สุขภาพผู้หญิง

“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก” วลี ยอดฮิต จะไม่จริงอีกต่อไป เพียงแค่คุณรู้จักการดูแลตัวเองที่ถูกวิธีเท่านั้น เราก็จะเป็นผู้หญิงที่มีสุขภาพดีและมีความสุขได้ไม่ยากลำบากอะไรเลย
เนื่องจากผู้หญิงมีความแตกต่างจากเพศชายอยู่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของ ร่างกาย ฮอร์โมนของระบบสืบพันธุ์ ความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้ผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากเพศชาย และในแต่ละช่วงอายุของผู้หญิงก็จะมีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไป

เมื่อกล่าวถึงปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยกลางคน หรือช่วงอายุ 45-60 ปี มีดังนี้

          1.ภาวะวัยทอง (Menopause) อายุเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วโลกจะเริ่มเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุ 45-55 ปี ส่วนในผู้หญิงไทยนั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 45-50 ปี การเข้าสู่วัยทองนั้นสังเกตได้จากประจำเดือนขาดต่อเนื่องกัน 12 เดือน ซึ่งเป็นผลจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่สร้างจากรังไข่นั้นลดลง ผลของภาวะวัยทองนั้นมีทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิง ผลทางร่างกายที่เห็นได้ชัดเจนคือภาวะกระดูกพรุน ซึ่งเกิดความเสี่ยงที่กระดูกจะหักง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางหลอดเลือดสูงขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น อาการทางกายอื่นๆที่พบได้ เช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่อออกตอนกลางคืน ปัสสาวะบ่อย มีอาการเจ็บในช่องคลอดขณะร่วมเพศ ส่วนผลต่อทางจิตใจนั้นก็เช่นทำให้หงุดหงิดง่าย มีอาการเครียดกังวลง่ายขึ้น
          2.โรคมะเร็ง มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง รองลงมาได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก การตรวจร่างกายประจำปีจึงเป็นส่วนสำคัญในการตรวจค้นหาโรคมะเร็งแทนการรอให้ มีอาการของโรคแสดงออกมา เนื่องจากระยะของโรคนั้นมีผลต่อผลลัพธ์ของการรักษา ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์มีการตรวจค้นหามะเร็งได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ Pap Smear หามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น การเอ็กซ์เรย์ปอดประจำปี การทำเอ็กซ์เรย์ปอดด้วยคอมพิวเตอร์สแกนในผู้ป่วยที่มีความเสียงของมะเร็งปอด สูง การส่องกล้องลำไส้เพื่อหามะเร็งลำไส้ เป็นต้น
          3.โรคเครียดและปัญหาการฆ่าตัวตาย เนื่อง ด้วยบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงวัยกลางคนนี้ ต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ตั้งแต่การเลี้ยงลูก การเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา ปัญหากับสามี การหย่าร้าง การเจ็บป่วยและสูญเสียบุคคลใกล้ชิดและญาติ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อสภาพจิตใจทำให้เกิดความเครียดได้ง่ายขึ้น เมื่อมาเจอกับภาวะวัยทองก็อาจทำให้ยิ่งแย่ลงไปได้อีกจนอาจเกิดเป็นโรคทาง สภาพจิตใจได้ง่ายขึ้นกว่าวัยอื่นๆ หากมีการปรับตัวรับมือกับความเครียดได้ไม่ดีก็เป็นการเพิ่มโอกาสการทำร้าย ตัวเองได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเพศชาย

image 75


ดังนั้นเมื่อเราได้รู้ถึงปัญหาสุขภาพที่เราจะเจอได้แล้วนั้น การดูแลสุขภาพและการป้องกันด้วยการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำ เป็นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายผู้หญิงในวัยกลางคน
เคล็ดลับดูแลตัวเองง่ายๆที่จะมาแนะนำในวันนี้ ได้แก่

