เมื่อลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว

ลูกไม่ค่อยยอมกินข้าว อมข้าว บ้วนข้าว กินไปเล่นไป ต้องไล่ป้อนข้าวนานเป็นชั่วโมง บางคนน้ำหนักไม่ขึ้นเลย เหล่านี้เป็นตัวอย่างปัญหาการกินในเด็กซึ่งพบได้บ่อยและทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงอึดอัดใจครับ คุณแม่บางท่านบ่นอย่างน้อยใจว่า “ดูซิ เราอุตสาห์คิดเมนูอาหารแทบแย่ ไปจ่ายกับข้าวแล้วตั้งใจมาทำอาหารให้เขากิน พอเอามาให้กิน เขากลับบ้วนทิ้ง” เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคน แต่สำหรับหัวอกของคนเป็นแม่ ด้วยความรัก ความสงสาร และเป็นห่วงบางคนถึงกับร้องไห้ หรือโกรธไม่พอใจ เวลาที่ลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว ฟังแล้วก็ น่าเห็นใจ ทั้งคุณแม่และคุณลูกครับ และเนื่องจากช่วง2ขวบปีแรกเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญโตของสมอง ภาวะโภชนาการของเด็กวัยแรกเกิดถึง2ปี จึงมีความสำคัญมาก

สัญญาณของการเริ่มมีปัญหาการกิน คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตสัญญาณความผิดปกติของการกินได้ครับ ตัวอย่างเช่น

  • ลูกเริ่มอมข้าว
  • ป้วนคายอาหารทิ้ง
  • หงุดหงิดร้องไห้งอแงเมื่อถึงเวลากินอาหาร
  • เวลาให้กิน ลูกก็เล่นอาหารจนหกเลอะเทอะ แต่ก็ไม่ยอมกินอยู่ดี
  • ใช้เวลาในการกินอาหารนานผิดปกติ เช่นบางคนต้องป้อนอาหารเป็นชั่วโมง

          การกินของเด็กขึ้นกับอะไรบ้าง ปัจจัยสำคัญของปัญหาการกินของเด็กก็คือเรื่องของพัฒนาการเด็กและพื้นฐานอารมณ์ครับ พัฒนาการสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและ – สิ่งแวดล้อม ส่วนพื้นฐานอารมณ์หรือพื้นอารมณ์ ก็หมายถึงลักษณะหรือการแสดงออกของพฤติกรรม จากการศึกษาพบว่าเด็กแรกเกิดแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ติดตัวมาแล้ว และแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน พื้นฐานอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกินของเด็กได้แก่

  • ช่วงจังหวะในการกินและการนอนของเด็ก เด็กที่เลี้ยงง่าย มักกินนอนและหิวเป็นเวลา ก็จะทำให้ คุณพ่อคุณแม่สะดวกในการดูแลเรื่องอาหารการกินครับ
  • ลักษณะการตอบสนองต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา เช่นอาหารใหม่ ของเล่นใหม่ คนแปลกหน้า ดังนั้นเด็กที่เลี้ยงง่ายก็มักตอบสนองดีต่ออาหารใหม่ๆที่ยังไม่เคยกิน
  • หลักการให้อาหารเด็ก อาหารหลักของเด็กวัยแรกเกิดถึง1ปีก็คือนม รายละเอียดของการให้อาหารเด็กในแต่ละช่วงอายุ มีดังนี้ครับ

การให้อาหารในช่วงอายุเด็กอายุแรกเกิด – 3 เดือน ข้อควรรู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัย เด็กอายุแรกเกิด – 3 เดือน   

          เด็กอายุแรกเกิดถึง 3 เดือน เด็กทารกที่กินนมแม่อาจกินบ่อยกว่าเด็กที่กินนมผสม โดยมักกินทุก 2-3 ชั่วโมง การที่ให้แม่ให้บ่อยเกินไปเช่นน้อยกว่าทุก 2 ชั่วโมง กลับจะทำให้การสร้างน้ำนมลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่มักมีแนวโน้มให้นมแม่ทุก ครั้งที่เด็กร้อง เพราะนม แม่สะดวกในการให้ ไม่ต้องวิ่งต้มน้ำหรือชงนม ส่วนที่เด็กกินนมผสมก็จะกินทุก 3-4 ชั่วโมงครับ การให้นมควรสัมพันธ์กับการหิวของเด็ก โดยปกติเมื่อเด็กหิวจะเกิดความกดดันขึ้น ตามด้วยการร้องไห้ การตอบสนองโดยการให้นมแก่ลูก จะมีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้ครับ

