บุหรี่

การสูบบุหรี่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยที่สำคัญปัญหาหนึ่งของโลกในปัจจุบัน โรคภัยอันเกี่ยวเนื่องมาจากการสูบบุหรี่อาจบั่นทอนและลดอายุของผู้สูบบุหรี่โดยเฉลี่ยแล้ว 5-10 ปี

ส่วนผสมที่เป็นอันตรายในควันยาสูบ

ควันยาสูบมีส่วนผสมของสารต่าง ๆ มากกว่า 4,000 ชนิด ส่วนผสมเหล่านี้มากกว่า 30 ชนิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สารมากกว่า 10 ชนิดทำให้เกิดมะเร็ง เช่น ทาร์ ฟินอล คริซอล และเบนโซไพรีน เป็นต้น อีก 10 กว่าชนิดเมื่อสูดเข้าไปจะเป็นพิษ และระคายเคืองต่อหลอดลม และถุงลม ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง

โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

1. โรคมะเร็งปอด เกิดจากสารมีพิษในบุหรี่ คือ “ทาร์” อัตราการตายด้วยโรคมะเร็งปอดในผู้สูบบุหรี่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ มีอัตราส่วนสูงกว่าถึง 10 : 1 หากแพทย์ตรวจพบเชื้อในระยะแรก และได้รับการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมดจะยังมีโอกาสหายขาดได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมาพบแพทย์ และวินิจฉัยได้ ระยะทำการรักษาหรือผ่าตัดให้หายขาดได้

2. โรคหัวใจ และหลอดเลือด เกิดจากสารนิโคตินในบุหรี่ ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ และอันตรายทำให้หัวใจ หลอดเลือด กระเพาะอาหาร ลำไส้ และระบบประสาททำงานผิดปกติ ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เกิดการระคายเคืองต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเกิดภาวะหลอดเลือดทั่วไปหดตัว อัตราการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดในชายที่สูบบุหรี่จะมีมากกว่าในชายที่ไม่สูงบุหรี่ประมาณร้อยละ 60-70 และในหญิงที่สูบบุหรี่ซึ่งรับประทานยาคุมกำเนิดด้วยจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากว่าหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ และไม่รับประทานยาคุมกำเนิดถึง 10 เท่า นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองอุดตันเป็นอัมพาต หลอดเลือดตามแขนขาอุดตันเป็นแผลตามผิวหนังจากการขาดเลือด และมีการสะสมของไขมันตามผนังของหลอดเลือดขนาดกลาง และใหญ่

3. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่พบบ่อยมากในผู้ชายมากว่าผู้หญิง และสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดโรคนี้ก็คือ การสูบบุหรี่ ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เหนื่อยง่าย เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางที่แพทย์จะรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเป็นมากขึ้นจะทำอะไรไม่ไหว แม้จะอาบน้ำหรือหวีผมก็เหนื่อย ต้องดมออกซิเจนรอความตายอย่างทรมานในระยะสุดท้าย ถ้าเลิกสูบบุหรี่ได้อาจทำให้อาการดีขึ้นแต่ไม่หายขาด

4. โรคแผลในกระเพาะอาหาร ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า ในพวกที่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้มีภาวะไม่สมดุลในการหลั่งของกรด และด่างในกระเพาะ

5. ผลร้ายต่อเด็กในครรภ์ และทารก มารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อเด็กทารกคือ

  • ทารกเล็กกว่าปกติ และน้ำหนักตัวเด็กเมื่อแรกเกิดต่ำกว่าเด็กที่มารดาไม่สูบบุหรี่
  • ระยะเวลาการตั้งครรภ์สั้นลง มีผลทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด และมีโอกาสเสียชีวิตได้มาก
  • อัตราการแท้งสูงขึ้น และค่อนข้างจะเรียนรู้ช้ากว่าปกติ
  • โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และคลอดบุตรเพิ่มขึ้น
  • มีความพิการแต่กำเนิด
  • การหลั่งน้ำนมจะลดคุณภาพของน้ำนม โดยมีสารเคมีซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องการไปสู่เด็ก

ดังนั้นการที่คนเราหายใจเอาควันบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา และหลอดลม ทำให้น้ำตาไหล และไอได้ แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ที่สูดควันบุหรี่เข้าไป ทำให้เกิดอันตรายเท่ากับเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เอง และที่ร้ายกว่านั้นการสูบบุหรี่ของบิดามารดาในบ้านอาจทำให้ลูกที่สูดควันบุหรี่โดยไม่ตั้งใจเกิดโรคทางปอด และสมรรถภาพปอดของเด็กเสื่อมได้

การเลิกบุหรี่

มิใช่เรื่องยากเกินความสามารถหากมีความตั้งใจจริง ควรปฏิบัติดังนี้

1. ตัดสินใจให้แน่วแน่คือ “ควรงดทันที มิใช่ลด”

2. พยายามทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียด

3. พยายามนึกถึงผลเสียหรือโทษของบุหรี่

4. ยึดมั่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เพื่อเป็นสิ่งช่วยเสริมกำลังใจ

ข้อแนะนำในระหว่างการเลิกสูบบุหรี่

1. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว ควรดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยกำจัดนิโคตินออกจากร่างกาย

2. งดน้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มี “คาเฟอีน” ตลอดจนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

3. ถ้ารู้สึกง่วงควรอาบน้ำ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า จะทำให้รู้สึกสดชื่น

4. อย่ารับประทานอาหารให้อิ่มจนเกินไปในระยะแรกของการเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด

5. รับประทานผัก และผลไม้ให้มากขึ้น แทนอาหารที่รับประทานอยู่เป็นประจำ

6. ออกกำลังกายให้เพียงพอ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top