เด็กถูกล่วงเกินทางเพศ

ปัญหาเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ เป็นปัญหาทางสังคมที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนมากเป็นคนที่เด็กคุ้นเคย หรือเป็นคนในครอบครัว และเมื่อทำความผิดแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็จะพยายามปกปิดเรื่องโดยการกดดันเด็กต่างๆ นานา บางครั้งตัวเด็กเองเกิดความอับอาย หรือรู้สึกว่าตนเองผิดจึงไม่เล่าเรื่องให้ใครทราบ คนทำผิดก็เลยย่ามใจปัญหา นี้เป็นเรื่องที่ผิดทั้งกฎหมาย และผิดศีลธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านร่างกาย และจิตใจของเด็กอย่างรุนแรง ต่อเนื่องไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กเหล่านี้บางส่วนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งก่อปัญหาลักษณะเดียวกันนี้นี้กับเด็กคนอื่นต่อไปเป็นลูกโซ่ไม่จบสิ้น

ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กทุกท่าน จึงควรจะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และร่วมกันคิดหาวิธีในการป้องกันดีกว่าคอยแก้ปัญหาปลายเหตุ นั่นคือสอนเด็กให้รู้จักการป้องกันตัวเอง ไม่ไปไหนในที่ลับตาคนโดยลำพัง ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักความสำคัญของสรีระร่างกายตนเองและไม่ให้ใครมาแตะต้องตัวได้ง่ายๆ ที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ควรให้เวลากับลูกในการรับฟังปัญหาต่างๆ ของเขาอย่างเต็มอกเต็มใจ ด้วยท่าทีดังกล่าว จะทำให้ลูกไว้วางใจที่จะเล่าเรื่องทุกเรื่องให้ท่านฟัง โดยไม่ปิดบัง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ หรือถูกทำทารุณกรรมได้มากทีเดียว

รูปแบบการล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก

การล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก เป็นเรื่องที่ผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม ซึ่งมีมากขึ้นทุกวันทั้งปริมาณ และรูปแบบที่ซับซ้อน การล่วงเกินทางเพศต่อเด็กมักเกิดจากการกระทำของบุคคลใกล้ชิด ซึ่งคุ้นเคยกับเด็ก เมื่อพบว่าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมักจะปกปิดด้วยความอับอาย ปกป้องชื่อเสียงทั้งของเด็ก และผู้กระทำผิด ซึ่งมักเป็นคนใกล้ชิดนั้นเอง

รูปแบบการล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก มี 2 ชนิด คือ

  1. กรณีไม่รุนแรงเป็นการล่วงเกินทางเพศที่ไม่มีการสัมผัสร่างกาย เช่น การเปลือยกายหรือให้เด็กดูอวัยวะเพศ แอบดูเด็กอาบน้ำ พูดลวนลาม พูดสองแง่สองง่าม โทรศัพท์ลามก หรือการให้เด็กดูภาพลามก วิดีโอลามก เพื่อเร่งเร้า หรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศต่อเด็ก
  2. กรณีที่รุนแรงเป็นการล่วงเกินที่มีการสัมผัสร่างกายเด็กด้วย มีลักษณะดังนี้ – ยังไม่ถึงขั้นที่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของเด็ก เช่น ลูบคลำอวัยวะเพศหรือตามร่างกายเด็กด้วยมือหรือปาก ให้เด็กจับคลำอวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ บางกรณีอาจมีการทำร้ายร่างกายเด็กร่วมด้วย

สาเหตุที่เกิดการล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก

สาเหตุนี้ค่อนข้างซับซ้อน และแตกต่างไปในแต่ละคน แต่โดยรวมเป็นผลจากปัญหาทางด้านอารมณ์ และจิตใจของผู้กระทำ เช่น ผู้ติดสารเสพติด : เหล้า ยาบ้า ฯลฯ จนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และจากการศึกษาพบว่า ผู้กระทำมักจะเป็นผู้ที่เคยถูกล่วงเกินทางเพศหรือถูกทารุณกรรมในวัยเด็กมาก่อน การล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก อาจเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เช่น บ้าน โรงเรียน วัด สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ห้องน้ำสาธารณะ โรงภาพยนตร์ ผู้ล่วงเกินทางเพศต่อเด็กมีแนวโน้มที่จะทำอีกจนเป็นนิสัย
กรณีที่เป็นคนคุ้นเคย มักจะล่วงเกินทางเพศกับเด็กคนเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ผู้กระทำมักจะเป็นผู้ที่มีปัญหาทางอารมณ์จากความกดดัน หรือความเครียดที่มากผิดปรกติ เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาไม่สามารถจะสร้างความสัมพันธ์คนวัยใกล้เคียง จนกลายเป็นความผิดปรกติทางเพศอย่างรุนแรงหรือเป็นผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจโดยตรง เช่น ชอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็ก (PAEDOPHILE)กรณีที่เป็นคนแปลกหน้า มักจะกระทำกับเด็กแต่ละคนเพียงครั้งเดียว แล้วเปลี่ยนตัว ผู้กระทำมักเป็นผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูงผิดปรกติอย่างรุนแรง และเกรงว่าคนวัยเดียวกันจะปฏิเสธ จึงหันมาล่วงเกินทางเพศต่อเด็กด้วยเห็นว่าอ่อนแอกว่า

