แพทย์สนาม และแพทย์ประจำทีม

สำหรับคอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์ กับหมอไพศาล ” ในวันนี้ (10 มิย. 49) ท่านผู้อ่านเดลินิวส์คงอยู่ในบรรยากาศฟุตบอลโลก 2006 ที่กำลังอยู่ในประเทศเยอรมันระหว่าง 9 มิ.ย. – 9 ก.ค. 2549 ในขณะนี้ ท่านที่ดูรายการถ่ายทอดสดเมื่อวานนี้คงเห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการ์ของงานนี้ได้เป็นอย่างดี มีผู้ชมการแข่งขันในแมทช์เปิดสนามระหว่างประเทศเจ้าภาพ เยอรมันและคอสตาริก้า หลายพันล้านคน ผลการแข่งขันเป็นอย่างไรนั้นระหว่งเขียนต้นฉบับวันนี้ฟุตบอลยังไม่เริ่มแข่งขัน แต่ผมเชื่อว่าเจ้าภาพคงเก็บคะแนนตุนไว้ก่อนได้ (หมอเดา) แต่อย่างไรก็ตามท่านที่ติดตามดูการถ่ายทอดสด ท่านเริ่มสะสมการอดนอนและการบั่นทอนสุขภาพของท่านเองไม่มากก็น้อยดังนั้น ท่านต้องประมาณตนเอาไว้ด้วยในเรื่องการอดนอนกับการดูและสุขภาพของท่านในระหว่างฟุตบอลโลก เพราะอาจทำให้ท่านเจ็บป่วยขึ้นได้ ความเข้าใจผิดที่พบได้เสมอ ๆ

          ท่านที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงฟุตบอลอย่างใกล้ชิดจริงๆ ไม่ค่อยเข้าใจความแตกต่างของคำว่า “แพทย์สนาม” และ “แพทย์ประจำทีม” เท่าใดนัก วันนี้ผมขออธิบายเพื่อความเข้าใจแก่ท่านผู้อ่านเดลินิวส์ทุกท่านดังนี้

“แพทย์ประจำทีม” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “TEAM PHYSICIAN” หรือ “TEAM DOCTOR” หมายถึงแพทย์ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบงานเวชศาสตร์การกีฬา (SPORTS MEDICIVE) ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนักกีฬาฟุตบอลทั้งหมดซึ่งได้แก่งานหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

          งานป้องกันการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย (INJURY PREVENTION AND PREVENTIVE MEDICINE) เป็นงานที่มีความสำคัญที่แพทย์ประจำทีมจะต้องวางแทนและเตรียมโปรแกรมการป้องกันต่าง ๆ กับผู้ฝึกสอนทีม เพื่อให้สอดคล้องกันกับการฝึกซ้อมของทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานส่วนนี้อาจแบ่งย่อยเป็นหัวข้อดังนี้

          ความรู้เรื่องระบาดวิทยา หมายถึงแพทย์ประจำทีมจะต้องทราบเกี่ยวกับความชุก หรือสถิติต่าง ๆ ในอดีตเกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บส่วนต่าง ๆ ของนักฟุตบอล เพื่อนำมาเป็นการเตรียมทีมและป้องกันนักฟุตบอลไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วยโรคต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น ความรู้ในเรื่องการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ข้อเข่าและกล้ามเนี้อต้นขาและขาหนีบ ว่าเกิดบ่อยในนักกีฬาฟุตบอลจะนำไปสู่การป้องกัน เช่น การใช้พลาสเตอร์ล็อคข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าแพลง (ANKLE SPRAIN) การเล่น WEIGHT TRAINING กล้ามเนี้อรอบๆ เข่า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นหัวเข่าขาด หรือการยืดกล้ามเนื้อ (STRETCHING) อย่างเพียงพอและถูกวิธีจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ หรือความรู้เรื่องการป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยใช้การฉีดวัคซีน ว่าได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ แพทย์ประจำทีมก็จะต้องตัดสินใจโดยปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ ด้วย หรือความรู้ในเรื่องโภชนาการ ก็จะนำไปสู่การให้ความรู้กับนักฟุตบอลและการเตรียมการเรื่องอาหารร่วมกับนักโภชนาการ ประจำทีมตั่งแต่การเตรียมทีมจนกระทั่งการเดินทางไปแข่งขันในประเทศเจ้าภาพ ต้องมีความรู้ในการเตรียมอาหารในช่วงของการแข่งขัน วันก่อนการแข่งขัน ตลอดจนในวันแข่งขัน อาหารประเภทใดเหมาะสมและเวลาที่ควรให้รับประทานสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์ประจำทีมต้องให้คำแนะนำทั้งสิ้น

          การตรวจเช็คร่างกาย แพทย์ประจำทีมจะต้องวางแผนการตรวจร่างกายและตรวจเลือดคลอดจนเอ็กซเรย์ปอด (STRENGTH TESTS) และหัวใจ (FLEXIBILITY TESTS) การทดสอบความแข็งแรงของระบบการทำงานของหัวใจ ปอด ลำการไหลเวียนของเลือด (AEROBIC AND ANAEROBIC ENDURANCE TEST) ซึ่งเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งแพทย์ประจำทีมต้องมีความรู้และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่มีการเตรียมทีม เพื่อเป็นข้อมูลให้โค้ชและผู้จัดการทีม จะได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมวิธีการฝึกซ้อมให้นักฟุตบอลที่มีข้อควรปรับปรุงในบางเรื่อง

