เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส

เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในหลายภูมิภาคของโลกที่มีการเลี้ยงสุกร เคย มีรายงานการพบเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส ในสัตว์ป่าบ้างเหมือนกัน แต่พบได้น้อย ส่วนใหญ่พบในสุกรเลี้ยง สำหรับโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ในมนุษย์ พบครั้งแรกในปี 1967 เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ระยะหลังก็มีรายงานผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื้อก่อโรค เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส เป็น เชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวก อยู่เป็นคู่ หรือเป็นสายยาว ขนาดต่างๆกัน เชื้อนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในลูกสุกร พบในลูกสุกรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านม มักตรวจพบเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ในโพรงจมูก และต่อมทอนซิล บางครั้งจะพบเชื้อในช่องคลอดของแม่สุกร สุกรเหล่านี้จะเป็นแหล่งรังโรค ทำให้เชื้อแพร่ไปยังลูกสุกร หรือสุกรในฝูงได้เชื้อที่เป็นสาเหตุมีหลายสายพันธุ์ ในลูกหมูอายุ 7-14 วัน จะติดเชื้อชนิด serotype 1 มากที่สุด ซึ่ง ก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบ ในลูกหมูอายุ 3-12 สัปดาห์ จะติดเชื้อชนิด serotype 2 ซึ่งก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และในระยะหลังพบการติดเชื้อชนิด serotype 14 มากขึ้น โดยพบมากถึงร้อยละ 25 ของการระบาดใหญ่ๆ จากการศึกษาทางระบาดวิทยาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีน พบว่าระยะฟักตัวของเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส สั้นมาก และยังไม่พบว่ามีการติดต่อจากคนสู่คนแต่อย่างใด

การติดต่อเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ที่ ก่อให้เกิดโรคในคน เท่าที่มีรายงานการระบาดในที่ต่างๆ ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าน้อยมาก โดยที่สายพันธุ์ type 2 พบได้บ่อยที่สุด สายพันธุ์ชนิดนี้มักก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และทำให้เกิดโรคทางระบบประสาทที่รุนแรงได้ มนุษย์จะเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อได้รับเชื้อโดยตรงจาก การสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรค ในกรณีนี้คือ หมูที่เป็นโรค หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับกับสัตว์ที่เป็นโรค เช่น พ่อค้าขายเนื้อหมู โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ไม่บ่อย การติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่นติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจมีโอกาสน้อย และไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง

อาการแสดงของโรค

อาการที่พบได้แก่ เยื่อ หุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก

รายงานจากประเทศเดนมาร์ก เน เธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา และฮ่องกง อาการเริ่มต้นด้วยมีไข้ อาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คอแข็ง หลังแข็ง และซึมลงจนถึงขั้นโคม่า บางรายพบผื่นเลือดออกที่ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่อาการรุนแรงถึงขั้นช็อค ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เมื่อหายแล้วจะมีปัญหาหูหนวกชนิดถาวร

การระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ป่วย 212 ราย เสียชีวิตไป 38 ราย โดยเกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดของเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส ในหมู ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เพศชายวัยกลางคน ทำงานใกล้ชิดกับหมูที่เป็นโรคทุกรายอาการในสุกรเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส เป็น เชื้อที่มีปัญหาอย่างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ปัจจุบันพบจำนวน 34 serotype ชนิดที่มักก่อให้เกิดโรคในสุกร ได้แก่ serotype 1, 2, 14 และ 19 โดยเฉพาะเชื้อ S. suis serotype 2 สามารถติดต่อสู่คนได้ และทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สุกรที่ติดเชื้อจะเกิดสภาวะเลือดเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง และข้ออักเสบ และตายอย่างเฉียบพลัน สุกรบางตัวอาจตายโดยไม่แสดงอาการมาก่อน ในสุกรหย่านม อาการทางระบบประสาทจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในฝูง โดยพบว่าเวลาเดิน ขาจะไม่สัมพันธ์กัน นอนขาตะกุย มีอาการชัก เหยียดเกร็ง กรอกตาไปมา เยื่อบุตาบวมแดง นอกจากนี้ยังพบอาการปอดบวม และข้ออักเสบซึ่งเนื่องมาจากโลหิตเป็นพิษ สุกรบางตัวพบลิ้นหัวใจอักเสบมีฝีหนอง ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว อัตราการเสียชีวิตพบได้ร้อยละ 30-50 และอัตราการติดเชื้อเรื้อรังในฟาร์มพบได้ร้อยละ 1 เวลาที่เกิดการระบาดขึ้นจะพบหมูป่วยจำนวนมาก แต่บางตัวก็ติดเชื้อโดยไม่เกิดโรคแต่อย่างใด การระบาดพบได้บ่อยในฤดูหนาวและในฟาร์มที่แน่นเบียดเสียดการติดเชื้อในสุกร ส่วน ใหญ่เป็นแบบชนิดไม่มีอาการ แต่ก็อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้ หรือทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ข้ออักเสบ พบว่าลูกสุกรเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด ความสกปรกในฟาร์มเลี้ยงสุกรและการที่อากาศไม่ไหลเวียนถ่ายเท จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากขึ้น แม้ว่าสุกรที่ติดเชื้อจะไม่ปรากฏอาการ แต่เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส จะหลบอยู่ที่ทอนซิล และแพร่กระจายไปยังตัวอื่นๆได้ โรคติดเชื้อในสุกรตอบสนองดีต่อยาปฏิชีวนะ

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

การวินิจฉัยสามารถให้การวินิจฉัยได้จากประวัติการสัมผัสโรค ลักษณะอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจพบเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างจากเลือด น้ำไขสันหลัง ของเหลวภายในข้อ ส่วนในสุกรจะเน้นอวัยวะที่ได้รับผลจากการติดเชื้อ และเกิดความผิดปกติ เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ไต สมอง ต่อมน้ำเหลือง หนองในข้อ รก ตัวอ่อนในแม่อุ้มท้อง และนมจากเต้านมอักเสบ ตัวอย่างทั้งหมดควรนำมาเพาะเชื้อโดยเร็ว ไม่ช้ากว่า 3 ชั่วโมง การเก็บในอาหารเลี้ยงเชื้อจะช่วยรักษาสภาพของตัวอย่างส่งตรวจ นอกจากนี้ปัจจุบันสามารถตรวจเชื้อโดยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) ช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้นการรักษาโรคนี้สามารถรักษาให้หายโดยการให้ยาปฏิชีวนะ โดยยาที่รักษาได้ผลได้แก่ ampicillin, penicillin, cephalosporin และ ciprofloxacin

การป้องกัน
1. บริโภคเนื้อหมูที่ปรุงสุก อย่า กินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อย่างเด็ดขาด โดยธรรมชาติ เชื้อนี้จะถูกทำลายด้วยความร้อน การกินอาหารแบบปรุงสุกจึงลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในคน
2. ผู้ชำแหละหรือสัมผัสหมู ควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3. ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มหรือโรงฆ่าสัตว์ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล สวมรองเท้าบู๊ต หรือ สวมถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้
4. หากเกิดการระบาดในฟาร์มสุกร ต้องดำเนินการเฝ้าระวังโรคให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top