วิธีการช่วยเหลือเด็ก กรณีที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเด็กถูกล่วงเกินทางเพศหรือไม่

  • อย่าปฏิเสธปัญหา จงเชื่อเด็กไว้ก่อน แม้ว่าถ้าเด็กสร้างเรื่องนี้ก็แสดงว่าเด็กกำลังมีปัญหาด้านอื่นที่ต้องการการช่วยเหลือ
  • รับฟังเด็กอย่างสงบ ค่อยๆ ลำดับเหตุการณ์ วัน เวลา สถานที่ ผู้กระทำ
  • ปลอบโยนให้กำลังใจ มั่นใจแก่เด็กว่าเราจะช่วยปกป้องคุ้มครองเขา และบอกเด็กว่าเรื่องที่เด็กเล่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
  • วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากเด็ก ว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อจะหาทางช่วยเหลือ
  • การล่วงเกินทางเพศไม่เพียงแต่เด็กผู้หญิงเท่านั้น เด็กผู้ชายก็เป็นที่ต้องการของผู้ชายบางคน โดยมีเฉพาะชายสูงอายุชาวต่างประเทศ

วิธีการช่วยเหลือเด็ก กรณีที่ทราบแน่ชัดว่าเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ

  • ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ เพื่อจะได้มีสติรับฟัง ถ้ามีอาการโวยวาย โกรธ หวาดกลัว เด็กอาจจะตกใจกลัวไม่กล้าเล่าความจริง ปลอบโยนเด็ก ยืนยันว่าเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้รับความเสียหาย คนล่วงเกินทางเพศต้องได้รับโทษจากความผิด พาเด็กไปในที่ที่ปลอดภัย เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าเด็กที่สวมใส่ขณะถูกล่วงเกินทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย หรืออื่นๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งร่องรอยไว้
  • ตรวจดูร่องรอยความเสียหายที่ร่างกายของเด็ก ถ้าทำได้ถ่ายภาพไว้ ส่งตัวเด็กเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที
  • อย่าชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษา
  • จดชื่อแพทย์ รวมทั้งวัน เวลา สถานที่ขณะตรวจรักษาไว้ด้วย
  • แจ้งตำรวจ บอกรายละเอียดทุกอย่างที่ทราบ ถ้าเป็นคนแปลกหน้าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเด็กอื่นต่อไป
  • แจ้งหน่วยงานทางสังคมที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ

ในกรณีที่ต้องการดำเนินการทางกฎหมาย ได้แก่
กลุ่มประสานงานทางศาสนาเพื่อสังคม โทร. 433-7169,424-9173
สภาทนายความ โทร. 281-8308,281-6463
สมาคมส่งเสริมสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน

: กทม. โทร. 246-2029,245-9561,245-9701
: อุบลราชธานี โทร. (045) 242-131
: เชียงใหม่ โทร. (053) 235-035
: บุรีรัมย์ โทร. (044) 613-284

สำนักงานอัยการสูงสุด โทร. 222-8121-9
มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 271-1207
ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็ก โทร. 412-1196,412-9833
ในกรณีที่ผู้กระทำล่วงเกินทางเพศเป็นบุพการี
สำนักงานอัยการสูงสุด (กองเด็ก) โทร. 222-8121-9

หน่วยงานส่วนราชการที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีทั่วไป

สถานีตำรวจทุกแห่ง
กองคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนกรมตำรวจ โทร. 252-3892-3
ศูนย์บริการสาธารณสุขเขตต่างๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง
โรงพยาบาลของรัฐ

หน่วยงานเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีทั่วไป

ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็ก โทร.412-1196,412-9833
มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 271-1207
มูลนิธิผู้หญิง โทร. 433-5149
สหทัยมูลนิธิ โทร. 252-5209
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (บ้านพักฉุกเฉิน) โทร. 566-2288,241-5116
มูลนิธิมิตรมวลเด็ก โทร. 252-6560

