อาหารกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) การศึกษาวิจัยครั้งใหญ่ติดตามผู้ป่วยชาย 51,529 คน พบว่าอาหารจำพวกไขมัน มันสัตว์ เนื้อแดง เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างชัดเจน ต่อมามีการศึกษาวิจัยซ้ำในเรื่องเดียวกันที่ฮาวาย ก็พบเช่นกันว่าการบริโภคเนื้อแดงเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถึงแม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าส่วนประกอบใดของเนื้อแดงที่เป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ปัจจุบันเชื่อว่าอาจเป็น heterocyclic aromatic amine หรือ polycyclic aromatic hydrocarbon ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญในมนุษย์สำหรับในสัตว์ทดลอง พบว่าสาร heterocyclic amine carcinogen ที่มีชื่อเรียกว่า 2-amino-1-methyl-6-phenylimidazo[4,5-b]pyridine (PhIP) เป็นสารก่อมะเร็งต่อมลูกหมากในหนูทดลอง

มะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของมะเร็งที่คร่าชีวิตของผู้ชายรองจากมะเร็งปอด พบว่าผู้ชายหนึ่งในสิบคนจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ทั่วๆ ไปเนื่องจากการศึกษาในศพของผู้ชายในอายุต่างๆ กันที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ กัน และไม่เคยเป็นโรคของต่อมลูกหมากเลย พบว่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของผู้ชายที่มีอายุ 50 ปี ร้อยละ 30 ของผู้ชายอายุ 60 ปี และร้อยละ 40 ของผู้ชายอายุ 70 ปี ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากโดยที่มิได้คาดคิด
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยมากในผู้ชายที่อายุน้อยละ 45 ปี เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องชายเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น อาหารที่มีไขมันสูงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนผัก และผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

กลไกการก่อมะเร็ง

1. มะเร็งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วยสารเคมีที่ได้รับ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นอาจได้โดยการบริโภคเป็นอาหาร หรือจากการปนเปื้อน และจากสิ่งแวดล้อม
2. สารเคมีเกือบทั้งหมดสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการก่อมะเร็งได้โดยตรง สารเคมีบางชนิดมักต้องถูกเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในรูปที่ว่องไวทำปฏิกิริยาก่อน จึงจะสามารถทำปฏิกิริยากับโมเลกุลร่างกาย
3. การเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของสารก่อมะเร็งที่ยังไม่มีฤทธิ์ มักอาศัยเอนไซม์ในกลุ่มเอนไซม์เปลี่ยนแปลงยา ที่สำคัญคือ cytochrome P450 (CYP)
4. การก่อมะเร็งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อนมาก จากการศึกษาในสัตว์ทดลองทำให้สามารถแบ่งระยะการเกิดมะเร็งเป็นอย่างน้อย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มก่อตัว ระยะส่งเสริม และระยะก้าวหน้า แต่ละระยะมีคุณลักษณะและการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน เช่น การเกิดมิวเตชัน การเปลี่ยนแปลงวิถีการส่งสัญญาณภายในเซลล์ การแสดงออกของยีนและความว่องไวต่อปัจจัยสนับสนุนหรือยับยั้งแตกต่างกัน
5. ในระยะเริ่มก่อตัว สารก่อมะเร็งมักถูกเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มเอนไซม์เปลี่ยนแปลงยาให้ได้สารว่องไวปฏิกิริยา ก่อนที่จะทำปฏิกิริยากับชีวโมเลกุลสำคัญภายในเซลล์ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ DNA ในขั้นตอนต่อไป
6. เซลล์ที่มีสารพันธุกรรมที่ผิดปกตินั้น จะได้รับการซ่อมแซมถ้าให้เวลาเพียงพอที่ระบบเอนไซม์ซ่อมแซม DNA จะแก้ไขได้ ในขั้นตอนนี้ถ้าร่างกายได้รับสารเคมีที่ส่งเสริมให้เซลล์ผิดปกติเหล่านี้คงอยู่ต่อไปหรือเพิ่มจำนวนขึ้น จะทำให้เซลล์มีโอกาสทวีความผิดปกติในการผ่าเหล่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขีดหนึ่งที่เซลล์ผิดปกตินั้นสามารถดำรงอยู่ได้อิสระหลุดพ้นจากการควบคุมของเซลล์ข้างเคียงหรือของร่างกาย

