โรคต้อหิน

ต้อหิน (glaucoma) เป็นโรคตาซึ่งคนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ พอทราบก็มักจะใกล้บอดแล้ว ที่อันตรายที่สุดคือ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตาจะบอดในที่สุด ไม่ช้าก็เร็ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคลต้อหินเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคต้อ ตามที่คนเรียกกันโดยทั่วๆ ไป ที่พบบ่อยๆ มีต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อหิน แต่ต้อหินเป็นต้อเพียงชนิดที่ไม่มีตัวต้อให้เห็น เพราะต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งเมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา เมื่อเป็นมากๆ ก็สูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียชนิดถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้

อุบัติการณ์และความชุกของโรค

          ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ร้อยละ 2 ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี ตรวจพบว่าความดันในลูกตาสูง และร้อยละ 8 ของประชากรที่มีอายุเกิน 70 ปี ตรวจพบว่ามีภาวะความดันลูกตาสูง ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยตาบอดจากต้อหินปีละ 120,000 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9-12 ของทั้งหมด ถือว่าเป็นโรคที่ทำให้ตาบอดมากเป็นอันดับสอง ต้อหินชนิดมุมปิด พบมากในคนเอเชียและชาวเอสกิโม พบบ่อยในผู้หญิง คนชรา ผู้ที่สายตาสั้น และมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ส่วนต้อหินชนิดความดันลูกตาปกติ พบได้บ่อยในคนญี่ปุ่น มักมีประวัติโรคหัวใจร่วมด้วย และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน

image 41

สาเหตุ

          ต้อหินเกิดจากการทำลายขั้วประสาทตา อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรืออาจพบร่วมกับโรคทางตาอื่นๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆ ในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่นๆ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในตัวบุคคลนั้นๆ ที่ทำให้เกิดการเสื่อมของขั้วประสาทตา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือ ความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากความเสื่อมข้างในลูกตา หรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ จากอุบัติเหตุ หรือจากการผ่าตัด น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาโดยปกติลูกตาจะมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงภายใน ซึ่งสร้างจากบริเวณด้านหลังของม่านตา แล้วไหลออกมาทางช่องด้านหน้า ก่อนที่จะระบายออกไปทางท่อระบายบริเวณมุมตา ในภาวะปกติปริมาณของน้ำหล่อเลี้ยงที่สร้างขึ้นจะสมดุลกับปริมาณที่ไหลออกจากลูกตา ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำภายในลูกตา ความดันภายในก็ปกติ แต่ถ้าหากมีการอุดตันบริเวณที่ท่อระบาย จะทำให้ความดันตาเพิ่มสูงขึ้นได้

ชนิดของโรคต้อหิน

1.ต้อหินชนิดมุมปิด พบได้ร้อยละ 10 ของทั้งหมด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างลูกตา ทำให้เกิดการอุดกั้นของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา กรณีที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เมื่อมองไปที่ดวงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟ อาการอาจรุนแรงมากจนเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และมักไม่หายด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าไม่รักษาตาจะบอดอย่างรวดเร็วภายในเวลาเป็นวันๆ ส่วนชนิดเรื้อรังผู้ป่วยมักไม่ทราบและไม่มีอาการ บางคนอาจมีอาการปวดเล็กน้อยเป็นครั้งคราว เป็นๆ หายๆ อยู่หลายปี และได้รับการรักษาแบบโรคปวดศีรษะโดยไม่ทราบว่าเป็นต้อหิน

2.ต้อหินชนิดมุมเปิด พบได้ร้อยละ 60-70 ของทั้งหมด เกิดจากเนื้อเยื่อส่วนที่ทำหน้าที่กรองน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาผิดปกติ ทำให้ความดันตาเพิ่มสูงขึ้น และทำลายขั้วประสาทตาในที่สุด แบ่งเป็นชนิดความดันตาสูง และชนิดความดันตาปกติ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง สังเกตพบว่าสายตาค่อยๆ มัวลง อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเป็นเดือนหรือเป็นปี หากไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาทันท่วงทีจะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วก็มักจะรักษาสายตาไว้ได้

3.ต้อหินชนิดแทรกซ้อน เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่นการอักเสบ ต้อกระจกที่สุกมาก อุบัติเหตุต่อดวงตา เนื่องจากการใช้ยาหยอดตาบางชนิด และภายหลังการผ่าตัดตา เช่นเปลี่ยนกระจกตา หรือการผ่าตัดต้อกระจก

4.ต้อหินในทารกและเด็กเล็ก พบเกิดร่วมกับความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดของดวงตา อาจมีความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อย (autosomal recessive) หากทั้งพ่อ และแม่เป็นพาหะ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 25 ต้อหินในเด็กทารกมักพบตั้งแต่แรกเกิด แม่อาจสังเกตว่าลูกมีขนาดลูกตาใหญ่กว่าเด็กปกติ กลัวแสง กระจกตาหรือส่วนของตาดำจะไม่ใสจนถึงขุ่นขาว และมีน้ำตาไหลมาก หากพบต้องรีบพาเด็กเข้ารับการรักษา

