โรคผิวหนังอักเสบ eczema

โรคผื่นผิวหนังอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Eczema หรือ Dermatitis จัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง และมีชื่อเรียกได้ต่างๆ กันไป

กลไกการเกิดโรค

          พบว่าเกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้นที่ผิวหนังตำแหน่งต่างๆ เช่น ใบหน้า แขนขา ลำตัว มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี ปฏิกิริยาอักเสบที่เกิดขึ้นในคนหนึ่งอาจแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ได้

สาเหตุ

  • การอักเสบของผิวหนังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย สารหลายชนิดเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ในบางรายอาจตรวจไม่พบสารที่เป็นสาเหตุ เมื่อเกิดการอักเสบจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของโรค เช่น เป็นชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง
  • โดยทั่วไปสามารถแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคออกเป็นสองประเภท สาเหตุจากภายนอกร่างกาย และสาเหตุจากภายในร่างกาย
  • สาเหตุจากภายนอกร่างกาย เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนมากเป็นสารที่พบเห็นหรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น บางครั้งจึงอาจเรียกว่าผื่นระคายสัมผัส
  • โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กๆ และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิไวเกินของร่างกาย

การวินิจฉัยโรคผื่นระคายสัมผัส

          ผื่นระคายสัมผัสเกิดจากสาเหตุจากภายนอกร่างกาย โดยส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนมากเป็นสารที่พบเห็นหรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น ผื่นชนิดนี้พบได้บ่อยมากและมักจะตรวจหาสาเหตุได้โดยการวินิจฉัยสาเหตุอาศัยการทดสอบภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Patch test เป็นการทดสอบที่ง่ายไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด

ผื่นสัมผัสนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะสารที่เป็นสาเหตุอาจมาจากการประกอบอาชีพ เช่นโลหะ,ผลิตภัณฑ์ยาง, กาว หรืออาจแพ้เครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม, สารกันบูด, น้ำยาย้อมหรือดัดผม สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสารที่สัมผัสง่าย ผู้ที่แพ้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด มิฉะนั้นการรักษาจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ผื่นแพ้จากนิกเกิล

          ผื่นแพ้จากนิกเกิลเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องใช้นั้น เช่น ที่ติ่งหู คอ ข้อมือ ผื่นแดงเป็นสะเก็ดที่หนังตาบน เนื่องจากสารติดมือไปถูกหนังตา อาจเป็นผื่นลามไปทั่วตัว หรือเป็นเป็นที่เฉพาะที่มือ

ผื่นแพ้ที่พบได้บ่อย

  • ผื่นแพ้ยาย้อมผมจะคันและเป็นผื่นแดงบริเวณหนังตา หลังหู ต้นคอ และตีนผม รายที่แพ้มากจะ
    หน้าบวม ตาบวมปิด อาจลามลงมาที่ไหล่และแขน
  • ในรายที่แพ้เสื้อ จะมีผื่นบริเวณคอ ชายแขนเสื้อ ใต้รักแร้ หลัง ถ้าแพ้กางเกง จะพบผื่นรอบเอว ต้น
    ขา ขาพับ และน่อง ถ้าแพ้รองเท้า จะมีผื่นบนหลังเท้าทั้งสองข้าง ตรงกับบริเวณที่ผิวสัมผัสกับ
    รองเท้า
  • แพ้ปูนซีเมนต์ จะแพ้ผื่นบริเวณหลังมือลามขึ้นมาตามแขน ขา เท้า ลำตัว ผื่นมักแห้งแตกเป็นร่อง
  • แพ้ยาทาภายนอก จะเกิดผื่นบริเวณที่ทายา และเมื่อรับประทานยาที่แพ้ก็จะเกิดผื่นคันได้ด้วย

การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

          เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โรคในกลุ่มนี้เรียกชื่อแตกต่างกันไปแบ่งตามลักษณะผื่นและบริเวณที่เป็น

ลักษณะของที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

          ระยะเฉียบพลัน ปรากฏเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำ มักจะบวมแดงและมีน้ำเหลืองร่วมด้วย

          ระยะปานกลาง สังเกตได้ว่าอาการบวมแดงลดน้อยลงและเริ่มมีสะเก็ดหรือขุยเกิดขึ้นให้เห็น
          ระยะเรื้อรัง จะมีลักษณะเป็นผื่นหนา แข็ง และมีลายเส้นของผิวหนังชัดเจนขึ้น ทั้งสามชนิดจะทำให้มีอาการคันมาก ซึ่งถ้าเกาก็จะเกิดผิวหนังอักเสบมากขึ้น และเวลาหายอาจมีรอยด่างดำเกิดขี้นได้

          ลักษณะผื่นจะเป็นเม็ดใส หรือเม็ดหนอง เล็ก ๆ ต่อมาเม็ดน้ำนี้ก็จะแตกกลายเป็นผื่นสีแดง หรือน้ำเหลืองเยิ้มออกมา พอน้ำเหลืองแห้งก็จะกลายเป็นสะเก็ด ในฤดูหนาวอาจจะเกิดการแตกถึงกับเลือดออกได้ ผื่นดังกล่าวนี้มักจะเริ่มที่ปลายนิ้วมือก่อนแล้วค่อยๆ ลามขึ้นมาจากนิ้วข้อที่หนึ่งมาข้อที่สองบางรายอาจจะมีผื่นขึ้นที่นิ้วเท้าด้วย

การทดสอบภูมิแพ้สำหรับผื่นผิวหนังอักเสบ ที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย ใช้วิธีที่เรียกว่าPrick test และเมื่อทราบว่าแพ้สารใดบ้างก็ช่วยในการรักษา โดยวิธีอิมมูนบำบัด กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อสารที่แพ้

แนวทางการรักษาโรค

  • แนวทางการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบในระยะเฉียบพลัน ให้ประคบด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยา Burrow 1:40 หรือน้ำยากรดบอริก 3% วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อผื่นแห้งดีแล้วต้องหยุดประคบ มิฉะนั้นจะแห้งเกินไป ทำให้ตึงและแตก
  • ในระยะปานกลาง พิจารณาใช้ยาทาสตีรอยด์ ตามลักษณะและตำแหน่งผื่นที่เป็น
  • ส่วนในระยะเรื้อรัง ใช้ยาทาสตีรอยด์ผสม Salicylic acid ช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น
  • สำหรับอาการคัน ให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน เช่น อินซิดาล (incidal) หรือ อะตาแรกซ์ (atarax) ควรระวังฤทธิ์ง่วงนอนที่เกิดจากการใช้ยาในกลุ่มนี้ หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและของมีคม

คำแนะนำบางประการสำหรับผู้ป่วย

  • ป้องกันมิให้มือสัมผัสกับสิ่งระรายเคือง หรือสงสัยว่าจะแพ้ เช่น สบู่ ผงซักฟอก
  • งดสระผมด้วยตัวเอง หรือสวมถุงมือ ไม่ทายานวดผม ย้อมผม
  • หลีกเลี่ยงการฟอกมือหรือการล้างมือบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการปลอกหรือบีบเปลือกผลไม้
  • ไม่ใส่แหวนขณะทำงาน
  • ควรใช้สบู่อ่อนในการล้างมือ
  • เมื่อหายแล้วควรหยุดงานเสียระยะหนึ่งก่อนศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
    ผู้ประพันธ์
Scroll to Top