การบำบัดและฟื้นฟู

  • ด้านร่างกาย ให้แพทย์ตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องเช่น บาดแผล ความเจ็บป่วย หรือการติดโรคจากเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ตับอักเสบไวรัสบี เริม หนองใน เอดส์ เป็นต้น
  • ด้านจิตใจและอารมณ์ ให้จิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องประสานงานกับนักสังคมสงเคราะห์ และผู้ดูแลเด็ก เพื่อจัดกิจกรรมบำบัดควบคู่กับการพบจิตแพทย์ด้วย
  • ด้านครอบครัว ค้นหาบุคคลในครอบครัวหรือญาติที่มีเจตนา และความพร้อมในการคุ้มครองเลี้ยงดูเด็ก เข้ามาร่วมในกิจกรรมที่นักสังคมสงเคราะห์จัดเพื่อฟื้นฟูบำบัดเด็ก เช่น การเข้าพบ และเยี่ยมเด็กตามกำหนด เข้าร่วมค่ายครอบครัวด้วย เป็นต้น
  • ในกรณีที่เด็กได้รับการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายจิตใจอารมณ์จนคืนสู่สภาพปกติหรือใกล้เคียงปกติ ควรส่งเด็กกลับสู่ครอบครัวเดิมซึ่งมีญาติที่สามารถให้การคุ้มครองเด็กได้อย่างแท้จริง การติดตามเยี่ยมเยียนดูแลเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเกิดควมมั่นใจว่าเด็กคนนั้นจะพ้นภยันตรายอย่างสิ้นเชิง และเด็กสามารถดูแลปกป้องตนเองได้
  • ในกรณีที่ไม่สามารถหาบุคคลเข้ามาร่วมฟื้นฟูได้ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้ติดต่อหน่วยงานที่รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือครอบครัวอุปการะเพื่อหาครอบครัวทดแทนให้เด็ก
  • ในกรณีที่ส่งเด็กเข้าไว้ในสถานดูแลเด็กทั้งของเอกชน และรัฐ ให้ตรวจสอบดูว่ามีกิจกรรมบำบัด และฟื้นฟูข้างต้นหรือไม่ หากไม่มีให้เสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นแล้วนำเรื่องปรึกษากับจิตแพทย์เด็ก นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาที่ได้ประสานงานกันมาตั้งแต่แรก

วิธีป้องกัน (ในฐานะพ่อแม่)

  • พ่อแม่ควรจะทราบอยู่เสมอว่าขณะนี้ลูกกำลังอยู่กับใคร ที่ไหน และกำลังทำอะไรอยู่
  • ให้เวลาลูก ตั้งใจฟัง และรับฟังทุกเรื่องที่ลูกเล่า ชวนให้ลูกเล่าเรื่องเล่าเรื่องต่างๆ เมื่อมีปัญหาก็ปรึกษาพ่อแม่ได้เสมอ เพื่อที่ลูกจะได้ไม่มีความลับต่อพ่อแม่
  • พูดคุย และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการล่วงเกินทางเพศกับลูกบ้าง และสอนให้ลูกรู้จักการระวังป้องกันตนเอง

วิธีป้องกัน (ในฐานะอาสาสมัคร พิทักษ์สิทธิเด็ก หรือพลเมืองดี)

  • ศึกษาให้รู้สาเหตุ ขอบเขต และผลกระทบของการล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก
  • ให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง และเด็กเกี่ยวกับปัญหาการล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก และวิธีการป้องกัน
  • คอยช่วยสอดส่อง และสังเกตุเสมอว่า มีปรากฎการณ์อะไรบ้างที่ส่อแววว่าอาจจะมีการล่วงเกินทางเพศต่อเด็กที่คุณรู้จัก
  • ปลอบใจ ให้กำลังใจ และความช่วยเหลือแก่เด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ
  • สนับสนุนหน่วยงาน หรือโครงการที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกัน และช่วยเหลือการล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก

วิธีการสอนให้เด็กรู้จักป้องกันตนเอง

  • ก่อนจะไปที่ใดควรให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่าจะไปไหนกับใคร อย่างไร จะกลับเมื่อไร และอย่าเปลี่ยนจุดหมาย
    ควรมีเพื่อนไปไหนด้วย เพื่อความปลอดภัย
  • อย่าใจอ่อน ไว้ใจ เชื่อหรือรับของจากคนแปลกหน้า หรือคนที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ผู้นั้นจะแสดงท่าทางเป็นมิตรเมื่อมีคนมาแตะต้องตัวเด็กไม่ควรยินยอม และออกปากห้ามเมื่อไม่ชอบสัมผัสนั้น ควรเล่าให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้รับทราบ
  • เมื่อเกิดปัญหาให้รีบบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจแม้ในครั้งแรกผู้ใหญ่จะไม่ฟังหรือไม่เชื่อ ต้องพยายามจนกว่าผู้ใหญ่จะรับฟัง และช่วยเหลือ

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ผู้ประพันธ์
คำสงวนสิทธิ์

Scroll to Top