สิ่งที่ควรรู้เมื่อน้ำท่วม (ตอนที่ 1)

ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2554 มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน ทำให้ในหลายพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง อีกทั้งน้ำที่เอ่อท่วมจากลำน้ำ น้ำป่าไหลหลาก จนเขื่อนกั้นน้ำหลายแห่งต้องพังทลาย จนเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่สร้างความเสียหายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถบภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคกลาง หลายคนต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากิน มีการขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ยิ่งกว่านั้นความแรงของกระแสน้ำในครั้งนี้ยังทำให้ถนน และสะพานหลายแห่งเสียหายชำรุดจนไม่สามารถใช้การได้ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2554 มีพี่น้องประชาชนเดือดร้อนประมาณ 8.2 ล้านคน เสียชีวิต 283 ราย สูญหายอีก 2 ราย กระจายในพื้นที่ 600 อำเภอ 61 จังหวัดทั่วประเทศไทย ดังนั้นการเตรียมตัวป้องกันที่ดีเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ควรมีการเตรียมพร้อมและตื่นตัวอยู่ตลอด ตรวจสอบข้อมูลให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ จัดเตรียมอุปกรณ์ยังชีพที่จำเป็นเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป น้ำสะอาด และอุปกรณ์สื่อสารในกรณีฉุกเฉินเพื่อร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

         ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และแนวทางในการดูแลตัวเองเบื้องต้นกรณีที่ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมสำหรับพี่น้องประชาชน ซึ่งประกอบ ไปด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้

          1. ควรจะต้องเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันปัญหาที่มากับน้ำท่วมอย่างไร
          2. โรคติดต่อและอันตรายอะไรบ้างที่พบได้บ่อยในภาวะน้ำท่วม และจะป้องกันได้อย่างไร
          3. ในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้จะทำให้น้ำ และอาหารสะอาดและปลอดภัยได้โดยวิธีใดบ้าง
          4. ทำไมการล้างมือให้สะอาด และขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ จึงมีความสำคัญมากในภาวะน้ำท่วม
          5. สถานที่สำคัญที่ให้ข้อมูลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

         ก่อนอื่นคงจะต้องทราบกันก่อนว่าการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมจากทางหน่วยงานราชการเป็นอย่างไร การเตือนภัยจะแจ้งเป็นระดับของการเตือนภัยครับ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามระดับความรุนแรงดังนี้

          1. ภาวะปกติ เหตุการณ์อยู่ในภาวะปกติ หรือเป็นพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
          2. การเฝ้าระวังน้ำท่วม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในระหว่างการสังเกตูการณ์อย่างใกล้ชิด
          3. การเตือนภัยน้ำท่วม เป็นการเตือนว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้น
          4. การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง เป็นการเตือนว่าจะมีภาวะน้ำท่วมอยู่ในระดับที่รุนแรง

มีข่าวแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมแถวบ้านเราแล้ว จะต้องทำอะไรก่อนดี

          1. ตั้งสติ อย่าตกใจหรือกลัวจนขาดสติ ควรเตรียมตัว เตรียมใจรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และมีสติ โดย ควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
          2. ติดต่อหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องน้ำท่วม (ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย, www.thaiflood.com) ตรวจสอบให้ ชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้

  • บริเวณที่เราอาศัยอยู่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมมากน้อยเท่าไหร่
  • ในบริเวณนี้น้ำเคยท่วมสูงสุดมากแค่ไหน เพื่อเตรียมจัดทำคันดินกั้นน้ำโดยรอบและเตรียมกระสอบทรายเพื่อเสริมคันกันน้ำให้สูงขึ้น
  • เราจะทราบความเร็วของกระแสน้ำได้หรือไม่ หรือเรามีเวลาอีกนานเท่าไหร่ในการเตรียมตัวก่อนที่น้ำจะท่วม
  • จะรับทราบวิธีการเตือนภัยได้อย่างไร และเมื่อไหร่
  • เส้นทางไหนบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง และแนะนำให้เดินทางโดยวิธีใด

3. ติดตามรายงานของทางราชการอย่างต่อเนื่องและปฎิบัติตามคำเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
4. ศึกษาขั้นตอนในอพยพ ระบบการเตือนภัย เส้นทางการเคลื่อนย้ายในกรณีเร่งด่วน สถานที่ของศูนย์อพยพที่ใกล้เคียงพร้อมเบอร์ โทรศัพท์ติดต่อ และสามารถไปถึงได้เร็วที่สุด
5. ติดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ในโทรศัพท์ทุกเครื่อง สำหรับทุกคนในครอบครัวของคุณ พร้อมทั้งชาร์ตแบตเตอร์รี่ให้เต็ม
6. แจ้งทางหน่วยงานราชการกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ได้แก่ มีคนชรา หรือคนพิการอยู่ที่บ้าน
7. สำรวจสายไฟ ปลั๊กไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ ต้องรีบย้ายให้อยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน หรือปลดคัท เอ๊าท์ทันทีกรณีที่น้ำท่วมแล้ว และไม่ควรใช้งานจนกว่าจะตรวจสอบสภาพก่อน
8. เตรียมอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋องพร้อมกับที่เปิดกระป๋องสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ น้ำดื่มที่เก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทและ อุปกรณ์ทำน้ำให้สะอาด ได้แก่ เม็ดคลอรีน ไว้สำรองในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้
9. เตรียมภาชนะที่ปิดสนิทป้องกันน้ำเข้าเพื่อบรรจุอุปกรณ์ทำแผล ยาสำหรับโรคประจำตัว และยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาทาแผล และยาแก้พิษจากการกัดต่อยของตะขาบ แมงป่อง งู และสัตว์อื่นๆ ที่หนีน้ำมาอาศัยอยู่ ในบริเวณบ้านของเรา
10. เตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉายสำรอง เทียนไข และไฟแชค ไว้กรณีไฟฟ้าดับ
11. เตรียมวิทยุพร้อมถ่านสำรอง เพื่อฟังติดตามข่าวสารและรายงานสภาพอากาศจากหน่วยงานราชการ
12. ถ้ามีรถยนต์ควรเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ในรถให้พร้อม และนำไปจอดในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
13. รองเท้าบู๊ต ถุงมือกันน้ำ กางเกงใน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก
14. ยาทากันยุง ยาฆ่าแมลง เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อป้องกันยุง หรือแมลงกัดต่อยที่มาจากน้ำท่วมขัง

ท่วมแล้ว น้ำท่วมบ้านแล้ว จะทำยังไงต่อดีละทีนี้ ตั้งสติเหมือนเดิมแล้ว สูดหายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ แล้วควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. ปลดคัทเอ๊าท์ และสำรวจปิดแก๊สหุงต้มทุกจุดในบ้าน อยู่ในอาคารที่แข็งแรงและสูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
2. หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำ แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นนะครับ และทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
3. อย่าขับขี่รถฝ่ากระแสน้ำ
4. ระวังสัตว์มีพิษ ที่หนีน้ำท่วมมาอาศัยอยู่บนบ้าน บนหลังคากัดต่อย ได้แก่ ตะขาบ แมงป่อง งู
5. ติดตามเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดจากวิทยุ หรือโทรทัศน์ และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
6. เตรียมพร้อมอยู่เสมอสำหรับการเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์อพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิต คนในครอบครัวมากกว่าทรัพย์สินในบ้าน

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top