วางแผนรักษามะเร็งที่ลิ้น

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่ลิ้น ขั้นตอนต่อไปก็คือการวางแผนการรักษาโดยทั่วไป แผนการรักษามะเร็ง ประกอบไปด้วยการผ่าตัด การให้รังสีรักษา การให้เคมีบำบัด โดยอาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้หลายๆ วิธีร่วมกันไป การจะเลือกใช้วิธีใดนั้นแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

          1. ปัจจัยเรื่องโรคมะเร็ง โดยพิจารณว่า เป็นเซลมะเร็งชนิดใด มะเร็ง อยู่ในระยะใด (ปกติ มะเร็งแบ่งเป็น4 ระยะ ระยะที่หนึ่งเป้นน้อยที่สุด ระยะที่สี่เป็นมากที่สุด)

          2. ปัจจัยเรื่องสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย มีโรคประจำตัวใดๆ หรือไม่ หรือพร้อมที่จะรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ รับประทานยาอะไรที่อาจมีผลต่อการให้การรักษาหรือไม่

          3. ปัจจัยเรื่องแพทย์ที่ให้การรักษา เช่นแพทย์ที่จะรักษามีความสามารถในการผ่าตัดด้านต่างๆ ดีหรือไม่เครื่องมือที่ใช้ในการให้รังสีรักษาเหมาะสมหรือไม่ทีมงานในการให้การรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดการที่จะทำให้ได้ข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้น

          แพทย์จำเป็นที่จะต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่นการหาระยะของโรคอาจมีความจำเป็นในการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การเจาะเลือดเพื่อประเมินการทำงานของระบบต่างๆ การตัดชิ้นเนื้อตรวจการใช้เข็มเจาะดูดเพื่อเอาเซลไปตรวจ การตรวจอัลตรซาวด์ช่องท้องหรืออาจต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วย เช่นการทำ Pet/CT เป็นต้นเมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว จึงนำมาประกอบการพิจารณาในการวางแผนการรักษาดังนี้

          1. ตั้งวัตถุประสงค์ของการรักษา ว่าต้องการรักษาให้หาย หรือต้องการรักษาแบบประคับประคองอาการ เช่นผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย ที่มีการกระจายไปอวัยวะอื่นๆ แล้วการรักษา อาจมีจุดประสงค์เพียงแค่การประคับประคองอาการเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ทรมานจากโรคมะเร็งที่เป็นอยู่

          2. วางแผนว่าจะใช้วิธีใดในการรักษาบ้าง จะใช้วิธีเดียว หรือใช้แบบหลายวิธีร่วมกัน

สำหรับมะเร็งที่ลิ้น

          หากเป็นมะเร็งตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไปแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการใช้หลายวิธีร่วมกันเนื่องจากเป็นมะเร็งที่ค่อนข้างรุนแรง โอกาสเกิดใหม่รวมทั้งโอกาสของการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆค่อนข้างสูงแพทย์จะมักจะเลือกวิธีการผ่าตัดก่อนแล้วตามด้วยการรักษาด้วยการใช้รังสีรักษา ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไปพร้อมๆกันด้วยสำหรับมะเร็งที่ลิ้นในระยะแรก แพทย์อาจเลือกให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการให้รังสีรักษา อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป

การรักษาด้วยการผ่าตัด

          เป็นการรักษาที่นำเนื้อมะเร็งออกจากร่างกายได้เร็วที่สุดการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งจำเป็นที่จะต้องตัดเนื้อมะเร็งห่างออกจากขอบของมะเร็งที่มองเห็นด้วยตาออกไปโดยรอบประมาณ 1 เซ็นติเมตร เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตัดเนื้อมะเร็งออกไปทั้งหมดในคราวเดียว นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงการซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่ตัดออกไปเพื่อให้กลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม สำหรับลิ้นจะต้องคำนึงถึงหน้าที่ในการเคี้ยว และกลืนอาหาร รวมทั้งหน้าที่ในการพูดเพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

การรักษาด้วยการให้รังสีรักษา

          เป็นการให้สารกัมตภาพรังสี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลทำให้เซลมะเร็งซึ่งมักมีการแบ่งตัวเร็วอยู่แล้ว มีความผิดปกติเกิดขึ้นโดยทั่วไป เซลมะเร็งไม่ได้ตายทันทีที่ได้รับแสง แต่จะเกิดความผิดปกติภายในและเมื่อแบ่งตัว ก็จะทำให้เกิดเซลที่ผิดปกติมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆจนเซลที่แบ่งตัวตายไปในที่สุด ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้จะกินเวลาค่อนข้างนาน กว่าเซลมะเร็งจะตายหรืออาจมีอาการแทรกซ้อนจากผลของรังสี ที่จะไปทำลายเนื้อดีรอบๆ ด้วยอย่างไรก็ตาม การให้รังสีรักษามีข้อได้เปรียบที่ผู้ได้รับการรักษามักไม่มีความเจ็บปวดใดๆและยังสามารถเก็บรักษาอวัยวะนั้นไว้ได้ทำให้ไม่มีปัญหาของคุณภาพชีวิตมากนักในกรณีที่เป็นมากแพทย์มักเลือกการรักษาด้วยการใช้หลายวิธีร่วมกันและมักจะเลือกรักษาด้วยการผ่าตัดก่อน ตามหลังด้วยการให้รังสีรักษาด้วยเหตุผลหลายประการคือ

          1. การหายของแผลจะเป็นไปได้เร็วกว่า เนื่องจากหากให้รังสีรักษาก่อนการผ่าตัด จะทำให้การหายของแผลล่าช้าออกไป เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

          2. การผ่าตัด ทำให้รู้ชนิดของมะเร็งที่แน่นอน รู้ระยะของโรคที่แน่นอน รวมทั้งสามารถทราบแนวโน้มของการกระจาย โดยดูจากผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ที่จะบอกว่า มีแนวโน้มของการกระจายมายัง
ต่อมน้ำเหลือง หรือกระจายไปตามกระแสเลือดหรือไม่ ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสม และจำเพาะเจาะจงมากขึ้นได้

          จะเห็นว่า ก่อนการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ ความทันสมัยของเครื่องมือที่ใช้รวมทั้งทีมแพทย์ที่ให้การรักษา ก็เป็นสิ่งสำคัญการทำความเข้าใจวิธีการรักษา ข้อมูลด้านการรักษาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการรักษาด้วยวิธีต่างๆจะต้องนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยด้วย

          อ่านเรื่อง การรักษามะเร็งที่ลิ้นด้วยการผ่าตัด ในตอนต่อไป

นพ. สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรค หู คอ และ จมูก
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top