โรคหมาแท้ง

โรคแท้งติดต่อในสุนัข (Brucellosis) เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยมีโอกาสติดต่อโรคได้ในกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ โดยติดต่อจากการกิน การผสมพันธุ์ และ การสัมผัสสารคัดหลั่ง โดยโรคนี้มีการตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2509 ส่วนในประเทศไทยมีการตรวจพบและยืนยันเชื้อครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 และพบการระบาดของโรคนี้ในประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก

สาเหตุ

  • โรคนี้เกิดจากเชื้อบรูเซลลา เคนนิส (Brucella canis) โดยปัจจุบันกลุ่มสายพันธุ์สุนัขที่สามารถตรวจพบเชื้อบรูเซลลา เคนนิส จากการเพาะเชื้อมีอยู่ 8 สายพันธุ์ คือ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์, บัสเซ็ท ฮาวด์, เซนต์ เบอร์นาร์ด, ดัลเมเชี่ยน, โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ชิตสึ, พุดเดิ้ล และ พิตบูล
  • การติดต่อของโรคในสัตว์เกิดจากการกินหรือเลียสารคัดหลั่งจากช่องคลอด กินเนื้อเยื่อของลูกที่แท้ง กินหรือเลียรกหรือน้ำคร่ำที่ออกมาจากการแท้ง กินน้ำนมของสุนัขที่ติดเชื้อ กินหรือเลียน้ำอสุจิของสุนัขเพศผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในน้ำปัสสาวะของสุนัขเพศผู้จะมีปริมาณเชื้อชนิดนี้สูงมาก นอกจากนี้ยังพบเชื้อได้ในน้ำลายและในโพรงจมูกของสุนัขที่ติดเชื้อ รวมทั้งมีการติดโรคจากการผสมพันธุ์ด้วย

กลุ่มแบคทีเรียบรูเซลลา มีหลายสายพันธุ์ ที่พบมาก ได้แก่ บรูเซลลา อะบอตัส (Brucella abortus) ซึ่งพบมากในวัว บรูเซลลา ซูอิส (Brucella suis) พบในสุกร และ บรูเซลลา เมลิเทนซิส (Brucella melitensis) พบในแพะและแกะ ส่วนบรูเซลลา แคนนิส (Brucella canis) เป็นสายพันธุ์ที่พบในสุนัข

การติดต่อ

          โรคนี้มีรายงานว่า สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับแบคทีเรียชนิดนี้ในห้องปฎิบัติการ ผู้ที่คลุกคลีกับสุนัข โดยการติดเชื้อในคนจะมีอาการไม่แน่นอน เช่น อาจมีไข้ขึ้นๆลงๆโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการตัวสั่น ปวดศีรษะ ซึ่งโรคนี้ถ้าติดมาสู่คนสามารถรักษาได้ด้วยยาปฎิชีวนะ แต่ในสุนัขไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้
          ที่สำคัญในประเทศไทยยังไม่มีวิธีการตรวจค้นหาโรคนี้ในคน จึงยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยด้วยโรคแท้งติดต่อที่ติดเชื้อจากโรคแท้งติดต่อในสุนัข
          ส่วนในสุนัข การควบคุมปริมาณโรคแท้งติดต่อยังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ในการป้องกัน วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ พยายามอย่าให้สุนัขไปคลุกคลีกับสุนัขอื่นที่ไม่ทราบประวัติ การสั่งซื้อหรือนำเข้าสุนัขจากต่างประเทศควรขอใบตรวจโรคยืนยันว่าปลอดภัยจากโรคนี้

ลักษณะของเชื้อบรูเซลลา

          เชื้อบรูเซลลาเป็นแบคทีเรียชนิด gram-negative coccobacilli (short rods) มีขนาด 0.6-1.5 x 0.5-0.7 µm ตัวเชื้อไม่สร้างสปอร์ ไม่มีเปลือกหุ้ม ไม่มีหางแฟลกเจลลา และไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เยื่อหุ้มเซลล์ส่วนนอกของเชื้อบรูเซลลามีลักษณะคล้ายเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบอื่นๆ ส่วนประกอบหลักเป็น lipopolysaccharide (LPS) และโปรตีนสำคัญ 3 ชนิด สารพันธุกรรมภายในนิวเคลียสเป็นชนิด guanine-plus-cytosine บรรจุในอัตรา 55-58 moles/cm เชื้อบรูเซลลาไม่มี plasmid ในตัวของมันเองโดยธรรมชาติ กระบวนการเมตาบอลิสซึมเป็นแบบใช้ออกซิเจน โดยเชื้อทำปฏิกิริยากับคาร์โบไฮเดรตในจานเพาะเลี้ยงน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิด aerobes แต่พบว่าบางสปีชีส์ต้องการการเติมคาร์บอนไดออกไซด์ 5-10% การแบ่งตัวเกิดขึ้นได้ดีที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และจะเจริญเติบโตได้ดีใน enriched mediumสามารถมองเห็นลักษณะโคโลนีของเชื้อบรูเซลลาได้ในวันที่ 2-3 โดยมีขนาดเล็ก กลม และโค้งนูน โคโลนีหลอละลายได้ง่ายเนื่องจากไม่มี O chains ของไลโปโพลิแซคคาไรด์ ซึ่งในธรรมชาติพบเช่นนี้ได้ในกรณีของ B canis และ B ovis

