กิน-อยู่ อย่างไรให้ห่างไกลอัมพฤกษ์ อัมพาต

อัมพฤกษ์-อัมพาต คือ โรคที่ผู้ป่วยมีอาการชา ไม่มีแรง หรือสูญเสียการใช้ของอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขน ขาไม่มีแรง ชา หรือยกแขน ขาไม่ได้ ถ้าเป็นมากอาจเป็นทั้งแขนและขา อาจหมดสติ หรือถึงกับเสียชีวิตได้ในทันที

สาเหตุของอัมพฤกษ์-อัมพาตมีมากมาย ตั้งแต่โรคของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอาจมีการตีบ อุดตัน หรือเลือดออก (เรียกว่า cerebrovascular diseases หรือ CVA หรือ stroke) แต่อาจจะเกิดจากโรคมะเร็ง หรือก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง หรืออาจจะเป็นโรคของเซลล์ประสาทเองก็ได้

ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง

image 14

ปัจจัยเสี่ยงของการที่หลอดเลือดจะตีบและอุดตัน (atherosclerosis) ก็คล้ายๆโรคของหลอดเลือดตีบและอุดตันทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดของหัวใจ กล่าวคือ พันธุกรรม เพศชายอายุ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน ไม่ออกกำลังกาย ความเครียด ซึ่งพยาธิสภาพของหลอดเลือดมักมีขึ้นตั้งแต่เกิด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย โดยทั่วๆไปแล้วก่อนที่จะมีอาการโดยเฉพาะที่หัวใจ หลอดเลือดมักต้องตีบ 50-75% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือด ทั้งนี้จะต้องมีการแตกของ “ก้อนไขมัน” ที่อยู่ใต้ผนังหลอดเลือดทำให้มีปฏิกิริยาและเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ฯลฯ

ผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตมักจะมีอาการขึ้นมาทันทีทันใด คือพูดไม่ได้ หรือ แขน ขาไม่มีแรง ชา หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ความผิดปกติอาจเป็นแค่นี้ หรือเป็นมากขึ้น หรือดีขึ้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว สาเหตุอาจเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ถ้าขาดเลือดเพียงไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาทีอาจทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ถ้าเลือดสามารถไหลได้ตามปกติในระยะเวลาที่รวดเร็วผู้ป่วยอาจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างครบถ้วน แต่ถ้าสมองขาดเลือดนานเกินไปเซลล์ของสมองอาจตายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ร่างกายจะไม่กลับคืนสู่สภาพเดิม ถ้าอาการมีนานกว่า 24 ชั่วโมงถือได้ว่าเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตแล้ว

การไหลน้อยของเลือดในหลอดเลือดสมองอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีความดันโลหิตต่ำ เช่น จากการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือจากการเสียเลือดและช็อก ถ้าหลอดเลือดสมองมีเลือดน้อยไปนานๆจะทำให้เกิดการตายของเซลล์สมองได้ ซึ่งจะนำไปสู่อัมพฤกษ์อัมพาต

อัมพฤกษ์-อัมพาต ยังเกิดได้จากการที่หลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกไปกดเซลล์สมองและมีอาการต่างๆตามมา เวลามีอัมพฤกษ์-อัมพาตเกิดขึ้นแพทย์จะต้องวินิจฉัยสาเหตุให้ได้ว่าเกิดจากโรคอะไร หลอดเลือด มะเร็ง หรือโรคทางเส้นประสาทเอง ถ้าเป็นโรคของหลอดเลือดเอง ต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นการตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดแตก เพราะการรักษาไม่เหมือนกัน ถ้าวินิจฉัยและรักษาผิดอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้

การตีบของหลอดเลือดมักเกิดจากมีไขมันไปเกาะที่ใต้ผนังของหลอดเลือดใหญ่ที่อยู่นอกสมอง ไขมันนี้อาจหลุดและไหลไปอุดตันในหลอดเลือดที่เล็กกว่าในสมองทำให้เกิดอาการได้ หรือหลอดเลือดในสมองอาจมีการอุดตันเอง ผู้ป่วยอาจมีอาการเตือนมาก่อน คือ แขนขาไม่มีแรง แต่เป็นเพียงชั่วครู่ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย รักษาที่ถูกต้องอาจจะเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ในโอกาสต่อมา

