โรคติดเชื้อ (infectious diseases)

โรคติดเชื้อ (infectious diseases)หมายถึง โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรค การที่จะทำให้เกิดโรคมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ เช่นชนิดและปริมาณของเชื้อโรค ภูมิต้านทานของร่างกายผู้ป่วย ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นต้น บางครั้งเชื้อโรคก็ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เช่น ภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็จะสามารถกำจัดเชื้อได้ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เชื้อโรคก็จะก่อเหตุทันทีเชื้อโรค อาจเรียกได้หลายอย่างเช่น เชื้อจุลินทรีย์ จุลินทรีย์ เชื้อจุลชีพ จุลชีพ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรค เรียกว่า จุลชีววิทยา ซึ่งแบ่งออกเป็นแขนงย่อยๆ อีกมากมายหลายแขนง

          เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถก่อให้เกิดโรค ขณะที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อเหล่านั้นกลับกลายเป็นเชื้อก่อโรคได้ทันที กระบวนการติดเชื้อเป็นปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับว่าร่างกายสามารถตอบโต้หรือจัดการกับเชื้อโรคได้หรือไม่เชื้อโรคที่เรียกว่า จุลชีพประจำถิ่น อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์โดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น ในลำไส้นอกจากจะช่วยผลิตสารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคได้ด้วย

หลักการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ

1.โรคติดเชื้ออาจเกิดขึ้นกับระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย หรืออาจเกิดขึ้นทั่วร่างกายก็ได้ ลักษณะอาการของโรคติดเชื้อที่มักเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลักๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อระบบประสาท โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อของกระดูกและข้อ โรคติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เป็นต้น
2.การวินิจฉัยโรคติดเชื้อต้องกระทำอย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ เนื่องจากมีผลต่อการวางแผนการรักษาอย่างมาก ความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล
3.วิธีเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้อ ต้องกระทำอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิกการเก็บตัวอย่าง การดูแลเก็บรักษาสิ่งส่งตรวจ การขนส่งเคลื่อนย้ายไปยังห้องปฏิบัติการ
4.แพทย์ต้องใช้ลักษณะประวัติอาการเจ็บป่วยเป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัยเบื้องต้น รวมทั้งการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทุกซอกทุกมุมของร่างกาย บางครั้งการตรวจผลความผิดปกติเพียงตำแหน่งเดียวอาจช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างมาก
5.ศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงรูปร่างที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและกล้องจุลทรรศน์ของพยาธิสภาพ และผลแทรกซ้อนจากการติดเชื้อชนิดต่างๆ ช่วยให้การวินิจฉัยโรคทางคลินิกแม่นยำยิ่งขึ้น
6.ทบทวนการวินิจฉัยโรค และเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ หากมีข้อมูลใหม่ๆ จากห้องปฏิบัติการ หรือพบการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนลักษณะการดำเนินโรคของผู้ป่วย

เชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย

เชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต

  • โรคติดเชื้อไวรัสที่รู้จักกันดี ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคเอดส์ เป็นต้น
  • โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่รู้จักกันดี ได้แก่ ไข้ไทฟอยด์ โรคฉี่หนู บาดทะยัก ไข้กาฬหลังแอ่น โรคซิฟิลิส เป็นต้น
  • โรคติดเชื้อราที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อแคนดิดา โรคติดเชื้อแอสเปอจิลลัส เป็นต้น
  • โรคติดเชื้อปรสิตที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคพยาธิชนิดตัวแบน โรคพยาธิตัวกลม โรคมาลาเรีย โรคบิดมีตัว โรคเท้าช้าง เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

โรคติดเชื้อส่วนใหญ่จำเป็นต้องส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การตรวจบางชนิดทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ในขณะที่การตรวจบางอย่างยุ่งยาก และลำบากมาก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำ และการรักษามีประสิทธิภาพได้ผลมากยิ่งขึ้น มาตราฐานของห้องปฏิบัติการจึงมีความสำคัญต่อกระบวนการวินิจฉัยโรคติดเชื้อทุกชนิด

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อ

1.พิจารณาให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม ในขนาดที่ถูกต้อง เป็นระยะเวลาที่ได้ผลดีที่สุดส่วนใหญ่การพิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพจะแบ่งเป็นสองระยะ

  • ระยะแรกเป็นการให้ยาตามข้อมูลเบื้องต้น เช่น ลักษณะอาการเจ็บป่วย สถิติของเชื้อโรคที่มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
  • ระยะต่อมา จะมีการนำผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาใช้ประกอบ และอาจมีการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

2.ทดสอบความไวของยาต้านจุลชีพเสมอ ทั้งจากรายงานในสถานพยาบาลแห่งนั้นรายงานจากหน่วยงานราชการ และรายงานจากห้องปฏิบัติการอ้างอิง

3.หัวใจสำคัญของการรักษาโรคติดเชื้อ นอกจากการใช้ยาต้านจุลชีพที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังต้องให้การรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกาย ในทางการแพทย์เรียกว่า การรักษาประคับประคอง (supportive treatment) ได้แก่ การรักษาสมดุลของภาวะสารน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย การดูแลระบบไหลเวียนโลหิต การทำงานของหัวใจ ความดันเลือด การประเมินปัญหาในการหายใจของผู้ป่วย ดังนี้เป็นต้น
4.หมั่นติดตามการเปลี่ยนแปลงของอาการผู้ป่วยอยู่เสมอ โรคติดเชื้อเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคตลอดเวลา ดังนั้นการติดตามผลการรักษา ไม่ว่าจะเป็นยาต้านจุลชีพหรือการรักษาอื่นๆ จึงช่วยให้เกิดผลสำเร็จในที่สุด
5.ในปัจจุบันแพทย์จำเป็นต้องชี้แจงอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อและเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากคือการบอกกล่าวถึงผลแทรกซ้อนของโรคที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจอย่างถูกต้องในเบื้องต้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top