5.ต้อหินชนิดเม็ดสี เป็นต้อหินชนิดมุมเปิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ พบในคนสายตาสั้นอายุ 20-30 ปี การที่สายตาสั้นทำให้ม่านตาเกิดเป็นส่วนโค้ง เนื้อเยื่อชั้นสร้างเม็ดสีกระทบกับเลนส์ ทำให้เม็ดสีอุดตัน การไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาติดขัด และความดันตาเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน

1.อายุ คนที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนที่มีอายุน้อย ต้อหิน บางชนิดเกิดในเด็กแรกเกิด หรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ ต้อหินชนิดมุมเปิดพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
2.ความดันในลูกตา คนที่มีความดันในลูกตาสูงจะมีโอกาสเกิดโรคต้อหินได้มาก
3.ประวัติครอบครัว หากมีสมาชิกภายในครอบครัว หรือบรรพบุรุษเป็นต้อหิน ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้น และควรได้รับการตรวจเป็นระยะๆ
4.สายตาสั้นมากหรือยาวมาก พบว่าคนที่มีสายตาสั้นมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนปกติ และในคนที่สายตายาวมากๆ โดยมีขนาดของลูกตาเล็กกว่าปกติ ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมปิด
5.โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และความผิดปกติทางเลือดและเส้นเลือด ปัจจุบันมีหลักฐานชี้บ่งว่าความเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติอาจสัมพันธ์กับโรคต้อหิน โรคของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัส ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงขั้วประสาทตา และทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้
6.ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานน
7.การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน และโรคตาบางชนิด

อาการ

          โรคต้อหินส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่มีอาการ การดำเนินของโรคจากเริ่มเป็น จนถึงการสูญเสียการมองเห็น ใช้เวลานานเป็นปีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อหินที่เกิดจากความเสื่อม ซึ่งไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น ซึ่งใช้เวลา 5 – 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้ายๆ ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นภายในเวลาเป็นเดือน ก็จะตาบอดได้

ส่วนต้อหินชนิดมุมปิดที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

1.อาการปวดตา
2.เมื่อมองไปที่ดวงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟ
3.ตาแดงทันทีทันใด
4.ปวดมากจนคลื่นไส้อาเจียนต้องมาโรงพยาบาล
5.ปวดศีรษะมากในตอนเช้า
6.ความดันตาเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด
7.กระจกตาบวมหรือขุ่น
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเริ่มเป็นต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มต้อหินที่เป็นระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยเป็นค่อยไป

ลักษณะการสูญเสียสายตาของต้อหิน

          การมองในทางตรงจะยังมองเห็นอยู่โดยที่การมองเห็นนั้นจะค่อยๆ แคบเข้า ที่เรียกว่า ลานสายตาผิดปกติ โดยปกติคนเรามองตรงไปข้างจะมองเห็นด้านข้างก็จะพอมองเห็นถึงแม้จะไม่ชัดเหมือนจุดที่เรามองตรง แต่ในกลุ่มคนที่เป็นต้อหินนั้น การมองเห็นด้านข้างจะค่อยๆ แคบเข้าๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบ และจะบอกไม่ได้เพราะจะใช้สองตาช่วยดูกันอยู่เพราะไม่ได้เปิดตาเดินทีละข้าง และทดสอบตัวเองเป็นประจำ และยังทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติจนกระทั่งการสูญเสียลานสายตานั้นเข้ามาถึงบริเวณตรงกลางแล้ว ทำให้ภาพที่เรามองนั้นไม่ชัดจึงมาพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นระยะท้ายๆ แล้ว

ต้อหินทำให้คนตาบอดได้อย่างไร

          ในกรณีที่เป็นต้อหิน จะโดยรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ความดันภายในลูกตา และปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงขั้วประสาทตา เซลล์ประสาทตาจะเกิดการตายลงทีละน้อยทีละน้อย ความกว้างของการมองเห็นจะค่อยๆลดลงโดยที่คนไข้มักไม่รู้ตัว เนื่องจากบริเวณส่วนกลางหรือจุดกึ่งกลางของการมองเห็นยังเป็นปกติดีอยู่ แต่ที่เริ่มเสียไป คือการมองเห็นบริเวณรอบๆนอก ซึ่งจะค่อยๆ คืบคลาน ลุกลามเข้าสู่ส่วนกลาง จนทำให้ตาบอดในที่สุด ระยะที่ผู้ป่วยรู้ตัวว่าตามัวลง มักหมายถึง โรคต้อหินได้ลุกลามไปมากพอสมควรแล้ว จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่จะทราบว่าตนเป็นโรคต้อหินตั้งแต่ระยะแรกๆ ยกเว้นเสียแต่จะได้รับการตรวจตาร่วมกับการวิเคราะห์ขั้วประสาทตาอย่างระมัดระวัง การตรวจวัดลานสายตาซึ่งปัจจุบันนิยมแบบที่มีคอมพิวเตอร์มาใช้ร่วมในการตรวจ

