โรคมะเร็งของลูกอัณฑะ (testicular cancer)

โรคมะเร็งของลูกอัณฑะ (testicular cancer) พบได้น้อยโดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยอายุไม่มาก แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 15-35 ปี จะพบว่าโรคมะเร็งอัณฑะเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับผู้ชายช่วงอายุนี้ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยโรคมะเร็งอัณฑะร้อยละ 1 ของผู้ป่วยชายที่เป็นโรคมะเร็งทั้งหมด แต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 7,400 ราย พบได้บ่อยในผู้ชายผิวขาว ระยะหลังพบผู้ป่วยโรคมะเร็งอัณฑะมากขึ้น โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

สาเหตุ

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
  • ประวัติการมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งอัณฑะ
  • ประวัติการเป็นมะเร็งที่อัณฑะข้างหนึ่ง จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะตรวจพบมะเร็งที่ลูกอัณฑะอีกข้าง
  • ภาวะที่ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนลงสู่ถุงอัณฑะ เรียกว่าundescended testicle (cryptorchidism)
  • เกี่ยวข้องกับยาฆ่าแมลง พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งอัณฑะตรวจพบระดับ DDE สูงกว่าปกติ โดย DDEเป็นสารที่เปลี่ยนแปลงมาจาก DDT ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาได้สั่งระงับการใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 ผลการศึกษาพบว่าโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
  • รายงานผลการวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าพนักงานดับเพลิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งอัณฑะสูงกว่าคนธรรมดาหนึ่งเท่าตัว จากการคลุกคลีกับสารเบนซิน โคโรฟอร์ม และเขม่า และยังมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เสี่ยงกับการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและเนื้องอกไขกระดูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้ประกอบอาชีพอื่นและพลเมืองทั่วไป

อาการ

  • อาการแสดงของมะเร็งลูกอัณฑะ นอกจากจะ
  • คลำก้อนหรือมีอาการบวมของลูกอัณฑะแล้ว ยังอาจจะมีอาการปวดและกดเจ็บ และคนไข้จะรู้สึกตึงหนักๆ บริเวณลูกอัณฑะ
  • การคลำพบก้อนผิดปกติด้วยตนเองซึ่งอาจจะยังไม่มีอาการเจ็บปวด ทำให้ผู้นั้นอาจมองข้ามไปก็ได้ หากผิดปกติควรต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยืนยันและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
  • สิ่งที่จะช่วยในการตรวจพบได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติ คือการตรวจลูกอัณฑะด้วยตนเอง

การวินิจฉัย

  • การตรวจพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ภายหลังจากคลำก้อนที่ลูกอัณฑะได้ คือการผ่าตัดเล็กเอาชิ้นเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • มะเร็งลูกอัณฑะส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยก้อนที่ไม่เจ็บ ตรวจพบได้จากการคลำลูกอัณฑะด้วยตนเอง บางครั้งอาจรู้สึกเจ็บที่ลูกอัณฑะ ในรายที่โรคเป็นมากแล้ว อาจจะมีอาการไอ ปวดท้อง และน้ำหนักลด
  • การตรวจอัลตราซาวน์มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรค ส่วนการตรวจเลือดเพื่อหาสารมะเร็ง พิจารณาส่งตรวจ alpha fetoprotein (AFP) และ beta HCG
  • การตรวจภาพรังสีทรวงอกและภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยในการแบ่งระยะของโรค และดูว่ามะเร็งมีการกระจายไปที่ใดหรือไม่ การตรวจคลำความผิดปกติที่ลูกอัณฑะให้เป็นประจำ จะสามารถบอกความผิดปกติได้ทันที เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

การรักษา

          ถ้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นมะเร็งลูกอัณฑะ แพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาตัดลูกอัณฑะข้างนั้นออกไป และบางรายอาจต้องการ การฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การผ่าตัดเรียกว่า radical inguinal orchiectomy โดยผ่าตัดเอาลูกอัณฑะและ spermatic cord ออกไปแผลผ่าตัดที่ขาหนีบ อาจดมยาสลบหรือให้ยาเฉพาะที่ การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในกรณีที่ตรวจพบว่ามะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ต้องทำการผ่าตัด retroperitoneal lymph nodedissection เพิ่มเติมการฉายแสง อาจพิจารณาใช้ลำแสงจากภายนอกร่างกาย โดยฉายแสงภายหลังการผ่าตัด ปริมาณของรังสีที่ใช้จะน้อยเมื่อเทียบกับการฉายแสงรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ท้องเสีย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และระคายผิวหนัง เคมีบำบัด นิยมใช้ตามหลังการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ ยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งอัณฑะ ได้แก่ Cisplatin (Platinol®),Vinblastine (Velban®), Bleomycin (Blenoxane®), Cyclophosphamide (Neosar®), Etoposide(Etopophos®), Ifosfamide (Ifex®)

การป้องกัน

          ผู้ชายทุกคนควรคลำความผิดปกติที่ลูกอัณฑะให้เป็นประจำ จะสามารถบอกความผิดปกติได้ทันที เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

การตรวจลูกอัณฑะด้วยตนเอง

          ผู้ชายทุกคนควรตรวจลูกอัณฑะด้วยตนเอง โดยการคลำเพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะ ซึ่งถือเป็นการตรวจร่างกายด้วยตนเองอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้น เวลาที่เหมาะสมในการตรวจคือ เวลาหลังอาบน้ำ เพราะผิวหนังบริเวณลูกอัณฑะจะหย่อนและคลำได้ง่าย ตรวจลูกอัณฑะทีละข้าง โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ค่อยๆ คลำเลื่อนไปเรื่อยๆ คลำดูว่ามีก้อนหรือการอักเสบเกิดขึ้นหรือไม่ บริเวณด้านหลังของลูกอัณฑะจะคลำได้ส่วนหยุ่นๆ ขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นปกติ ถ้าคลำได้ก้อนหรือส่วนใดผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ความผิดปกตินั้นอาจเป็นถุงน้ำหรือเส้นเลือดขอดบริเวณลูกอัณฑะซึ่งพบได้บ่อยกว่าเนื้องอกหรือมะเร็งลูกอัณฑะ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top