สถานการณ์ของโรคแท้งติดต่อในสุนัขของประเทศไทย

          คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องความชุกของโรคแท้งติดต่อในสุนัขในประเทศไทย โดยได้ทำการสำรวจโรคแท้งติดต่อสุนัขในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดในภาคกลาง จากตัวอย่างสุนัขที่เข้ารับการตรวจโรคแท้งติดต่อในโรงพยาบาลสัตว์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กำแพงแสน และหนองโพ จำนวน 339 ตัว
          โดยใช้การตรวจด้วยวิธีทางซีรัมวิทยา และวิธี STAT (Standard Tube Agglutination) และโดยวิธีแยกเพาะเชื้อบรูเซลลา เคนนิส จากเลือด โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างสุนัขออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นสุนัขที่มีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จำนวน 201 ตัว พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่ให้ผลบวกหมายความว่ามีการติดเชื้อจากการตรวจทางซีรัมวิทยาร้อยละ 40 จากการเพาะเชื้อร้อยละ 11 และกลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จำนวน 138 ตัว ให้ผลบวกทางซีรัมวิทยาร้อยละ 2.2 และจากการเพาะเชื้อร้อยละ 1.4 สำหรับสถานการณ์ของโรคแท้งติดต่อในสุนัขของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระดับของการระบาด ซึ่งขณะนี้คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังศึกษาวิธีการรักษาโรค รวมทั้งมีโครงการที่จะศึกษาวิจัยพัฒนาวิธีการตรวจโรคโดยวิธีแบบปฏิกิริยาลูกโซ่พีซีอาร์ ซึ่งให้ความแม่นยำสูง เพื่อค้นหาโรคนี้ในคนด้วย

อาการในสัตว์

  • เมื่อสุนัขติดโรคแท้งติดต่อ จะทำให้เกิดปัญหาการผสมไม่ติด แท้งลูก
  • อัณฑะหรือหนังหุ้มอัณฑะและท่อนำอสุจิอักเสบ
  • พบการบวมขยายใหญ่ของต่อมน้ำเหลือง ม้ามโต ตับอักเสบ ลูกตาและม่านตาอักเสบ
  • อาจพบการอักเสบของข้อต่างๆ

อาการในคน

  • ถ้าคนได้รับเชื้อแบคทีเรียบรูเซลลา อะบอตัส จากวัว อาจทำให้เกิดอาการอัณฑะโตในผู้ชาย หรือถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์หากได้รับเชื้อนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูงมาก
  • ขณะที่ถ้าติดเชื้อบรูเซลลา เมลิเทนซิส จากแพะหรือแกะ จะมีอาการไข้ขึ้นๆลงๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายที่เชื้อเข้าสู่ระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการซึม

การวินิจฉัย

  • สามารถให้การวินิจฉัยได้โดยการตรวจพบเชื้อบรูเซลลาในเลือด หรือไขกระดูก
  • ตรวจแอนติบอดีในซีรัม โดยทำการเจาะเลือด 2 ครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์

การรักษา

  • พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ doxycycline ร่วมกับ rifampin นาน 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  • โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นในเวลา 2-3 สัปดาห์ ขึ้นกับระยะเวลาที่เริ่มให้การรักษา และความรุนแรงของโรค
  • อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 2 และมักเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะลิ้นหัวใจอักเสบ

การป้องกัน

  • กลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข ถ้าไม่จำเป็นอย่านำเนื้อดิบ หรือ เครื่องในสัตว์ดิบๆมาให้สุนัขกิน ควรทำให้สุกก่อน
  • ไม่เปิบรกวัว ซึ่งในขณะนี้นิยมกันมากทั้งในภาคกลางและภาคอีสาน มักขายในราคาที่แพง
  • ไม่กินนมแพะดิบๆ เชื้อบรูเซลลาชนิดที่พบในวัวและแพะหรือแกะ มีโอกาสติดสู่คนมากที่สุด และมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด
  • การนำรกแกะมาใช้เป็นเครื่องสำอาง ให้ระวังอาจติดเชื้อชนิดนี้ได้ หากวัว แพะ หรือ แกะนั้น ป่วยด้วยโรคบรูเซลโลซิส
  • ผู้ที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์อาจติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆของสัตว์ได้
  • การกินนมแพะหรือนมวัว ควรกินนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ หรือสเตอร์ริไรซ์ก่อนจะปลอดภัยกว่า
  • ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับมนุษย์

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top