วัณโรค

วัณโรค (tuberculosis)เป็น โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมาก ติดต่อสู่มนุษย์โดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือมีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน แต่จะไม่ทนทานต่อแสงแดด โดยคนส่วนใหญ่มักคิดว่าวัณโรคเป็นโรคเกี่ยวกับปอด เพราะเป็นกันมากที่สุด แต่จริงๆ แล้ว วัณโรคเป็นได้กับอวัยวะหลายส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง วัณโรคปอดมักพบในคนแก่ หรือคนที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่นๆ มาก่อน เช่น หวัด หัด ไอกรน เอดส์ รวมถึงผู้ที่ติดยาเสพติด ผู้ที่ตรากตรำทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ขาดอาหาร ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นวัณโรค ทั้งนี้ในผู้ป่วยโรคเอดส์ วัณโรคเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ จุดนี้ก็ทำให้วัณโรคหวนกลับมาแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งวัณโรคแพร่กระจายได้รวดเร็ว เนื่องจากติดต่อได้ง่ายทางอากาศโดยระบบทางเดินหายใจ

          วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของบรรพบุรุษของเรามากกว่า 6 พันปี แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักโรคนี้ดีขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีนี้เอง จากการค้นพบเชื้อวัณโรค โดยโรเบิร์ต คอค นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน หลังจากนั้นจึงได้มีวิวัฒนาการในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคดีมากขึ้นเรื่อยๆ มาตามลำดับ ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคปอดที่เคยลดลง มีการแพร่กระจายมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อเข้ารับการรักษาควรต้องรับการรักษาให้จบขั้นตอนตามที่แพทย์ กำหนดโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นปัญหาลำบากในการรักษาต่อไป

วัณโรคปฐมภูมิ

          1.วัณโรคปฐมภูมิเกิดขึ้นในรายที่รับเชื้อวัณโรคในครั้งแรกซึ่งส่วน มากมักเกิดในเด็ก มีลักษณะต่างจากพวกที่เป็นหลังจากได้รับเชื้อมาก่อน คือ ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดจะเกิดโรคด้วย ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต และมีเนื้อตาย

          2.นอกจากจากเชื้อโรคกระจายไปในกระแสเลือดได้แล้ว ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไปสู่ทำให้เกิดรอยโรคครั้งแรกมักเป็นบริเวณเนื้อปอดที่ อากาศถ่ายเทได้มากที่สุด ได้แก่ ส่วนล่างของปอดกลีบบนและส่วนบนของปอดกลีบล่าง

          3.เมื่อเชื้อเข้าไปจะถูกจับกินโดยเซลล์มาโครฟาจ แต่ถ้าเชื้อไม่ตายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจกระตุ้นให้มีการอักเสบเฉียบพลัน นิวโตรฟิลเข้ามาจับกินเชื้อ จะฆ่าเชื้อไม่ตาย เชื้อโรคจะเจริญในเซลล์และถูกทำลายโดยนิวโตรฟิล ภายใน 24 ชั่วโมงจะมีมาโครฟาจเข้าทำปฏิกิริยารวมกลุ่ม เกิดเป็นรอยโรคในเนื้อปอด ซึ่งมักมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ประกอบไปด้วยเนื้อตายและมีสารเหลว

          4.รอยโรคนี้ส่วนใหญ่จะหายไปได้เอง ถ้าบริเวณเนื้อตายมีขนาดเล็ก อาจถูกกำจัดโดยมาโครฟาจที่อยู่รอบๆ และอาจแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อไฟบรัส แต่ถ้าบริเวณเนื้อตายมีขนาดใหญ่ 0.5 – 2 เซนติเมตร ก็อาจสงบอยู่โดยมีเนื้อเยื่อไฟบรัสล้อมรอบ หรือมีแคลเซียมมาอยู่บริเวณเนื้อตาย แต่มักมีเชื้อโรคที่มีชีวิตเหลือค้างอยู่และอาจกำเริบภายหลังได้