          1.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันการเกิดโรคทางหลอดเลือดและโรคมะเร็ง ลดภาวะกระดูกพรุนและลดความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า จากการศึกษาของ The American Cancer Society พบว่าการออกกำลังกายระดับปานกลางจะช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันและป้องกันการ เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มมวลกระดูกซึ่งทำให้สามารถป้องกันภาวะ กระดูกพรุนได้อีกด้วย การออกกำลังกายที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ได้แก่ ออกกำลังกายระดับปานกลาง 5 ชั่วโมง/อาทิตย์ หรือออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ 2.5 ชั่วโมง/อาทิตย์ ร่วมกับออกกำลังกายแบบ Weight Training เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง/อาทิตย์

  • การออกกำลังกายในกลุ่ม Cardio Exercise เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง เดินเร็ว กระโดดเชือก แอโรบิค ปั่นจักรยาน
  • กลุ่ม Weight Training เช่น เล่นอุปกรณ์ยกน้ำหนักและอุปกรณ์ออกกำลังกายอื่นๆ พิลาทิส
  • กลุ่มเพิ่มความหยืดหยุ่นและทรงตัว เช่น โยคะ รำไทชิ รำไทเก๊ก เป็นต้น

2.การควบคุมอาหาร เป้าหมายคือปรับพฤติกรรมการกินโดยให้เลือกทานกลุ่มผัก ธัญพืช และโปรตีนที่ย่อยง่ายมากขึ้น เช่นปลา ลดการทานอาหารกลุ่มแป้ง น้ำตาลและไขมัน (ไขมันโดยเฉพาะ Trans Fat ที่พบมากจากไขมันสัตว์และน้ำมันพืชบางชนิด) เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะต้องการโปรตีนไปซ่อมแซมร่างกายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการควบคุมน้ำหนักที่ดีด้วย เพราะเมื่อน้ำหนักคงที่ ก็จะลดความเสี่ยงการเกิดเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและโรคอื่นๆอีกมากมาย

3.การตรวจคัดกรองโรคของผู้หญิงวัยกลางคนทั่วๆไปที่สำคัญ ได้แก่

  • ตรวจร่างกายทั่วไปประจำปี ตรวจเลือดดูภาวะซีด การทำงานของตับและไต เอ็กซ์เรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งจะมีเกณฑ์ตรวจแต่ละช่วงอายุต่างกันไป
  • การตรวจ Pap Smear ทุกปี หากไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 2 ปีก็จะเว้นระยะการตรวจห่างขึ้นได้ตามแต่แพทย์จะพิจารณา
  • การตรวจเต้านมด้วยตัวเองซึ่งแนะนำให้ทำทุกวัน และการเริ่มตรวจ Mammography หรือที่เรียกกันว่า แมมโมแกรม เมื่ออายุ 50 ปี (ในกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมจะตรวจที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ตามแพทย์เฉพาะทางแนะนำ)
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วยการส่องกล้องเมื่ออายุ 50 ปี
  • ตรวจมวลกระดูก (Bone Mass Density) โดยทั่วไปจะเริ่มตรวจเมื่อมีอายุ 65 ปี แต่หากเข้าสู่วัยทองในอายุน้อย เช่น ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออก ก็ควรได้รับการตรวจมวลกระดูกเร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป

เอกสารอ้างอิง

1.WHO, women’s health fact sheet N°334 , November 2009
2.Patricia D. Martin, Health and Fitness for Women Age 45-60 . Curriculum Development in occupational Education & Training July 24, 2000 . Southwest Virginia Community College
3.R.K. Pathak* and Purnima Parashar. Age at Menopause and Associated Bio-Social Factors of Health in Punjabi Women. The Open Anthropology Journal, 2010, 3, 172-180

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
ผู้เรียบเรียงบทความ : พญ. วีรนุช โรจน์ยินดีเลิศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ (Internal Medicine)
Tagsผู้หญิง Categoryสุขภาพและไลฟ์สไตล์ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงผู้หญิง

Scroll to Top