เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร (Helicobacter pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักพบได้ในกระเพาะอาหาร ซึ่งโดยปกติในกระเพาะอาหารจะไม่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ แบคทีเรียนี้เข้าสู่ร่างกายได้โดยการกลืนเข้าไป หรือขย้อนเชื้อจากลำไส้มาอยู่ในกระเพาะอาหาร หลังจากเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหาร เชื้อจะใช้หนวดของมันว่ายเข้าไปฝังตัวในเยื่อเมือกบุผนังกระเพาะ และปล่อยน้ำย่อย เอ็นไซม์ และสารพิษมาทำลาย และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ด้วยกลไกนี้ร่วมกับกรดที่หลั่งออกมาจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะ จะช่วยกันทำลายผนังกระเพาะให้มีการอักเสบ และเกิดกระเพาะเป็นแผลได้ในที่สุด
ศาสตราจารย์ โรบิน วอเร็น เป็นผู้ที่ค้นพบเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ร่วมกับ ศาสตราจารย์ แบรี่ มาร์แชล ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ และการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งในช่วงแรกของการค้นพบยังไม่เป็นที่ยอมรับกันมากนัก ในปี ค.ศ.1979 ศาสตราจารย์ โรบิน วอเร็น ได้ค้นพบเชื้อในเยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นครั้งแรกโดยการตรวจทางพยาธิสภาพ และได้ทำการทดลองร่วมกับ ศาสตราจารย์ แบรี่ มาร์แชล ที่ประเทศออสเตรเลีย
โรคแผลในกระเพาะอาหาร
อาการสำคัญ คือ ปวดท้อง มักปวดบริเวณลิ้นปี่ ปวดแบบแสบๆหรือร้อนๆ ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง เมื่อกินอาหารหรือนม จะหายปวด บางรายจะปวดท้อง หลังจากกินอาหาร หรือปวดกลางดึกก็ได้ อาจมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาการอื่นที่พบได้แก่ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องเฟ้อ อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้
สาเหตุของโรคกระเพาะมีหลายสาเหตุ โดยโรคกระเพาะมักจะสัมพันธ์กับการใช้ยาแก้อักเสบ, การติดเชื้อในกระเพาะอาการ, และพฤติกรรมบางอย่าง
สัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- ปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่เวลาท้องว่าง หรือจุก เสียด แน่นท้อง หรือปวดคล้ายกับเวลาหิวข้าว ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารไปแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือปวดกลางดึก
- เวลาได้กินอาหารมักจะหายปวด หรือไม่ก็อาจจะปวดยิ่งขึ้น
- รู้สึกคลื่นไส้ หรืออาเจียน
- รู้สึกท้องอืด มีลมในท้อง เหมือนอาหารย่อยได้ไม่ดี
- มีอุจจาระเป็นสีคล้ำดำ หรือมีเลือดปน ในกรณีที่แผลมีเลือดออกร่วมด้วย
- บางกรณีผู้ที่เป็นก็อาจไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือมีอาการเลยจนกว่าจะเกิดมีเลือดออก
มะเร็งกระเพาะอาหาร
มีการศึกษาหลายชิ้นบ่งบอกว่าการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไรมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นเมื่อตรวจพบการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไรแล้ว การรักษากำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อดังกล่าวลงได้
การวินิจฉัยเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร
วิธีการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไรสามารถทำได้หลายวิธี
- การวินิจฉัยเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร โดยวิธีส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร แล้วตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะอาหารชิ้นเล็กๆมาตรวจหาเชื้อโดยเทคนิคต่างๆ
- วิธีการเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร
- วิธีการเป่าลมหายใจ เป็นวิธีการที่จะตรวจหาเชื้อแบคทีเรียโดยตรวจภายหลังจากการได้รับการรักษา ด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว เพื่อติดตามว่ากำจัดเชื้อได้หมดหรือไม่ วิธีการตรวจนี้นิยมเรียกว่า breath test เป็นการตรวจสารที่เชื้อแบคทีเรียสร้างขึ้นในกระเพาะและตรวจพบได้ในลมหายใจ ของผู้ป่วย
แนวทางการรักษาเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร
แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ร่วมกับยาปฎิชีวนะ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่ามีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ และมีการติดตามอาการเป็นระยะ
ยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร
1. ยาลดกรด รับ ประทานครั้งละ 1-2 ชต.ควรรับประทานหลังอาหาร 1 ชม. หรือก่อนอาหาร 2 ชม. และมื้อสุดท้ายก่อนนอน แล้วดื่มน้ำตาม 1-2 แก้วในระยะแรกอาจจะให้ยาทุกหนึ่งชั่วโมง เมื่อดีขึ้นอาจให้ยาทุก 1-2 ชั่วโมง
2. ยาลดการหลั่งกรดชนิด H2-blockers เช่น cimetidine, ranitidine, famotidine, nizatidineช่วยลดอาการปวดท้อง หลังได้ยาไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ อาจจะรับประทานวันละครั้ง เช่น ก่อนนอนได้แก่ famotidine, nizatidine วันละสองครั้งได้แก่ ranitidine วันละสี่ครั้งได้แก่ cimetidine
3. ยาลดการหลั่งกรดชนิด proton pump inhibitors เช่น omeprazole, lansoprazole ยากลุ่มนี้ช่วยลดอาการปวดท้อง และช่วยให้แผลหายเร็วกว่ายากลุ่มอื่นมักจะรับประทานวันละครั้งหลังอาหาร
4. ยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ในกรณีที่ยืนยันว่าพบเชื้อแล้วเท่านั้น
5. ยาเคลือบกระเพาะ เช่น bismuth, sucralfate ใช้เคลือบแผลกระเพาะ
วิธีกำจัดต้นเหตุของการเกิดโรคแผลกระเพาะอาหาร
1. กินอาหารให้เป็นเวลา
2. งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
3. งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง
4. งดดื่มน้ำชา กาแฟ
5. งดสูบบุหรี่
6. งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร
7. พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด
การป้องกันการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร
1. ล้างมือให้สะอาด
2. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
3. ดื่มน้ำที่สะอาด
4. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
5. ไม่รับประทานอาหารที่มีรสจัด
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์