การบาดเจ็บที่ข้อเข่าจากกีฬา

ลักษณะการบาดเจ็บที่ข้อเข่าชนิดต่าง ๆ

การฟกช้ำ (Contusion) ที่เกิดจากแรงโดยตรงกระแทกเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งกระแทกไปที่กล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ (Strain) ซึ่งอาจรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันออกไป
ข้อแพลง (Sprain) มีเอ็นยึดข้อเข่าทางด้านข้างฉีกขาด โดยที่ยังไม่มีการสูญเสียความแข็งแรง ซึ่งหมายถึงข้อเข่ายังมีความแข็งแรง (Stability) ทั้งนี้แรงที่มาทำให้ข้อแพลงไม่มากพอจนกระทั่งไปทำให้เอ็นไขว้ (Cruciate ligament) ฉีกขาด ซึ่งนำสู่ข้อเข่าที่ขาดความแข็งแรง หรือการเรียกว่า Instability

สัปดาห์นี้ผมขอกล่าวถึงชนิดที่ 3 ของลักษณะการบาดเจ็บของข้อเข่าต่อไปดังนี้

เอ็นไขว้ขาด (Torn Cruciate ligament)

จากที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ๆ ว่า ผู้ที่มีการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา แล้วเกิดการบวมของข้อเข่าอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีเลือดอยู่ในข้อเข่า แต่ไม่มีทางระบายออกมาภายนอก ภาวะเลือดคั่งในข้อ เราเรียกว่า “Hemarthrosis” สำหรับการมีเลือดคั่งอย่างรวดเร็วนั้น เราพบว่า 60-70% ของคนกลุ่มนี้ จะมีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate ligament) ซึ่งหากเกิดจากสิ่งนี้จริง หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจในระยะแรก ๆ อาจบอกยากว่ามีเอ็นไขว้หน้าขาด เพราะข้อเข่าที่บวมใหม่ ๆ จะส่งผลให้มีความเจ็บปวดค่อนข้างมาก ร่างกายจะส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าเกร็ง ทำให้แพทย์ตรวจร่างกายโดยเฉพาะการตรวจดูความแข็งแรงของข้อเข่า (Stability tests) ทำได้ยากในบางราย แพทย์ต้องฉีดยา หรือดมยาให้หลับเพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกร็งแล้วให้มีแรงต้านคลายตัวลงไป หรือบางรายแพทย์ต้องดูดเอาเลือดจากข้อเสียก่อน เพื่อลดความตึงของข้อเข่าแพทย์จึงได้ขยับข้อเข่าได้ดีขึ้น หรือบางรายแพทย์อาจฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปในข้อทำให้ลดความเจ็บปวด การตรวจก็จะทำได้ดีขึ้น หรือบางรายแพทย์อาจให้การรักษาเบื้องต้น โดยเอาสำลีม้วนโต ๆ มาคลี่พันรอบ ๆ ข้อเข่า แล้วเอาผ้ายืดพันทับให้แน่นตั้งแต่กึ่งกลางต้นขาจนถึงกึ่งกลางหน้าแข้ง ซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกว่าการทำ Jone’s Bandaging โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเจ็บปวด เพื่อพยายามให้เลือดภายในข้อเข่าออกให้น้อยลง เพื่อให้เนื้อเยื่อรอบๆ บริเวณเข่าบวมน้อย และผู้บาดเจ็บที่เข่ารายนั้น อาจจะพอลุกเดินลงน้ำหนักในระยะทางสั้น ๆ ได้ ซึ่งทางที่ดีควรใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงไปก่อน

ในเรื่องของข้อบวม มีข้อสังเกตสำหรับท่านผู้อ่านในกรณี การบวมของข้อเกิดขึ้นช้า ๆ ไม่บวมรวดเร็ว ภายใน 2-3 ชั่วโมงแรกหลังการบาดเจ็บ เช่น การบวมในวันที่สองหรือวันต่อ ๆ มา ในลักษณะค่อย ๆ บวมทีละน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการบวมเกิดจากการอักเสบภายในข้อเข่า เซลล์เยื่อหุ้มข้อ (Synovial cells) มีการสร้างน้ำ Synovial fluid ออกมาในบริเวณมาก ๆ และน้ำพวกนี้จะมีลักษณะสีเหลือง อาจใส หรือ ขุ่น บ้าง แล้วแต่โรคที่เป็น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับในรายที่เอ็นไขว้ขาดใหม่ๆ น้ำภายในข้อเข่าจะเป็นเลือด เวลาแพทย์เจาะออกมาจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายเลือด ที่เวลาเราเจาะออกจากหลอดเลือดที่แขน แต่จะผิดกันตรงที่เลือดที่ออกจากข้อเข่า หากวางทิ้งเอาไว้จะไม่แข็งตัวจับกันเป็นก้อนเหมือนกับเลือดที่เราดูดออกจากหลอดเลือดที่แขน หรือเวลาที่เรามีบาดแผลแล้วเลือดออกมามาก ๆ

หมอนรองกระดูกฉีกขาด (Torn Meniscus)

เพื่อทบทวนให้ท่านผู้อ่านทราบอีกครั้งว่า หมอนรองกระดูกของเข่านั้นเป็นกระดูกอ่อนเป็นเบ้า 2 ข้าง รูปร่างเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ทำหน้าที่รองรับปลายกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ ไม่ให้เสียดสีกันโดยตรง แต่หากในกรณีบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ข้อเข่าได้รับแรงมากผิดปกติ อาจทำให้หมอนรองกระดูกถูกหนีบ หรือบดอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการฉีกขาดได้ ลักษณะการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกมีได้หลายรูปแบบ ผมคงไม่อธิบายในรายละเอียด แต่จะชี้ประเด็นที่สำคัญว่า หากมีการฉีกขาดขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับผู้ป่วยรายนั้นได้หลายปัญหาด้วยกัน เช่น บางรายหมอนรองกระดูกที่ฉีกขาดไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเหยียดข้อเข่าให้ตรงได้ (Locking) เหมือนปกติ บางรายฉีกขาดตรงขอบนอก ๆ ซึ่งมีหลอดที่เลือดมาเลี้ยงฉีกขาดก็ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในข้อ ที่เรียกว่า Hemarthrosis เกิดการบวมของข้อเข่าได้ หรือในกรณีเกิดร่วมกับเอ็นไขว้ฉีกขาดด้วย เลือดที่ออกในข้อเข่าจะมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับบางรายที่มีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกไม่มาก อาจมีอาการปวดบวมเล็กน้อย และต่อมาภายหลังหลาย ๆ วันอาจเกิดการบวมจากน้ำเลี้ยงข้อถูกสร้างมากขึ้นที่เรียกว่า Joint Effusion มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง (ไม่ใช่เลือด) ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในนักกีฬาบางรายได้รับการบาดเจ็บรุนแรงมากๆ ก็จะมีการฉีกขาดของเอ็นหัวเข่าทุกอันที่ให้ความแข็งแรงต่อเข่า นักกีฬารายนั้นก็จะมีเข่าที่ไม่แข็งแรง (Unstable) เอามาก ๆ เลย แต่ก็ไม่ต้องน่าเป็นห่วงนะครับ เพราะปัจจุบันนี้มีการรักษาเพื่อกลับมาเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมอีก ดังเช่นข่าวของไมเคิล โอเวน ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูข้อเข่าหลังผ่าตัด เนื้อที่หมดแล้วครับ พบกันใหม่เสาร์หน้าครับ นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top