แก้มใหญ่ไม่เท่ากัน

ผู้ป่วยบางท่านอาจเคยมีประสบการณ์ ที่ส่องกระจกแล้วพบว่า แก้ม 2 ข้างใหญ่ไม่เท่ากัน รู้สึกว่าแก้มข้างหนึ่งบวมๆ โย้ๆ ใน ขณะที่อีกข้างดูเหมือนปกติดี และบางท่านอาจไม่รู้สึกผิดปกติอะไรแต่บุคคลอื่นทักว่า ใบหน้าบริเวณแก้มดูบวมๆ และใหญ่ ไม่เท่ากับอีกข้างหนึ่ง

ภาวะแก้ม 2 ข้างมีขนาดไม่เท่ากันนั้นมีได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่

  • ผิวหนังอักเสบ และเกิดการบวมขึ้นมา เช่น ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย,บีบเค้นสิวจนช้ำอักเสบ
  • มีความผิดปกติของไขมัน หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณแก้มมีขนาดใหญ่ผิดปกติ เช่น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ, เนื้องอกของเซลล์ไขมัน
  • โรคของไซนัส หรือเนื้องอกของกระดูกแก้ม
  • กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า 2 ข้าง ขนาดไม่เท่ากัน โดยเฉพาะคนที่ถนัดในการเคี้ยวอาหารด้วยฟันกรามข้างเดียวซ้ำๆ บ่อยๆกล้ามเนื้อแก้มข้างนั้นจะใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่งได้
  • โรคของต่อมน้ำลายที่กกหู เช่น เนื้องอก, มะเร็ง, ซิสต์ที่ต่อมน้ำลาย หรือต่อมน้ำลายบวมอักเสบ โรคคางทูม
  • โรคของอวัยวะภายในช่องปาก เช่นเนื้องอก หรือมะเร็งของกระพุ้งแก้มหรือของเหงือกและขากรรไกร,
  • โรคของฟัน เช่น รากฟันอักเสบเป็นหนอง เหงือกอักเสบเป็นหนอง การอักเสบอาจลุกลามมีที่แก้มได้รวมทั้งภาวะแก้มบวม ภายหลังการถอนฟันคุด
  • อุบัติเหตุ มีการกระทบกระเทือนที่ใบหน้า ทำให้เนื้อเยื่อที่แก้มบวมช้ำห้อเลือด
  • นอกจากนั้นอาจไม่ใช่โรค แต่เกิดจากกายวิภาคที่ไม่สมดุลของใบหน้า เช่น การพัฒนาการของกระดูกขากรรไกร 2 ข้าง เจริญเติบโตไม่เท่ากัน จึงทำให้ใบหน้า 2 ข้างไม่เท่ากันได้

หลังจากได้รับการตรวจร่างกายแล้วนั้น ในรายที่ไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ชัดเจน อาจต้องใช้วิธีการอื่นมาช่วยประกอบในการวินิจฉัย เช่น การฉายเอ็กซเรย์ไซนัส, การเอกซเรย-์คอมพิวเตอร์ (CT), การเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น ยา, ผ่าตัด, ฉายแสง เป็นต้น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top