ภาวะแทรกซ้อน

          ต้อหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาบอดชนิดถาวร โดยประมาณมีประชากรโลกคนตาบอดร้อยละ 10 จากต้อหิน โรคนี้เมื่อมีการสูญเสียการมองเห็นแล้ว จะไม่กลับคืนมาเป็นปกติได้ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ทำได้มากที่สุดก็คือ ควบคุมไม่ให้มันลุกลามมากขึ้นจากวันที่ตรวจพบสิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเราตรวจพบยิ่งเร็วก็จะสามารถรักษาการมองเห็นไว้กับเราได้นานขึ้น ถ้าตรวจพบช้า มีการสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว ไม่สามารถจะนำกลับมาเป็นเหมือนได้

การวินิจฉัยโรค

1.การตรวจโรคต้อหิน จักษุแพทย์จะทำการตรวจเช็คตาโดยละเอียดรวมทั้งการซักประวัติทางร่างกาย ประวัติทางครอบครัว
2.ทำการวัดสายตา ขั้นตอนการตรวจหาต้อหินเริ่มแรกจะต้องวัดการมองเห็นก่อนว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
3.วัดความดันภายในลูกตา สิ่งที่เน้นสำหรับการตรวจต้อหิน คือการวัดความดันลูกตา ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญมากของการตรวจต้อหินเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่ควบคุมได้
4.ตรวจดูขั้วประสาทตา และจอตา เป็นตรวจการทำงาน และรูปร่างลักษณะของขั้วประสาทตาซึ่งเป็นอวัยวะที่กระทบกระเทือนโดยตรงจากต้อหิน
5.การตรวจพิเศษโดยเฉพาะสำหรับโรคต้อหิน คือการตรวจดูมุมตาด้วยเครื่องตรวจลานสายตาอัตโนมัติ เพราะให้ข้อมูลละเอียดกว่าและการตรวจดูการกระจายของเส้นใยประสาท
6.การตรวจขั้วประสาทตาด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถถ่ายภาพและวิเคราะห์ขั้วประสาทตาได้ด้วยคอมพิวเตอร์ โดยถ่ายรูปขั้วประสาทตาได้มุมเฉพาะ แล้วส่งสัญญาณจากกล้องไปที่คอมพิวเตอร์ จากนั้นแสดงออกทางจอภาพได้ทันที ด้วยเครื่องมือนี้ จักษุแพทย์สามารถจะวัดความกว้าง ยาว และลึก ของขั้วประสาทตา ได้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และใช้ในการติดตามผู้ป่วยโรคต้อหินได้อย่างใกล้ชิด และละเอียดละออ

การวัดความดันตา วิธีการตรวจเรียกว่า tonometry

1.Schiotz method เป็นการใช้เครื่องมือวัดความดันลูกตาวางบนพื้นผิวของลูกตา หลังจากหยอดยาชาแล้วผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจ มองจ้องไปที่เพดาน
2.Applanation method เป็นการตรวจโดยใช้กล้อง slit lamp microscope
3.Non-contact method เป็นการตรวจโดยคำนวณการเปลี่ยนแปลงของแสงสะท้อนออกมาจากกระจกตาเมื่อเป่าลมเข้าไปในลูกตา นำมาคิดเป็นค่าความดันตาได้

การส่องกล้องตรวจดูภายในตา

วิธีการตรวจเรียกว่า opthalmoscopyจักษุแพทย์ใช้กล้องส่องดูภายในลูกตา ตรวจลักษณะรูปร่างของขั้วประสาทตา รวมทั้งความผิดปกติที่อาจพบได้

การตรวจลานสายตา

          วิธีการตรวจเรียกว่า perimetry การตรวจลานสายตาทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีที่นิยมใช้ ให้ผู้ป่วยมองจ้องตรงไปข้างหน้า แพทย์ค่อยๆ เคลื่อนแสงไฟมาจากทางด้านข้างทีละข้างให้ผู้ป่วยบอกว่าเริ่มเห็นแสงไฟเมื่อใด วิธีนี้ช่วยให้สามารถตรวจการมองเห็นภาพจากด้านข้างได้เป็นอย่างดี

การวัดมุมระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา

          วิธีการตรวจเรียกว่า gonioscopy กระทำได้โดยหยอดยาชา แล้วใช้กล้องชนิดพิเศษที่วางเลนส์บนกระจกตาเลนส์นี้มีกระจกที่ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถตรวจมุมระบายน้ำหล่อเลี้ยงตาได้ และวินิจฉัยได้ว่าเป็นต้อหินชนิดมุมเปิด หรือมุมปิด

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top