เนื้องอกมดลูก โรคที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์

เนื่องในวันแม่ที่จะมาถึงนี้ ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ขอนำเสนอโรคที่พบบ่อยทางนรีเวช และมีคนไข้ในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก บางท่านอาจมีความกังวลเกี่ยวกับเนื้องอกมดลูก หรืออาจมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเนื้องอกมดลูก วันนี้เราจะมาดูกันว่า เนื้องอกมดลูกนั้น มีลักษณะอย่างไร และอาการใดบ้างที่ทำให้สงสัยว่าสาวๆ อาจจะเป็นเนื้องอกมดลูก มาติดตามกันครับ

เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการเจริญเติบโตที่มากเกินไปของกล้ามเนื้อมดลูก เนื้องอกมดลูกสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งของมดลูก เช่นที่ผิวภายนอกมดลูก, ภายในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก หรือ ภายในโพรงมดลูก ก้อนเนื้องอกสามารถเติบโตอย่างช้าๆ หรือรวดเร็วก็ได้ไม่แน่นอน สามารถพบได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บ่อยในช่วงอายุ 30-40 ปี พบได้ร้อยละ 40-70% โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติในครอบครัว, อ้วน, เคยมีบุตรมาก่อน

อาการที่ทำให้สงสัยว่าเป็นเนื้องอกมดลูก

1. มีการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน
– ประจำเดือนมานาน, มามาก
– ปวดท้องประจำเดือน ปวดเกร็งหน้าท้อง
– มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
– มีภาวะซีด(จากการเสียเลือด)


2. ปวดท้องน้อย
– ปวดท้องน้อย (ปวดหน่วงๆ, อาจปวดร้าวไปหลัง)
– ปวดท้องน้อยขณะที่มีเพศสัมพันธ์


3. มีภาวะที่เกิดจากก้อนกดเบียด
– ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะบ่อย
– ท้องผูก, ปวดหน่วงลงทวารหนัก หรือท้องอืด


4. รู้สึกว่าท้องโตขึ้น หรือคลำได้ก้อนในท้อง


5. แท้งบุตร


6. มีบุตรยาก

ในบางครั้งเนื้องอกมดลูกอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจจะตรวจพบในขณะตรวจภายในประจำปีก็เป็นได้

สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างไรบ้าง

เนื้องอกมดลูกสามารถตรวจพบได้จากการตรวจภายใน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้จากการตรวจอื่นๆดังนี้ คือ
– อัลตร้าซาวด์ ทำให้สามารถเห็นก้อนเนื้องอกมดลูก, ขนาด, ตำแหน่ง รวมถึงปีกมดลูกและรังไข่
– ส่องกล้องผ่านทางโพรงมดลูก โดยการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเข้าไปตรวจดูในโพรงมดลูก ซึ่งสามารถจะตรวจดูเนื้องอกมดลูกที่เบียดเข้ามาในโพรงมดลูก ตำแหน่งที่เนื้องอกอยู่ ว่ามีการกดเบียดรูเปิดท่อนำไข่หรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถทำการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกมดลูกออกได้อีกด้วย
– การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง โดยการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านผนังหน้าท้องเพื่อช่วยในวินิจฉัยเนื้องอกที่มดลูก และสามารถทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาได้
– การตรวจโดยใช้เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์(CT)หรือคลื่นแม่เหล็กความถี่สูง(MRI) แต่มักไม่ค่อยนิยมทำกัน จะเลือกทำในบางกรณีเท่านั้น เช่นก้อนที่พบในท้องมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถแยกแยะจากอวัยวะอื่นๆภายในท้องได้

สำหรับการรักษาเนื้องอกมดลูกนั้น สามารถใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมนคุมกำเนิด เพื่อลดอาการปวดท้องและลดปริมาณเลือดที่ออกได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ห่วงอนามัยที่สามารถปลดปล่อยฮอร์่โมนออกมาได้ เมื่อนำมาใส่ในโพรงมดลูก ก็จะสามารถลดปริมาณเลือดที่ออกให้น้อยลง รวมถึงอาการปวดท้องน้อย แต่ไม่อาจทำให้ก้อนยุบลงได้ ส่วนการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะพิจารณาทำโดยคำนึงถึง ขนาดของก้อน, จำนวน, ตำแหน่งของก้อน, อายุผู้ป่วย, ความต้องการมีบุตร, ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เป็นต้น

ถ้าทราบเช่นนี้แล้ว ในวันแม่ที่จะมาถึงนี้ อย่าลืมพาคุณแม่มารับการตรวจภายในประจำปี อย่างน้อยก็เป็นการตรวจคัดกรองไปด้วย ถ้าพบว่ามีเนื้องอกมดลูก จะได้รับคำปรึกษาและแนะนำจากแพทย์อย่างถูกต้องต่อไปครับ

เอกสารอ้างอิง
1. Day Baird D, Dunson DB, Hill MC, Cousins D, Schectman JM: High cumulative incidence of uterine leiomyoma in black and white women: ultrasound evidence. Am J Obstet Gynecol 2003, 188(1):100–107.
2. Uterine fibroids, frequently asked questions FAQ074, gynecologic problem, ACOG 2011

พันตรี นายแพทย์ จักรพันธ์ ศุภเดช
พบ., สูตินรีเวชศาสตร์, เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top