การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บกระดูกหัก ข้อเคลื่อน

1. กระดูกหัก (Fracture)

• กระดูกหักแบบปิด (Closed Fracture) การหักของกระดูกประเภทที่ไม่มีบาดแผลติดต่อกับภายนอกร่างกาย การรักษาทำได้ง่ายโดยการดึงกระดูกที่หักให้เข้าที่แล้วเข้าเฝือก หรือยึดตรึงกระดูกให้อยู่นิ่งด้วยวิธีอื่น ๆ

• กระดูกหักแบบเปิด (Open Fractrue) การหักของกระดูกประเภทที่มีบาดแผลติดต่อกับภายนอกร่างกาย อาจมีบาดแผลติดต่อเข้าไปถึงส่วนกระดูกหัก หรือปลายกระดูกที่หักทิ่มทะลุออกมาภายนอกจึงมีปัญหาในเรื่องการติดเชื้อค่อน ข้างมาก จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนและถูกต้อง

2. สัญญาณกระดูกหัก
• บวม, ปวด, กดเจ็บ
• คดหรืองอตรงตำแหน่งที่หัก
• ขยับไปมาได้, มีเสียงกระดูกขบกัน
• อวัยวะส่วนนั้นหดสั้นลง, กระดูกเกยกัน
• มีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนัง
การมีกระดูกหักอาจมีอันตรายต่อหลอดเลือด และเส้นประสาทใกล้เคียง โดยเฉพาะถ้ามีการเคลื่อนที่ของส่วนที่หักอาจมีเลือดออกมาภายใน จนทำให้คนไข้ช็อคได้

3. การปฐมพยาบาลคนไข้กระดูกหัก

ใช้วัสดุที่หาได้ดามส่วนที่หักไว้ชั่วคราว วัสดุที่หาได้ใกล้ตัว เช่น แผ่นไม้ยาว กระดาษหนังสือพิมพ์พับตามยาวหลาย ๆ ชั้น กาบใบมะพร้าว มู่ลี่ ไม่ไผ่ เป็นต้น ถ้ามีกระดูกทะลุออกนอกเนื้ออย่าดึงกลับเข้าที่ ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดไว้แล้วรีบส่งแพทย์

4. จุดประสงค์ในการดามกระดูกหัก
• เพื่อให้ส่วนที่บาดเจ็บนั้นอยู่นิ่ง
• ป้องกันการมีเลือดออกเพิ่มมากขึ้น
• ไม่ให้กระดูกที่หักไปทิ่มแทงกล้ามเนื้อ
• ลดอาการเจ็บปวด
• เพื่อการขนย้ายได้สะดวก

5. ข้อเคลื่อนหรือข้อหลุด
ข้อเกิดจากกระดูกสองท่อนมาต่อกัน โดยมีเอ็นหรือพังผืดยึดข้อไว้ อาจมีช่องข้อหรือไม่มีก็ได้ การฉีกขาดของเอ็น หรือพังผืดที่ยึดจะทำให้เกิดข้อเคลื่อนขึ้นได้

6. สัญญาณข้อเคลื่อน
• บวม, ปวด, กดเจ็บบริเวณข้อ
• ข้อมีรูปร่างผิดปกติไปจากเดิม
• การเคลื่อนไหวข้อทำไม่ได้ หรือทำได้น้อยมาก
• มีการหดสั้นของอวัยวะ เช่น แขน หรือขา
• อาจคลำพบปลายหรือหัวกระดูกที่เคลื่อนออกมา
การที่ข้อเคลื่อน อาจมีอันตรายต่อเส้นประสาท และหลอดเลือดใกล้เคียง

7. การปฐมพยาบาลคนไข้ข้อเคลื่อน
ใช้วัสดุที่หาได้หนุนหรือประคองข้อ และกระดูกที่เคลื่อนให้อยู่ในท่าที่สบาย หรือเจ็บน้อยที่สุดก่อนพบแพทย์ ถ้าเป็นข้อเคลื่อนครั้งแรก อย่าพยายามดึงให้เข้าที่เอง ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top