กาฝึกซ้อม แพทย์ประจำทีมจะต้องทำงานร่วมกับโค้ชในเรื่องวิธีการฝึกซ้อมในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บ ดังเช่นที่ผมเคยนำวิธีการฝึกซ้อมที่เรียกว่า F-MARC 11 ของ FIFA ที่เสนอแนะให้ทีมฟุตบอลทุกทีมควรฝึกซ้อม 10 วิธี บวกกับการเน้นการเล่น FAIR PLAY รวมเป็น 11 วิธี เพื่อป้องกันการบาดเจ็บได้ผลดีในทีมชั้นนำต่าง ๆ มาแล้ว ซึ่งทางฝ่ายแพทย์ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะร่วมกับฝ่ายผู้ฝึกสอนจะได้จัดเวิรค์ช้อปให้แก่ผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลที่สนใจหลังฟุตบอลโลกจบต่อไป

ความรู้เรื่องโด้ป แพทย์ประจำทีมจะต้องให้ความรู้แกนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนในทีม รวมทั้งอาจจะต้องมีการทดสอบตรวจสารต้องห้ามในระหว่างการเตรียมทีม เพื่อป้องกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

การรักษาพยาบาลนักกีฬาฟุตบอล (รวมเจ้าหน้าที่ทีม) แพทย์ประจำทีมจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการรักษาพยาบาล ตั้งแต่ระหว่างการฝึกซ้อม การรักษาเบื้องต้น (FIRST AID TREATMENT) อุปกรณ์ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินทางออกนอกประเทศจะต้องมีการเตรียมการอย่างครบถ้วน เพื่อสามารถช่วยเหลือทีมได้อย่างดีไม่ต้องพึ่งพาอาศัยประเทศเจ้าภาพมากนัก ยกเว้นกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรุนแรงจริง ๆ เท่านั้น การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลนั้นจะมีทั้งเรื่องเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากากรซ้อมและการแข่งขัน การตัดสินใจส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่การตัดสินใจที่จะให้ผู้เล่นที่บาดเจ็บได้ลงในนัดต่อ ๆ ไป ก็เป็นหน้าที่แพทย์ประจำทีม ร่วมกับแพทย์ที่ปรึกษาอื่น ๆ ดังเช่นกรณีของ เวย์น รูนีย์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นชัดเจนถึงความสำคัญ หรือในกรณีรูนีย์ เป็นกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนมีข่าวออกมาว่าทางทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ถึงกับมีการให้แพทย์ประจำทีมออกไป จนกระทั่งมีข่าวว่าทางทีมต้องจ่ายเงินชดเชยให้ถึง 17 ล้านบาททีเดียว ดังนั้นท่านผู้อ่านเดลินิวส์คงจะเห็นได้ว่าหน้าที่ของแพทย์ประจำทีมมีความสำคัญเพียงใด โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ต้องการตัดสินใจร่วมกัน

ส่วน “แพทย์สนาม” นั้นมีความหมายถึง การเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ถ้าเป็นฟุตบอล ก็หมายถึงระหว่างการแข่งขันตลอด 90 นาที รวมถึงหากมีการต่อเวลาออกไปอีก ซึ่งทีมที่ดูแลจะต้องเดินทางไปถึงสนามฟุตบอลล่วงหน้าอย่างน้อย 1½ ชั่วโมง เพื่อดูความพร้อมของห้องปฐมพยาบาลในสนาม เพื่อดูจุดที่จอดรถ ambulance ซึ่งจะต้องมี 2 คนขึ้นไป เพื่อพร้อมที่จะไปส่งผู้เล่นที่บาดเจ็บตลอดเวลาและเมื่อรถคันหนึ่งออกไปแล้ว จะต้องมีอีกคันหนึ่งเข้ามาแทนที่ เพื่อครวจสอบจุดที่ทางกรรมการจัดการแข่งขัน จัดให้ไว้สำหรับวางเปลสนาม ซึ่งจะต้องอยู่ 2 ชุด ๆ ละ 4 คน และหนึ่งในชุดเปลสนามนั้นจะต้องเป็นแพทย์ ตามข้อกำหนดของ FIFA เพื่อช่วยเหลือนักฟุตบอลได้ทันท่วงที เมื่อผู้ตัดสินใจเรียกให้ทีมเปลสนามเข้าไปในสนาม เวลามีการบาดเจ็บ ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะมีแพทย์ประจำทีมจากทางทีมเข้าไปดูแลนักฟุตบอลของตนเองด้วย ปกติทาง FIFA จะแต่งตั้งแพทย์ผู้รับผิดชอบ (MEDICAL OFFICER) ประจำแต่ละสนาม โดยมาทำงานร่วมกับแพทย์สนาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ประของประเทศเจ้าภาพ นอกจากากรดูแลนักกีฬาฟุตบอลแล้วแพทย์สนามจะต้องวางแผนการดูแลคนดูที่เข้ามาในสนาม ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุหมู่

ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงพอใจความแตกต่างของแพทย์สนาม กับ “แพทย์ประจำทีม” แล้วนะครับขอให้ท่านสนุกกับการชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และพึงระมัดระวังการดูแลสุขภาพส่วนตัวไว้ให้ด้วย สวัสดีครับ

นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top