วัณโรคทุติยภูมิ

          1. การเกิดโรคหลังจากได้รับเชื้อมาก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อที่สงบอยู่ในอวัยวะต่างๆ จากการแพร่กระจายครั้งแรก เกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ส่วนน้อยเกิดจากการรับเชื้อเข้าไปใหม่ การกำเริบของรอยโรคเดิมครึ่งหนึ่งเกิดภายใน 2 ปีหลังการติดเชื้อครั้งแรก มักตามหลังการมีภูมิคุ้มกันลดลงในบางภาวะ อาจเป็นจากรอยโรคที่เนื้อปอดหรือต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดก็ได้

          2. รอยโรคที่เนื้อปอดมักเป็นบริเวณขั้วปอด เนื่องจากบริเวณนี้มีความดันออกซิเจนสูง รอยโรคต่างจากพวกวัณโรคปฐมภูมิ มักไม่มีการกระจายไปหลอดน้ำเหลือง จึงไม่เห็นหลอดน้ำเหลืองที่ขั้วปอดโต

          3. การดำเนินโรคขึ้นกับจำนวนเชื้อและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของ ร่างกายโฮสต์ บางครั้งรอยโรคอาจยังคงอยู่ หรือขยายขนาดใหญ่ขึ้น อาจเห็นเป็นก้อนขนาด 0.5 – 4 เซนติเมตร คล้ายก้อนเนื้องอก เรียกว่าทูเบอร์คิวโลมา

          4. วัณโรคปอดในกลุ่มนี้มักมีพยาธิสภาพที่เยื่อหุ้มปอดด้วย ส่วนมากเป็นชนิดมีไฟโบรซิส อาจพบเนื้อตายและทูเบอร์เคิล เชื้อโรคกระจายจากรอยโรคที่อยู่ใกล้เยื่อหุ้มปอด อาจพบสารน้ำในเยื่อหุ้มปอด

          5. ในรายที่แตกเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด อาจเกิดการอักเสบรุนแรง มีหนองเกิดขึ้น เชื้อในโพรงหนองมีจำนวนมาก เมื่อเข้าหลอดลมซึ่งปกติมีความต้านทานดีไม่ค่อยติดเชื้อง่าย ก็อาจทำให้เกิดพังผืดได้ ผนังหลอดลมส่วนนั้นหนาขึ้น ตีบ แคบ หลอดลมส่วนปลายอาจเกิดภาวะโป่งหรือเหี่ยวแฟบตามมา

          6. ถึงแม้ในพวกวัณโรคทุติยภูมิจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ถ้ารอยโรคปอดหรือที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด หรือเนื้อตายที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดดำกำเริบขึ้น อาจมีเชื้อโรคจำนวนมากลุกลามเข้ากระแสโลหิต เกิดเป็นโรคที่แพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆ ได้

สาเหตุ

          1. เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บางครั้งเรียกว่าเชื้อเอเอฟบี (AFB/Acid Fast Bacilli) เชื้อวัณโรคที่ตกลงสู่พื้นหรือติดอยู่กับผิวสัมผัสของวัตถุอื่นๆ จะถูกทำลายไปโดยง่ายโดยแสงสว่าง และอากาศที่ถ่ายเทสะดวก
          2วัณโรคแพร่ได้ด้วยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน เชื้อวัณโรคติดต่อจากคนไปคนผ่านทางละอองเสมหะที่เกิดจากการไอ จาม หรือ การใช้เสียง
          3.การที่ผู้ป่วยภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จะทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคได้ง่าย
          4.เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน
          5.เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้ ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นกับเด็กที่มีฐานะยากจน อยู่ในชุมชนแออัด ผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และตรวจไม่พบวัณโรคในปอดโดยภาพรังสีปอด จะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้โดยการทดสอบทูเบอร์คิวลินจะให้ผลบวก ผู้ป่วยวัณโรคในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อมาในระยะเด็ก
          6.ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดมีอาการของโรคได้แก่ การติดเชื้อในวัยทารก และในวัยหนุ่มสาว การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดยาเสพติด และโรคขาดอาหาร
          7.ระยะฟักตัว จากเมื่อแรกรับเชื้อจนถึงเมื่อให้ผลทดสอบทูเบอร์คิวลินเป็นบวกประมาณ 2-10 สัปดาห์ ระยะที่มีโอกาสเกิดอาการของโรคได้มากที่สุดคือ ในสองปีแรกหลังติดเชื้อโดยทั่วไปแล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อที่เข้าไปจะ ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ โดยไม่ทำให้เกิดอาการของโรค ถ้าร่างกายอยู่ในสภาพที่แข็งแรงดี ถ้าสุขภาพทรุดโทรมลงหรือมีภาวะเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เชื้อที่สงบนิ่งอยู่ก็จะออกมาทำให้เกิดอาการของโรคได้ ในระยะห่างจากการได้รับเชื้อเข้าไปเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
          8.วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Mycobacterium หลายชนิดที่พบบ่อยที่สุดและเป็นปัญหาในประเทศไทย คือ M. tuberculosis สำหรับ M. afaricanum พบได้ในแถบแอฟริกา ส่วน M. bovis นั้นมักก่อให้เกิดโรคในสัตว์ซึ่งอาจติดต่อมาถึงคนได้โดยการบริโภคนมที่ไม่ ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกเหนือจากเชื้อ Mycobacterium 3 ชนิดข้างต้นแล้ว เราอาจพบ Mycobacterium ชนิดอื่นได้ในธรรมชาติ เชื้อเหล่านี้เดิมมีชื่อเรียกว่า Atypical Mycobacterium และ Mycobacterium other than Tuberculosis (MOTT) ในปัจจุบันเรียกว่า Nontuberculosis Mycobacterium (NTM) อย่างไรก็ตามหากเชื้อเหล่านี้ก่อโรคในคนแล้ว มักจะมีปัญหาในเรื่องการรักษาด้วยยาวัณโรคทั่วๆ ไป

อาการ

          1.ไอ ระยะแรกๆ ไอแห้งๆ ไอนานกว่า 3 อาทิตย์ ต่อมาอาจจะมีเสมหะร่วมด้วย เจ็บชายโครงขณะไอ บางรายเป็นมากเสมหะจะเหนียวมีสีเขียวกลิ่นเหม็น ถ้าไอมากๆ บางครั้งมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย ทำให้เสมหะเป็นสีน้ำตาลหรือแดง อาจพบหายใจลำบากร่วมด้วย
          2.ไข้ เป็นอาการตั้งแต่เริ่มแรก และมีความสำคัญที่จะชี้ถึงความรุนแรงของโรค เมื่อเป็นน้อยๆ ไข้ไม่สูง มักมีไข้ตอนบ่าย แต่ถ้าได้พักผ่อนมากๆ ไข้จะหายไปเอง ลักษณะของไข้จะขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปแต่ละวัน มีไข้ต่ำๆ
          3.อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงเล็กน้อย อาการดังกล่าวจะมากขึ้น นับแต่เริ่มเป็นจนกระทั่งเป็นมากขึ้น ไม่มีแรงเมื่อทำงานเล็กๆ น้อยๆ
          4.น้ำหนักตัวลดลง โดยเฉพาะในรายที่โรคกำลังเป็นมากขึ้น หรือรุนแรงมักจะผอมซีด
          5.เหงื่อออกผิดปกติในตอนกลางคืน อาจจะมีตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นวัณโรค โดยเฉพาะระยะที่มีไข้
          6.เบื่ออาหาร บางรายพบว่า การย่อยอาหารไม่ปกติ โดยผู้ป่วยจะให้ประวัติว่ามีท้องเสียบ่อยๆ หรือมีคลื่นไส้อาเจียน
          7.ไอมีเลือดปน เลือดมักออกเวลาไอ อาจออกเพียงเล็กน้อย บางครั้งออกเป็นเลือดสดๆ