  • การให้นมตามความต้องการ หรือความหิวของเด็ก หมายถึงการให้นม เมื่อเด็กหิวและต้องการจริงๆ การให้นมลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กทารกเชื่อมโยง การเข้ามาของแม่กับ การทำให้ความหิวลดลง
  • การให้นมตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุก 3-4 ชั่วโมง จะช่วยให้เด็กทารกพยายามปรับช่วงจังหวะของความหิวให้เข้ากับเวลาที่เรากำหนด แต่ในเด็กที่ปรับตัวให้เข้ากับเวลาที่กำหนดไม่ได้ อาจเป็นเพราสาเหตุดังต่อไปนี้ครับ
  • พื้นฐานอารมณ์คือเป็นเด็กที่จังหวะเวลาของการหิวไม่สม่ำเสมอ คือช่วงการกินการนอน
    ไม่เป็นเวลานั่นเอง
  • เด็กยังกินไม่อิ่ม หรือเด็กถูกบังคับให้กินทั้งทั้งที่ยังไม่หิว

          การให้ตามความพร้อมและความสะดวกของแม่โดยไม่สนใจว่าเด็กหิวหรือไม่ และไม่กำหนดช่วงเวลาการให้นมที่แน่นอน ลักษณะการให้นมนี้จะไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าการกินเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ ผลเสียที่ตามมา คือ เด็กจะหงุดหงิดง่าย เลี้ยงยาก และอาจมีปัญหาแหวะนม

การให้อาหารในช่วงอายุเด็ก 3-6 เดือน ข้อควรรู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัยอายุ 3-6 เดือน   


          เด็กอายุ 3-6 เดือน ช่วงอายุนี้เด็กที่กินนมแม่อาจตื่นขึ้นมากินนมแม่ในช่วงกลางคืนหลายครั้ง แต่เด็กที่กินนมผสมมักหลับยาวตลอดคืนแล้ว โดยทั่วไปเด็กที่อายุ 4 เดือนขึ้นไปมักหลับกลางคืนต่อเนื่องกันได้8ชั่วโมง แต่ถ้าพ่อแม่ตอบสนองทุกครั้งต่อการตื่นของเด็กด้วยการอุ้มหรืออาจให้นมกินทุกครั้งที่ร้องจะทำให้เด็กเชื่อมโยงการร้องกับการกินนม เด็กจะตื่นขึ้นมากินนมเวลากลางคืนหลายครั้ง

การให้อาหารในช่วงอายุ 1-2 ปี ข้อควรรู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัย 1-2 ปี

  • อัตราการเจริญเติบโตของเด็กในขวบปีที่สองจะลดลง ความอยากอาหารก็จะลดลงด้วย (เด็กอายุ1ปีจะมีน้ำหนักประมาณ3เท่าของน้ำหนักตอนแรกเกิด แต่กว่าน้ำหนักจะเป็น 4 เท่า อาจถึงอายุ 2 ปี)
  • ถีงแม้ว่าจะดูเหมือนกินน้อย แต่ถ้าน้ำหนักของเด็กขึ้นตามปกติ ถือว่าไม่มีปัญหาครับ
  • อาหารหลักของเด็กวัย1ปีขึ้นไป คือข้าว อาหาร 5 หมู่ ไม่ใช่นมเหมือนวัยทารกแล้ว
  • ส่วนใหญ่เด็กที่กินแต่นม เช่นกินนมครั้งละ 8 ออนซ์ 5-6 มื้อต่อวัน แต่ไม่ค่อยกินข้าว น้ำหนักมักจะไม่ขึ้น บางคนน้ำหนักอาจตกเกณฑ์ได้ ซึ่งปัญหานี้พบได้บ่อยมากครับ
  • ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ครับ ไม่ควรกินอาหารบางหมู่มากเกินไป เช่นกินแต่ผลไม้ ไม่กินข้าว
  • พัฒนาการของเด็กวัย1- 2ปี จะต้องการความเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง ถ้าถูกคุณพ่อคุณแม่ควบคุม บังคับโดยเฉพาะเรื่องการกิน เด็กอาจต่อต้านในลักษณะปฎิเสธอาหาร
  • ปัญหาการกินขึ้นกับหลายปัจจัย เช่นความคาดหวังของพ่อแม่ไม่เข้ากับความต้องการหรือพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก

          เรื่องปัญหาการกินของเด็กนี่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆยากและซับซ้อนครับ เนื้อหาค่อนข้างยาว ครั้งนี้เราได้ทำความเข้าใจถึงเหตุผลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกินของเด็กแล้ว ครั้งหน้าเราจะมาพูดคุยกันถึงวิธีการในการแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวกันต่อไปครับ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top