม

ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ซึ่งอาจอยู่ในรูปรับประทานหรือหยอดจมูก หากไม่มีข้อห้าม ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกหากมีน้ำมูกไหลมาก ช่วยทำให้หายใจได้สบายขึ้น แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากทำให้เสมหะเหนียวแห้งขึ้น ดังนั้นในรายที่มีอาการไอควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้เนื่องจากจะทำให้เสมหะเหนียวขึ้น และระบายเสมหะจากหลอดลมได้ยากขึ้น ส่วนยาต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะ จะให้เมื่อสงสัยมีการติดเชื้อแบคทีเรีย

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ถ้า

– มีอาการหายใจลำบาก, หายใจแรง, หอบ
– มีไข้นานกว่า 3 วัน หรือมีไข้สูงมาก
– เด็กดูซึมลงมาก ทานไม่ได้ ไม่เล่นเหมือนเดิม
– สงสัยมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

Scroll to Top