เสียงเปลี่ยนไป เมื่อวัยเปลี่ยนแปลง

อย่าให้เสียงคุณเปลี่ยนไป เมื่อวัยเปลี่ยนแปลง

          ทราบหรือไม่…คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น เสียงพูดเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เสียงเบาลง แหบ พลังเสียงลดลง พูดได้ไม่นานเท่าเดิม ร้องเพลงแล้วเหนื่อยเร็วขึ้น เสียงสั่น ๆ ทำให้เราเสียบุคลิกและขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะมีตัวแปรสำคัญที่ทำให้เสียงเราเปลี่ยนไป แต่เหตุปัจจัยดังกล่าวมีที่มาและเกิดจากอะไรนั้น วันนี้โรงพยาบาลกรุงเทพมีคำตอบมาฝาก

แพทย์หญิงจิราวดี จัตุทะศรี แพทย์ด้านหู คอ จมูก ศูนย์หูคอจมูกกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า เสียงพูดเปลี่ยนไปจากเดิมนั้นเกิดจากเยื่อบุสายเสียงหนาตัวขึ้น หรืออาจมีแผลเป็น หรือเนื้องอกที่สายเสียง กล้ามเนื้อกล่องเสียงอ่อนแอลงตามวัยที่มากขึ้น ปอดไม่แข็งแรงและไม่สามารถเก็บอากาศได้มากเท่าแต่ก่อน แต่ทว่าสาเหตุที่ทำให้เสียงของเราเปลี่ยนไป นอกจากวัยที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถมีได้อีกหลายอย่าง เช่น

  • การติดเชื้อหวัด ไวรัส แบคทีเรียที่กล่องเสียง
  • การอักเสบบวมช้ำของสายเสียง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้เสียงมาก ๆ ตะเบ็งตะโกนพูดหรือร้องเพลงผิดวิธี เค้นเสียง
  • การสูดสารพิษต่าง ๆ เข้าไประคายเคืองกล่องเสียง
  • อุบัติเหตุกระทบกระเทือนกล่องเสียง เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจขณะดมยาสลบ
  • เนื้องอกที่สายเสียงและกล่องเสียง
  • มะเร็งที่กล่องเสียง
  • โรคของกล้ามเนื้อและระบบประสาทบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน เป็นต้น
  • ภาวะของกรดไหลย้อน จะมีกรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และไประคายเคืองกล่องเสียง ทำให้เกิดภาวะกล่องเสียงอักเสบได้
  • โรคอื่นๆ ที่มีผลกับเสียง เช่น กรดไหลย้อน ภูมิแพ้ ไอเรื้อรัง

          การรักษาภาวะเสียงที่เปลี่ยนไปนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ส่วนการรักษาเสียงที่เปลี่ยนไปจากวัยที่มากขึ้น ก็คือ การฝึกการใช้เสียงที่ถูกต้องและทำให้เป็นประจำ (Speech Therapy) เพราะหากมีภาวะเสียงเปลี่ยนไปและไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง จะทำให้เสียบุคลิกในขณะที่พูดและเกิดอันตรายได้หากว่าสาเหตุของโรคนั้นคือมะเร็ง

          คุณหมอจิราวดีให้เคล็ดลับในการดูแลเสียงของเราให้สุขภาพดีด้วยวิธีง่ายๆ ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ นอนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อคืน ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2 ลิตร) ซึ่งควรจะเป็นน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงมลภาวะในอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน สารพิษต่าง ๆ และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคทางเดินหายใจติดเชื้อ ฝึกการออกเสียงพูดหรือร้องเพลงที่ถูกวิธีไม่ตะเบ็งเสียง และถ้าฝึกเป็นประจำ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อสายเสียงแข็งแรง ไม่หย่อนหรืออ่อนแอตามวัย เมื่อไม่สบาย ควรรีบรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ร้องเพลงขณะที่เสียงกำลังแหบหรือในช่วงที่ทางเดินหายใจมีการอักเสบและติดเชื้อ

          นอกจากนี้ หากมีภาวะเสียงแหบนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ เสียงแหบแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการแหบมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนเสียงแหบที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ไอเป็นเลือด สำลักอาหาร กลืนอาหารลำบาก หายใจติดขัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพียงเท่านี้เราก็สามารถมีเสียงที่สดใสแข็งแรงได้แล้วค่ะ

แพทย์หญิง จิราวดี จัตุทะศรี
หูคอจมูก
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top