การผ่าตัดแก้ไข ขาโก่ง หรือ ข้อเข่าโก่ง (เสื่อม) ตอนที่ 2

ตอนที่ 2 ตอน เมื่อไหร่ต้องผ่าตัด แก้ไขขาโก่ง หรือ เข่าโก่ง

คนที่ขาโก่ง หรือ เข่าโก่ง ที่ถือว่าเป็นโรคที่ควรได้รับแก้ไขโดยการผ่าตัดอย่างถูกต้องและทันท่วงที รอช้าไม่ได้ จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ครับ

1. มีความโก่งของเข่าทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

เข่าที่โก่งไม่เท่ากันทำให้ขายาวไม่เท่ากันครับ  เวลาเดินก็จะสังเกตุเห็นการเดินตัวโยกเยก รองเท้าที่ใส่จะสึกที่ส้นไม่เท่ากัน   เมื่อเดินโยกเยกมากๆเวลาที่ต้องเดินไกลๆ หรือยืนนานๆ  ก็มักจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังตามมาโดยไม่คิดว่า มาจากเข่าที่โก่งไม่เท่ากัน 

2. มีอาการปวดเข่าที่เรื้อรัง และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะจุดปวด จะอยู่บริเวณด้านในของเข่าทั้งสองข้าง    อาการปวดนั้น อาจจะเริ่มที่เข่าข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วเริ่มลุกลามเป็นอีกข้าง ทานยาแก้อักเสบ     เวลาไปหาหมอกระดูกทั่วไป ก็อาจจะดีขึ้นชั่วคราว พอไปใช้งานมากมาก เดินไกล ใส่ส้นสูง เล่นกีฬาที่ต้องเดินนานๆ หรือวิ่งกระแทกแรงๆ ก็จะมีอาการกลับมาปวดบวม ข้อเข่าเหมือนเก่าและอาจจะรุนแรงกว่าเดิม

3. มีอาการเข่าโก่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี

บางคนมาพบแพทย์ เพราะว่าในปีที่แล้วสังเกตุเข่าข้างซ้ายโก่งก่อน แต่ไม่ปวด   พอมาปีนี้ เข่าขวา เริ่มโก่งบ้างแต่อาการปวดเข่ารุนแรง ทนไม่ไหวต้องมาพบแพทย์ทันที   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?   เหตุผลที่เข่าแรกเริ่มโก่ง แต่ไม่ปวด มักจะพบว่า ผู้ป่วยปรับตัว เดินลงน้ำหนักลงไปที่เข่าอีกข้าง จนกระดูกอ่อนของเข่าข้างดีทนไม่ไหว เริ่มสึกและโก่งตาม  จนมีอาการอักเสบ ปวดบวม เดินไม่ถนัดเหมือนเก่า และไม่สามารถที่ผ่อนแรงไปเข่าอีกข้างได้ เพราะเข่าอีกข้างก็โก่ง และสั้นกว่า  ผู้ป่วยที่มาหา และมีอาการแบบนี้ จึงมักจะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเข่าข้างโก่งน้อยกว่าแต่ปวดมากก่อนครับ

4. มีมุมเข่าโก่งมาก

ซึ่งมีผลต่อการเดิน การใช้ชีวิตประจำวัน ในคนปกติ ถ้ามีการวัดมุมโก่งของเข่าจากภาพ X ray มุมโก่งก็อาจจะไม่มากนักโดยอยู่ที่ 0-3 องศา แต่ในบางคนที่มีปัญหา เรื่องการเดิน ก็อาจจะ มีมุมเข่าโก่งมากถึง 8-10 องศา เวลาใช้งาน จึงไม่สะดวกเท่าคนปกติครับ มีอาการปวดข้อเข่า และข้อเท้ามาก การแก้ไขให้เข่ากลับมาตรงเหมือนคนปกติ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นครับ

ถ้าท่านมีข้อเข่าโก่ง และมีลักษณะดังที่กล่าว เพียง 1 ใน  4 ข้อ อาจจะถึงเวลาที่จะต้องหารีบหาวิธีแก้ไข อย่างถูกต้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่เข่าจะโก่งมากขึ้นทุกปี หรือกระดูกอ่อนข้อเข่าพังเสียหายถาวรเกินจะเยียวยา ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเท่านั้นครับ

นพ. สมศักดิ์ เหล่าวัฒนา
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ผู้ประพันธ์ นพ. สุทร บวรรัตนเวช
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ที่ปรึกษา

Scroll to Top