สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของชีวิต ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการให้คำแนะนำดังต่อไปนี้

อาหารที่ท่านรับประทานมีแร่ธาตุ และวิตามินเหล่านี้หรือไม่?

วิตามินดี

         มีการวิจัยว่าการขาดวิตามินดีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระดูกเปราะ ซึ่งจะทำให้หลังค่อมในผู้สูงอายุ กระดูกแตก เปราะ ดังนั้น นมเป็นแหล่งวิตามินดีที่ดีที่สุด

ธาตุเหล็ก

         ผู้หญิงมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีการเสียเลือดทุกเดือน จากการมีรอบเดือน ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็ก และหากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ท่านจะมีอาการเหนื่อยง่าย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ อาจทำให้เป็นโรคโลหิตจาง อาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ อาหารจำพวกเนื้อแดง ปลา ธัญพืช ผักขม พืชกระกูลถั่ว และผักต่าง ๆ แต่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกไทย มะเขือเทศ พืชจำพวกมะนาว กะหล่ำปลี และมันฝรั่ง

แคลเซียม

         เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ทำให้กระดูกแข็งแรง ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปจะสูญเสียมวลกระดูก 1% ทุกปี ซึ่งนำไปสูงสาเหตุของการเป็นโรคกระดูกเปราะ แต่หากท่านรับประทานแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน และ 1,500 มิลลิกรัมหลังวัยหมดประจำเดือน ก็จะช่วยทดแทนมวลกระดูกที่เสียไปได้

นม

เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด นมพร่องมันเนย 1 แก้ว ให้แคลเซียม 300 มิลลิกรัม นมเปรี้ยวพร่องมันเนย ปลาซาดีน ปลาแซลมอนติดกระดูกอ่อนก็เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม

ผัก ผลไม้ และธัญพืช

         อาหารเพื่อสุขภาพกลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ทั้งเพื่อป้องกัน และต่อสู้โรคร้าย ทุกวันนี้หลายท่านมีมุมมองในการรับประทานผักโดยคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก ผักมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่รับประทานกันแพร่หลาย ผักพื้นบ้านที่เราไม่คุ้นเคย ขอแนะนำผักพื้นบ้านที่หารับประทานได้ไม่ยาก อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการป้องกัน และรักษาโรค

          – กระชาย มีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่น และแก้อาการปวดมวนในท้อง เช่นเดียวกับโหระพา สารอาหารที่พบมากในราก และเหง้าของกระชาย คือ แคลเซียม และวิตามินเอ อาจใช้ราก และเหง้ากระชายมาต้มกับน้ำ ดื่มเพื่อขับลมได้โดยใช้ประมาณครึ่งกำมือ (น้ำหนักสด 5-10 กรัม, น้ำหนักแห้ง 3-5 กรัม)

          – กระเทียม มีสรรพคุณช่วยลดระดับไขมันในเลือด การรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือดในใบกระเทียมจะมีสารอาหารจำพวกวิตามิน และเกลือแร่ต่าง ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเบต้า-แคโรทีน

          – ขมิ้น มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งโรคกระเพาะอาหารได้ หากนำแง่งขมิ้นมาต้มกับน้ำ หรือคั้นน้ำผสมลงในอาหาร

          – ขิง น้ำขิงมีประโยชน์ช่วยรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด เพราะขิงจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ ช่วยขับลม เช่นเดียวกับตะไคร้ ส่วนคนที่มีอาการไอ หรือมีเสมหะมาก นำขิงมาฝนกับน้ำมะนาวผสมเกลือนิดหน่อย ใช้กวาดคอ จะช่วยบรรเทาอาการได้

          – ขี้เหล็ก เต็มไปด้วยแร่ธาติต่าง ๆ แกงขี้เหล็กใส่กะทิ มีสารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งร่างกายจะนำไปสร้างเป็นวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา เบต้า-แคโรทีนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด ซึ่งเบต้า-แคโรทีนจะมีประสิทธิภาพ เมื่อกินร่วมกับไขมัน ซึ่งมีมากในกะทินั่นเอง ใบขี้เหล็กช่วยให้เจริญอาหาร และเป็นยาระบายอ่อน ๆ รักษาอาการท้องผูก ป้องกันการเกิดนิ่ว ลดอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย

          – ชะอม เส้นใยในยอดชะอมช่วยป้องกันมะเร็ง ชะอม 1 ขีดให้ใยอาหาร 3.9 กรัม เมื่อรวมกับใยอาหารจากผักอื่นที่เรารับประทาน ใยเหล่านี้ช่วยให้ร่างกายปลอดภัยจากสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่นเดียวกับบาต้า-แคโรทีน ยอดผักเขียวเข้มของชะอมช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเช่นเดียวกับตำลึง และสะเดา

          – ใบแมงลัก ใบและลำต้น เมื่อกินสด ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ขับลม ขับเหงื่อ น้ำที่คั้นจากใบสดใช้กินแก้หวัด และหลอดลมอักเสบได้ ส่วนเมล็ด หากทานแบบไม่แช่น้ำประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ จะช่วยดูดซึมแก้โรคเบาหวานได้

          – มะเขือยาว รากและลำต้นใช้เป็นยาแก้บิดเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด เท้าเปื่อยบวมอักเสบ ปวดฟัน และแผลถูกความเย็นจัด ส่วนใบแก้ปัสสาวะขัด หนองใน ถ่ายเป็นเลือด ตกเลือดในลำไส้ แผลบวมอักเสบมีหนอง ส่วนดอกใช้แก้แผลมีหนอง และปวดฟัน ขั้นผลใช้เป็นยารักษาฝี แผลอักเสบ และแก้ปวดฟัน

          – พริกไทยอ่อน ให้พลังงาน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และมีเบต้า-แคโรทีน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดหัวปวดตามข้อ และแก้ท้องเสียได้

          – มันเทศ เป็นแหล่งแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก และฟัน ลดปัญหากระดูกพรุน ซึ่งมักเกิดขึ้นในหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีสารเบต้า-แคโรทีน และวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

          – ฟักทอง อุดมไปด้วยสารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งป้องกันมะเร็ง เนื้อฟักทองช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิต บำรุงตับ ไต นัยน์ตา ช่วยสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายไปให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

          – บัวบก ใบบัวบกใช้สมานแผลภายนอก สารสกัดจากผลแห้งใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้แผลหาย ช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย เสริมสร้างความจำ และสมองทำงานได้ดี นอกจากนี้ยังบำรุงหัวใจ ลดอาการแพ้ ลดความดันเลือด

          – สะระแหน่ มีสารเบต้า-แคโรทีน และวิตามินซี ช่วยรักษาอาการหวัด

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top