การอุดตันของหลอดเลือดสมองอาจมาจากก้อนเลือด(หรือไขมัน)ที่หลุดมาจากหัวใจหรือหลอดเลือดอื่นได้ ซึ่งในกรณีนี้อาการของอัมพฤกษ์-อัมพาตมักเป็นมากทันทีที่เกิดอาการ

การป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตคือ การหาปัจจัยเสี่ยง คือความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง บุหรี่ อ้วน ไม่ออกกำลังกาย และความเครียด ฉะนั้นทุกๆคนจึงควรหมั่นวัด

image 15

1.ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตมี 2 ระดับ
ระดับบนเรียกว่า systolic ซึ่งไม่ควรสูงเกินกว่า 135 mmHg
ระดับล่างเรียกว่า diastolic ไม่ควรสูงเกินกว่า 85 mmHg
2.เบาหวาน ควรวัดน้ำตาลในเลือดซึ่งควรอยู่ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม% ถ้าอยู่ระหว่าง 100-126 ถือว่าเป็นว่าที่เบาหวาน ถ้าสูงกว่า 126 ถือว่าเป็นเบาหวาน
3.ไขมันในเลือดสูง ต้องวัดไขมันในเลือด หา total cholesterol, triglyceride และ HDL ซึ่งไขมัน 2 ตัวแรกเป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากไป ส่วน HDL ยิ่งสูงจะยิ่งดี จะป้องกันโรคหลอดเลือดตีบและอุดตัน

  • total cholesterol ไม่ควรสูงเกิน 200 มิลลิกรัม%
  • triglyceride ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม%
  • HDL ควรสูงกว่า 50 มิลลิกรัม% ในชายและ 60 ในหญิง
  • อัตราส่วนของ cholesterol ต่อ HDL ในชายควรต่ำกว่า 5 ในหญิงควรต่ำกว่า 4.5
  • ไขมัน LDL (low density liproprotein) ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดี ควรจะต่ำกว่า 130 มิลลิกรัมในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจ แต่ผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจหรือเป็นเบาหวาน (ถึงแม้จะยังไม่เป็นโรคหัวใจ) LDL ควรต่ำกว่า 100โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูงควรได้รับการตรวจ วินิจฉัย รักษาภายใต้การควบคุมของแพทย์ แต่หลักการคือ ออกกำลังกายที่เหมาะสม และรับประทานอาหารที่เหมาะสม
image 16
  • การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ ต้องเป็นการออกกำลังกายที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและนานพอคือ 30-40 นาที ซึ่งต้องหนักพอคือให้หัวใจเต้นประมาณ 70% ของความสามารถสูงสุดที่หัวใจจะเต้นได้ (วิธีคำนวณความสามารถสูงสุดที่หัวใจจะเต้นได้คือ 220-อายุ (ปี) เช่น คนอายุ 60 ปี = 220-60 = 160 ครั้ง 70% ของ 160 คือ 112 ครั้งต่อนาที) แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่มีเครื่องวัดชีพจรอาจไม่ต้องวัด แต่ออกกำลังกายให้รู้สึกเหนื่อย หอบเล็กน้อย และมีเหงื่อออก ต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์วิธีการออกกำลังกายที่ดีคือการเดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ เต้นแอโรบิก ฯลฯ
  • การรับประทานอาหารที่เหมาะสมคือ การรับประทานหนักไปทางผัก ปลา ข้าว ผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงมันสัตว์ หนังสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง (ไม่ควรทานมากกว่า 3 ฟองต่อสัปดาห์) กะทิ ของหวาน น้ำหวานท่านควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และบอกลูกหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงให้ทำด้วย และถ้าเป็นไปได้ควรวัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาล ไขมันในเลือดด้วย เพราะการปฏิบัติตนเองเพียงแค่นี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตได้มากมาย และยังโรคอื่นๆด้วย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง กระดูกพรุน โรคมะเร็งบางชนิด อาการปวดหลัง ฯลฯ

การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดีกว่ารอให้เป็นแล้วจึงรักษาครับ ได้ผลดีกว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

นพ. วัชรพงศ์ ชูศรี
ประสาทวิทยา
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top