การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

บุหรี่เป็นมัจจุราชเงียบที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างมากต่อผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งในความหมายนี้ก็คือ บุหรี่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ทุกคนในโลกนั่นเอง เพราะถ้าอันตรายของบุหรี่มีผลต่อคนสูบบุหรี่เท่านั้นก็คงมิทำเนา เพราะคนสูบบุหรี่เป็นผู้สมัครใจสูบเอง แต่เพราะการสูบบุหรี่มีผลต่อคนรอบข้าง ที่ไม่สูบบุหรี่ด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังเพื่อการไม่สูบบุหรี่

การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในปัจจุบันของประเทศไทย มีวิธีการหลัก ๆ อยู่ 2 ประการคือ

1. การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่โดยการประชาสัมพันธ์พิษภัยของบุหรี่ กระตุ้นเตือนและเพื่อช่วยเหลือให้ กำลังใจแก่ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่สูบบุหรี่ในการเรียกร้องสิทธิ์ที่ถูกริดรอนจากคนสูบบุหรี่ ซึ่งจัดดำเนินการทั้งหน่วยงานของทางราชการและภาคเอกชน
สำหรับหน่วยงานของราชการได้แก่ สถาบันควบคุมบริโภคยาสูบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวเรือใหญ่ในการรณรงค์พร้อมกับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่น ๆ
ส่วนภาคเอกชน ได้แก่ โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้านที่มีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลามากกว่า 10 ปี
2. การเข้มงวดในการบังคับใช้พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่อย่างจริงจังจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพระราชบัญญัติที่สำคัญมีดังนี้คือ
-พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พุทธศักราช 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2535 ซึ่งห้ามการโฆษณาบุหรี่ทุกรูปแบบในสื่อต่าง ๆ และจะต้องพิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ลงบนซองบุหรี่ทุกซอง นอกจากนี้ยังห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมี
-พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พุทธศักราช 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 ซึ่งห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเช่น โรงพยาบาล และโรงเรียนเป็นต้น โดยกำหนดเป็นเขตปลอดบุหรี่ขึ้นมา

ท่านที่สนใจในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ท่านสามารถติดต่อโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้านที่หมายเลขโทรศัพท์ 278-048, 1271-1806 หรือสถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 591-8269

มาช่วยกันรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทั้งโลกก่อนที่จะสายเกินไป และโปรดอย่าลืมวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top