อาการแทรกซ้อน

          1.อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในปอด ภาวะมีน้ำในช่องหุ้มปอด วัณโรคต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยที่ข้างคอ อาจโตเป็นก้อนร่วมกับไข้เรื้อรัง หรือโตต่อกันเป็นสายเรียกว่าฝีประคำร้อย ไอเป็นเลือดรุนแรงถึงกับช็อก
          2.ที่พบได้น้อยลงไป ได้แก่ วัณโรคกระดูก มักพบที่กระดูกสันหลัง มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่ง และกดเจ็บ วัณโรคลำไส้ มีอาการไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดินเรื้อรัง ซูบผอม ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องที่ทำให้ท้องมานได้ วัณโรคไต วัณโรคกล่องเสียง เสียงแหบ เป็นต้น
          3.วัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กโตจะเริ่มด้วยอาการเป็นไข้ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึมมากจนถึงไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการชัก มีอัตราตายสูงและมีความพิการเหลืออยู่ถ้าได้รับการรักษาช้า
          4.วัณโรคของต่อมน้ำเหลือง จะมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบโต และบางรายจะโตมากจนมีแผลแตกออกมา มีหนองข้นไหลออกมา เป็นแผลเรื้อรัง อาจจะลุกลามมีต่อมน้ำเหลืองโตติดๆ กันหลายเม็ดถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านวัณโรคโดยเนิ่นๆ แผลจะไม่หาย

การวินิจฉัย

          1.การซักประวัติตรวจร่างกาย
          2.การตรวจเสมหะด้วยวิธีย้อมเชื้อ การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยวัณโรคปอด มีความไวไม่มากนัก แต่ก็มีความจำเพาะสูงมาก การตรวจควรกระทำในผู้ที่มีอาการสงสัยทุกราย รวมถึงผู้ที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคนอกปอด ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยวัณโรคนอกปอดมักเป็นวัณโรคปอดร่วมด้วย การตรวจเสมหะควรตรวจอย่างน้อย 3 ครั้ง เพราะหากตรวจน้อยกว่านี้อาจผิดพลาดในการวินิจฉัยผู้ป่วยระยะแพร่กระจายบาง รายได้
          3.การถ่ายภาพรังสีทรวงอกซึ่งแสดงถึงรอยโรคของวัณโรค พบได้หลายลักษณะด้วยกัน เช่น เป็นตุ่ม เป็นปื้น เป็นแผลโพรง เป็นเส้นๆ หรือเป็นจุดเล็กๆ กระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง มักถือเป็นหลักโดยทั่วไปว่า เมื่อพบรอยโรคในภาพรังสีปอดในผู้ป่วยคนไทยไม่ว่าลักษณะใด จะต้องแยกโรคจากวัณโรคด้วยเสมอ รอยโรคของวัณโรคปอดอาจพบข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ รอยโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่า โรคยังกำเริบอยู่ รอยโรคที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาห่างกันตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แสดงว่าโรคเข้าสู่ระยะสงบ รอยโรคที่เป็นโพรงแสดงว่ามีเชื้อวัณโรคเป็นจำนวนมาก รอยโรคที่แคลเซียมเกาะแสดงว่าโรคสงบแล้ว
          4.การเพาะเชื้อจากเสมหะเป็นการตรวจที่มีความจำเพาะสูงสุด ถือเป็นมาตราฐานการวินิจฉัยวัณโรค ในกรณีที่ผลการตรวจเสมหะด้วยวิธีย้อมเชื้อเป็นบวกทั้ง 2 ครั้ง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะส่งเพาะเชื้อ บางครั้งอาจตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะ แต่ผลเพาะเชื้อกลับปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจได้รับยารักษาวัณโรคอยู่ก่อนแล้ว หรือเสมหะที่นำไปเพาะเชื้อมีการติดเชื้อปนเปื้อนของภาชนะและอาหารเลี้ยง เชื้อ
          5.การเพาะแยกเชื้อจากน้ำล้างกระเพาะในตอนเช้ามีประโยชน์ในการ วินิจฉัยโรคในเด็ก ทั้งนี้เพราะเด็กมักจะกลืนเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคลงในกระเพาะอาหารในเวลากลาง คืน เช่นเดียวกับการเพาะเชื้อจากน้ำในเยื่อหุ้มปอด หรือน้ำไขสันหลังในรายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อวัณโรคเจริญเติบโตช้า การเพาะเชื้อต้องใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์ ปัจจุบันมีวิธีที่อาจใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น
          6.การทดสอบทูเบอร์คิวลิน ผู้ป่วยวัณโรคร้อยละ 93 จะให้ผลบวกต่อการทดสอบทูเบอร์คูลิน วิธีฉีดเข้าผิวหนังยังคงถือเป็นวิธีมาตรฐาน และถือปฏิกิริยาขนาด 10 มิลลิเมตรขึ้นไปเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าติดเชื้อวัณโรค ปฏิกิริยาเล็กกว่านี้อาจเป็นผลจากการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียชนิดอื่น หรือจากการฉีดวัคซีน การทดสอบทูเบอร์คิวลินเป็นวิธีทดสอบทางผิวหนังที่ทำได้ง่ายที่สุดในการตรวจ สภาวะของการติดเชื้อวัณโรคในผู้ที่ไม่มีอาการ การทดสอบที่ให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อวัณโรค โดยทั่วไปแล้วในเด็กส่วนใหญ่หลังจากได้รับเชื้อแล้ว 3-6 สัปดาห์ จึงจะให้ปฏิกิริยาทูเบอร์คิวลินเป็นบวก บางรายอาจนานถึง 3 เดือนได้ และปฏิกิริยาบวกนี้จะคงอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะได้ยารักษาวัณโรคแล้วก็ตาม