อาหารป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

– อาหารจำพวกผัก
– ไลโคพีน (lycopene)
– วิตามินอี
– ซีลีเนียม
– สังกะสี
– ซัลโฟราเฟน (sulforaphane)
– เบต้า-ซิโตสเตอรอล (beta-sitosterol)
– ซอพัลเมตโต (saw palmetto)

อาหารจำพวกผัก

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารจำพวกผักช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักใบเขียว และผักในกลุ่ม cruciferous vegetables ได้แก่ บรอคโคลี ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี

ไลโคพีน

1. จากการศึกษาวิจัย พบว่าผู้ที่รับประทานมะเขือเทศปริมาณสูง จะมีระดับของสารต้านอนุมูลอิสระชนิด carotenoid lycopene สูงในเลือด สารดังกล่าวลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
2. ไลโคพีน (lycopene) เป็นสารในตระกูลแคโรทีนอยด์ (carotenoid) พบมากในมะเขือเทศแดงสด ซอสมะเขือเทศ แตงโม และฝรั่งขี้นกที่มีเนื้อสีชมพูอมแดง
3. ผู้ป่วยเตรียมผ่าตัดต่อมลูกหมากที่ได้รับประทานซอสมะเขือเทศในปริมาณสูงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าระดับไลโคพีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ลดความเสียหายของเซลเม็ดเลือดขาวและเซลต่อมลูกหมาก รวมทั้งลดระดับของสารพีเอสเอในเลือดอีกด้วย
4. มะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ มากมาย และเป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับวิตามินซี วิตามินเค แร่ธาตุโปแตสเซียม และโบรอน สารอาหารในมะเขือเทศที่ได้รับความสนใจ คือ สารไลโคพีน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ และช่วยในการป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย
5. สารไลโคพีนมีประสิทธิภาพเหนือว่าสารเบต้าเคโรทีน และสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์อื่นๆ ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และยังพบอีกว่าสารไลโคพีนสามารถช่วยลดโอกาสความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในต่อมลูกหมากได้มากถึงร้อยละ 20

ซัลโฟราเฟน

1. สารสำคัญ chemoprotective isothiocyanate sulforaphane พบมากใน cruciferous vegetables ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ปรากฏหลักฐานสนับสนุนจากการศึกษาวิจัยชนิด case–control study
2. ซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ออกฤทธิ์ป้องกันมะเร็งในสัตว์ทดลอง โดยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษสารก่อมะเร็ง carcinogen-detoxification enzymes ช่วยลดการทำลายเซลปกติ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจีโนมของเซลอันเป็นผลมาจากสารก่อมะเร็ง
3. ด้วยวิธีเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษสารก่อมะเร็ง carcinogen-detoxification enzymes สารซัลโฟราเฟนมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในทางอ้อม

สังกะสี
1. สังกะสี (zinc) เป็นแร่ธาตุที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเพศชาย มีมากในอาหารทะเล เช่น หอยนางรม เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญชนิดหนึ่ง
2. เบต้าซิโตสเตอรอล (beta-sitosterol) เป็นสารในตระกูลสเตอรอลในพืช มีสรรพคุณช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันต่อมลูกหมากโต พบมากในถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี น้ำมันข้าวโพด

วิตามินอีและซีลีเนียม

1. เป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง และถ้ารับประทานคู่กับแร่ธาตุซีลีเนียม (selenium) จะมีประสิทธิภาพดีมาก สกัดได้จากถั่วเหลืองในรูปของ d-alpha-tocopherol และยังมีวิตามินอี ที่มีคุณภาพด้อยกว่าแต่ราคาถูกเพราะสังเคราะห์จากปิโตรเลียมจะอยู่ในรูป dl-alpha-tocopherol
2. วิตามินอี และซีลีเนียมช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ซอพัลเมตโต

สมุนไพร Saw Palmetto เป็นเมล็ดของต้นปาล์มชนิดหนึ่งในแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีสรรพคุณดีมากในการป้องกันและบรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต เทียบเท่ากับยา finasteride (Proscar) แต่ไม่มีผลข้างเคียง

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top