การรักษา

          1.การรักษาวัณโรคในช่วง 2 เดือนแรก จะใช้ยาร่วมกัน 3-4 ชนิด หลังจากนั้นจึงลดยาเหลือ 2 ชนิดเป็นเวลาต่อไปทั้งหมดรวม 6-9 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้ ทำให้การรักษาอาจจะต้องนานไปเป็น 12-18 เดือน
          2.นิยมให้ยารับประทานรวมกัน เวลาเดียวก่อนนอน การใช้ยาเพียงชนิดเดียวมักจะรักษาไม่ได้ผล ยาที่ใช้รักษาวัณโรคจึงมีสูตรให้เลือกอยู่หลายแบบ
          3.ภายหลังให้การรักษา อาการต่างๆของผู้ป่วยจะค่อยๆดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ และจะดีขึ้นจนเห็นได้ชัดเจน ใกล้เคียงปกติภายในระยะ 2 เดือน ยกเว้นผู้ป่วยที่เชื้อดื้อยาวัณโรคเป็นรุนแรง หรือเป็นโรคมานานและได้รับการรักษาช้า
          4.ผู้ที่เป็นวัณโรคในระยะที่เริ่มการรักษา โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรก จึงควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กและคนชรา และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่สาธารณะที่ผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานานโดย เฉพาะถ้าเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องแยกข้าวของเครื่องใช้ในกิจวัตรประจำตัวจากคนอื่น หลังจากทำการรักษาจนอาการไอหายไปแล้ว ยิ่งถ้าแพทย์ตรวจเสมหะซ้ำแล้วว่าไม่พบเชื้อวัณโรค ก็จะปลอดภัยเพียงพอที่จะมีกิจกรรมทางหน้าที่การงานและทางสังคมได้ตามปกติ
          5.ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่ได้ผลดีหลายชนิด การรักษาจะให้ยาร่วมกันอย่างน้อย 3-4 ชนิด เพื่อลดอัตราการดื้อยาและเพิ่มประสิทธิภาพของยา ยาที่ใช้ได้แก่ Streptomycin, Pyrazinamide, Rifampin, Isoniazid, Ethambutol
          6.การรักษาจะได้ผลดีถ้ามารับการรักษาเสียแต่ระยะเริ่มแรก และจะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และจะต้องดูแลให้พักผ่อนและให้อาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไวตามิน เพื่อช่วยเพิ่มความต้านทานโรค

สาเหตุของการรักษาไม่ได้ผล

          1.สาเหตุที่สำคัญได้แก่การที่ผู้ป่วยได้รับยาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยรับยาไม่สม่ำเสมอไม่ครบตามตามกำหนดเวลาอันสมควร
          2.บางคนอาจมีการแพ้ยาเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดจากมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เช่นเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง
          3.สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาเต็มที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และการประเมินผลแสดงการรักษาไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนใช้ยาขนานใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อนอย่างน้อย 2 หรือ 3 ขนาน โดยอาศัยผลการทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค หรือการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาจนครบกระบวนการแล้ว โรคสงบไประยะหนึ่งแล้วกำเริบขึ้นใหม่
          4.การรักษาควรพิจารณาถึงสถานที่นั้นสามารถทดสอบความไวต่อยาของเชื้อ วัณโรคได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำการทดสอบได้อาจให้ยาเก่าที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อนและรอผลทดสอบ การต้านยาของเชื้อวัณโรค ถ้าไม่สามารถทำการทดสอบได้ควรใช้ยาใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อน 2-3 ขนาน
          5.การรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อนมีความยุ่งยากและปัญหามาก เนื่องจากต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพต่ำและผลแทรกซ้อนสูง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยวัณโรคปอด

          1.รับประทานยาสม่ำเสมอและมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อให้ผลการรักษาหายขาดและป้องกันเชื้อดื้อยา
          2.ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดจมูกและปากขณะไอหรือจาม
          3.เสมหะใส่ขวดหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิดแล้วเททิ้งให้เรียบร้อย
          4.ไม่จำเป็นต้องแยกเรื่องการกินอยู่จากสมาชิกในครอบครัว เพียงแต่ใน 2 สัปดาห์แรกที่รักษาพยายามหลีกเลี่ยงไม่คลุกคลีกับคนรอบข้างโดยเฉพาะเด็กและ คนชรา
          5.แนะนำให้สมาชิกในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดมารับการตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อให้การป้องกันสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือให้การรักษาสำหรับผู้ที่เริ่ม เป็นโรค
          6.งดดื่มสุรา เนื่องจากจะทำให้เกิดตับอักเสบจากยาที่ใช้รักษาได้ง่ายขึ้น
          7.หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน เนื่องจากจะได้ผลไม่แน่นอนเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคบางชนิด
          8.แจ้งให้แพทย์ทราบในกรณีจะต้องย้ายที่อยู่ เพื่อทำการส่งไปรักษาต่อใกล้บ้าน จะทำให้ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นวัณโรค

          1.กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด และไปพบแพทย์ตามนัดทุก ครั้ง
          2.เมื่อกินยาไปประมาณ 2 สัปดาห์ อาการไอและอาการต่างๆ จะลดลง รู้สึกว่าอาการดีขึ้น แต่เชื้อวัณโรคยังไม่หมดไป อย่าหยุดยากินเองเป็นอันขาด
          3.ควรงดเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรม
          4.ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
          5.บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด ทำลายเสมหะโดยนำกระป๋องไปตั้งไฟให้เดือดอย่างน้อย 5 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค
          6.ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยวัณโรคปอดควรได้รับการตรวจเสมหะและภาพรังสีทรวงอก
          7.สามารถกินยารักษาวัณโรคร่วมกับยาอื่นๆ ได้
          8.กินอาหารได้ทุกชนิด ไม่มีของแสลงต่อโรค

สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย

          1.จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ในวาระวัณโรคโลก ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2552 มีการระบุว่าทวีปเอเชียมีผู้ป่วยวัณโรคมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คิดเป็นร้อยละ 55 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับที่ 18 โดยมีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคใหม่ปีละประมาณ 90,000 ราย แต่ยังโชคดีที่ว่าอัตราการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายชนิดในผู้ป่วยรายใหม่ ของประเทศไทยยังต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าเป็นภาวะวิกฤติของประเทศนั้นๆ แต่ถ้าเจาะเป็นรายภูมิภาคหรือประชากรกลุ่มของประเทศ อัตราการติดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายชนิดในผู้ป่วยรายใหม่สูงเกินจุดวิกฤติใน บางพื้นที่ เช่น จังหวัดชายแดนประเทศพม่า หรือ กลุ่มประชากรในทัณฑสถาน เป็นต้น
          2.ในจำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดของประเทศไทย ประมาณร้อยละ 10 เป็นวัณโรคที่เกิดขึ้นในอวัยวะอื่นๆ นอกปอด ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มปอด ฯลฯ ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคนอกปอดแม้ว่าจะให้การวินิจฉัยยากกว่า แต่ไม่ถือเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเทียบกับวัณโรคปอด เนื่องจากเกิดการติดต่อไปสู่คนรอบข้างได้น้อยกว่ามาก ในบรรดาคนที่เป็นวัณโรคปอดนั้นประมาณร้อยละ 60 ตรวจพบเชื้อวัณโรคด้วยการย้อมหรือเพาะเชื้อจากเสมหะ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความสำคัญในแง่การควบคุมโรค เนื่องจากเป็นแหล่งกระจายเชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้างได้โดยง่าย
          3.หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการค้นหาผู้ป่วยราย ใหม่ ขึ้นทะเบียนผู้ป่วย ให้การรักษาและติดตามผลจนครบกำหนด รวบรวมประเมินผลการรักษา และติดตามสถานการณ์โยรวมของทั้งประเทศ ปัจจุบันนี้อัตราการรักษาวัณโรคจนครบกำหนดของผู้ป่วยในประเทศไทยยังคงอยู่ ที่แค่ร้อยละ 70 ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายคือร้อยละ 85 ที่เป็นจุดตัดสินว่าสถานการณ์วัณโรคของประเทศนั้นๆ ควบคุมได้ กลยุทธ์สำคัญที่นำมาใช้ช่วยส่งเสริมให้การรักษาเป็นไปตามแผนคือ การให้ผู้ป่วยรับประทานยาภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครหรือผู้นำในชุมชน หรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง
          4.ในด้านของสมาชิกของสังคมแวดล้อมผู้ป่วย จะต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัณโรค โดยต้องเข้าใจว่าปัจจุบันโรคนี้ไม่ได้น่ารังเกียจตามความเชื่อเดิม ถ้ามีการป้องกันที่เหมาะสมโรคก็จะติดต่อไปคนอื่นได้ยาก การรักษาก็ได้ผลดี ไม่ยุ่งยาก และราคาไม่แพง กรณีของผู้ที่เป็นนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ ควรให้ผู้ใต้ความดูแลที่เกิดเป็นวัณโรค ได้มีโอกาสหยุดพักตามสมควรและไปรับการรักษาสม่ำเสมอตามกำหนดของแพทย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มผลิตของหน่วยงานและประเทศ ได้อย่างดีต่อไป
          5.ปัญหาวัณโรคในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างวิกฤติ โดยคาดการณ์ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคราว 80,000-100,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้ติดเชื้อเอดส์ ประเทศไทยมีผู้ได้รับเชื้อวัณโรคแล้วประมาณ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 10 สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ ในการลดผู้ป่วยวัณโรคไม่ให้กลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขที่วิกฤติของประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 72,000 คนให้หายขาด ปัจจัยที่ทำให้เกิดวัณโรคคือความยากจนและการติดเชื้อเอดส์ ที่สำคัญปัญหาการรักษาวัณโรคคือเชื้อดื้อยาซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วย ไม่รักษาอย่างต่อเนื่องทำให้ป่วยซ้ำ โดยกลุ่มนี้มีอัตราสูงถึงร้อยละ 20

การป้องกัน

          1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังมีอาการไอและยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาวัณโรค
          2.ในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ที่ตรวจได้ผลทูเบอร์คิวลินบวก แพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกันนาน 2-3 เดือน และให้วัคซีนบีซีจี (BCG) ป้องกัน
          3.ในประเทศที่มีโรควัณโรคชุกชุม ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เริ่มให้วัคซีนตั้งแต่แรกเกิด โดยในประเทศไทยก็มีการให้วัคซีนบีซีจีนี้แก่ทารกเมื่อแรกเกิด
          4.ประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 90,000 รายแล้ว ยังมีผู้ป่วยที่ในเสมหะตรวจพบเชื้อปีละ 36,000 คน วัณโรคติดต่อโดยละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยจากการไอจาม ซึ่งกับบุคลากรทางการแพทย์ก็มีแนวโน้มสูงที่จะติดเชื้อ เพราะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
          5.การกระจายของเชื้อวัณโรคนั้นไปได้ไกลมากถึงประมาณ 10 เมตร เทียบกับการกระจายของเชื้อไข้หวัดซาร์ส ที่มีระยะกระจายของเชื้อเพียง 2 เมตร
          6.วิธีป้องกันเชื้อโรคในอากาศที่มีการรณรงค์ต่อประชาชนคือ การใช้หน้ากากอนามัย และดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top