เชื้อไวรัสในค้างคาว

เชื้อไวรัสในค้างคาวพบไวรัสมากกว่า 60 ชนิดจากค้างคาวซึ่งก่อให้เกิดโรคในคน เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies),ไวรัสอีโบล่า (Ebola),ไวรัสซาร์ส (SARS), ไวรัสนิปาห์ เอ่ยชื่อ “นกมีหู หนูมีปีก” คนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงคนเฒ่าคนแก่รู้ดีว่าเป็นสมญานามของ ”ค้างคาว” สัตว์ซึ่งหากินกลางคืนชนิดหนึ่ง และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่สามารถบินได้เหมือนนกหรือบางทีอาจจะดีกว่านกบางชนิดเสียอีก ค้างคาวมีวิวัฒนาการมาจากสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนูกระแต มีการค้นพบซากฟอสซิลค้างคาวที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุประมาณ 50 ล้านปีมาแล้วค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยที่ส่วนมือและแขนเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เป็นปีก มีเนื้อเยื้อบางๆ เชื่อมระหว่างนิ้วมือ แขน ขาและลำตัว มีเส้นเลือดกระจายไปทั่วเนื้อเยื่อเพื่อหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อและระบายความร้อนจากร่างกายค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีความลึกลับซ่อนเร้น น้อยคนนักที่จะรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับค้างคาวอย่างดีพอ เหตุเพราะมันหากินในเวลาค่ำคืน และอาศัยอยู่ในถ้ำ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามันเป็นปีศาจ ทำลายสวนผลไม้ และสกปรก

ค้างคาวชนิดต่างๆ

ค้างคาวในโลกนี้มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,000 ชนิด ในประเทศไทยมีประมาณ 100 ชนิด สามารถแบ่งค้างคาวออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือค้างคาวกินผลไม้ และค้างคาวกินแมลง

1.ค้างคาวกินผลไม้ เป็นพวกที่กินน้ำหวานดอกไม้ ละอองเกสรและผลไม้เป็นอาหาร ในประเทศไทยมีค้างคาวชนิดนี้มากกว่า 15 ชนิด เช่น ค้างคาวแม่ไก่ ค้างคาวขอบหูขาว ค้างคาวบัว ค้างคาวเล็บกุด และค้างคาวหน้ายาวใหญ่ เป็นต้น

2.ค้างคาวกินแมลง ในประเทศไทยมีค้างคาวชนิดนี้ประมาณ 90 ชนิด กินแมลงชนิดต่างๆ เป็นอาหาร เช่น ค้างคาวปากย่น ค้างคาวผีเสื้อ ค้างคาวแวมไพร์แปลง ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ และค้างคาวกิตติ เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่างค้างคาวกินแมลงกับค้างคาวกินผลไม้

1.ดวงตาและจมูก ดวงตาของค้างคาวกินแมลงมีขนาดเล็ก ส่วนดวงตาของของค้างคาวกินผลไม้มีขนาดใหญ่ จมูกของค้างคาวกินผลไม้มักมีร่องตรงคั่นแบ่งจมูกออกเป็นสันสองสันคู่กัน ที่ปลายจมูกมีขอบยื่นออกมาเพื่อกันไม่ให้น้ำหวานไหลเข้ารูจมูก ส่วนจมูกของค้างคาวกินแมลงจะมีไว้สำหรับควบคุมระบบโซน่าเพื่อให้มีความแม่นยำในการจับแมลง

2.นิ้วและเล็บ ค้างคาวกินแมลงไม่มีนิ้วที่สองและเล็บ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ส่วนค้างคาวกินผลไม้มีเล็บที่ปลายนิ้วทั้งสองใช้ช่วยในการปีนป่ายและเกาะต้นไม้

3.ขาหลัง ค้างคาวกินแมลงระหว่างขาหลังทั้งสองข้างมักมีเยื่อบางๆ เชื่อมถึงกันเพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการโฉบจับแมลงและใช้เป็นถุงช่วยจับแมลงในขณะบิน ส่วนค้างคาวกินผลไม้ขาหลังมีเนื้อเยื่อช่วยในการบินเล็กน้อยทำให้ขาหลังเป็นอิสระสำหรับการปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว

เชื้อไวรัสในค้างคาว

การดื่มเลือดค้างคาวสดๆ หรือบริโภคเนื้อ หรือเครื่องในค้างคาว แบบสุกๆดิบๆ มีโอกาสเสี่ยงในการติดโรคจากเชื้อไวรัสสูงมาก มีรายงานการพบไวรัสมากกว่า 60 ชนิดจากค้างคาวหลายชนิดทั่วโลก ซึ่งหลายชนิดก่อให้เกิดโรคในคน เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies), ไวรัสอีโบล่า (Ebola),ไวรัสซาร์ส (SARS), ไวรัสนิปาห์ (Nipah) ผลการวิจัยในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีการตรวจพบไวรัสนิปาห์ที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ จากการตรวจเลือด น้ำลาย และปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ เชื่อว่าค้างคาวชนิดอื่นๆก็มีเชื้อไวรัสเช่นกัน โรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40-80ค้างคาวมีการติดเชื้อไวรัสอาจไม่แสดงอาการความผิดปกติใดๆ หรือถ้ามีอาการก็เล็กน้อยมาก และแม้ว่าจะมีไวรัสบางชนิดทำให้ค้างคาวป่วยหนักจนตาย แต่ก็จะมีจำนวนไม่น้อยที่หายเอง และยังคงแพร่เชื้อต่อไปได้แม้จะพบว่ามีเชื้อไวรัสในค้างคาวหลายชนิด แต่ค้างคาวก็ไม่ได้แพร่เชื้อโรคสู่มนุษย์ได้โดยง่าย การแยกพื้นที่ที่ชัดเจนจะช่วยให้ไม่ให้มีการปะปนของค้างคาวติดเชื้อมายังคนและสัตว์ การไม่รุกล้ำเข้าไปในถิ่นธรรมชาติของค้างคาวเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการครอบครองพื้นที่ รวมทั้งการไม่นำค้างคาวมาบริโภค จะเป็นเครื่องมือป้องกันให้ค้างคาวไทยยังคงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีคุณค่าโดยที่ไม่มีผลกระทบนำโรคร้ายใดๆมาสู่คน

บริโภคค้างคาว

แม้ว่าการปรุงค้างคาวให้สุกจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่ก่อนการปรุงก็มีโอกาสที่ติดเชื้อไวรัสได้ในหลายขั้นตอน การปรุงสุกอาจจะช่วยทำลายเชื้อไวรัสได้ แต่คนยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่การจับและการชำแหละ เพราะเชื้อไวรัสจะมีการสะสมอยู่ทั้งในเลือด น้ำลาย และเครื่องใน โดยเฉพาะที่ตับ ม้าม และเยื่อบุช่องท้องของค้างคาว หากถูกกัด หรือบริเวณที่มีบาดแผลไปสัมผัสถูกบริเวณดังกล่าว เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ทันที เมื่อรับประทานค้างคาวแล้วไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดใช้ระยะการฟักตัวนาน เช่น เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวเป็นเดือน หรือไวรัสนิปาห์ ที่นอกจากจะแสดงอาการของโรคหลังจากรับเชื้อไวรัสเพียงไม่กี่สัปดาห์แล้ว เชื้อไวรัสบางตัวยังสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายและใช้ระยะเวลาฟักตัวนานถึง 2 ปี จึงจะแสดงอาการออกมา ผู้ที่เคยบริโภคค้างคาว หากมีอาการผิดปกติต่อร่างกาย เป็นไข้ ควรแจ้งแพทย์ด้วยว่ามีการบริโภคค้างคาวมาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรคการจับค้างคาวมาบริโภคไม่เพียงเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส แต่อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วยเพราะปัจจุบันค้างคาวกินแมลงทุกชนิด และค้างคาวกินผลไม้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยถือเป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งค้างคาวที่ชาวอีสานนิยมนำมาบริโภคขณะนี้ คือ ค้างคาวปีกถุง เป็นค้างคาวกินแมลง และนับเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองด้วยเช่นกัน

ค้างคาวในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีผู้ให้ความสนใจและศึกษาค้างคาวกันไม่มาก ที่จัดว่าโดดเด่นได้แก่ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ คุณกิตติ ทองลงยา ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่ จากนั้นการศึกษาเรื่องค้างคาวก็ได้ขาดช่วงไประยะหนึ่ง ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเมืองไทย 280 ชนิดนั้น 107 ชนิดเป็นค้างคาว ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 38 นอกจากนี้ประเทศไทยยังพบค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกคือ ค้างคาวกิตติ ซึ่งมีน้ำหนักแค่ 2 กรัมเท่านั้น และยังมีค้างคาวที่ใหญ่สุดในโลกด้วยนั่นคือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน ซึ่งมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำนวนชนิดของค้างคาวไทยคิดเป็นร้อยละ 11 ของค้างคาวชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเป็นค้างคาวกินผลไม้ 18 ชนิด ค้างคาวกินแมลง 89 ชนิด ส่วนอีก 1 ชนิ เป็นค้างคาวที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร ได้แก่ ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่

ประเทศไทยมีความเฉพาะตัวในด้านที่มีค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteopus vampyrus) เป็นค้างคาวกินผลไม้ที่มีน้ำหนักตัว 1 กก. เมื่อกางปีกออกทั้งสองข้างจะกว้างถึง 2 เมตร และมีค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลก คือ ค้างคาวคุณกิตติ (Craseonycteris thonglongyai) เป็นค้างคาวกินแมลง มีน้ำหนักเพียง 2 กรัม ช่วงปีกกว้างเพียง 16 เซนติเมตร ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งเป็นเขตอนุรักษ์ที่ดีที่สุดในเมืองไทย พบว่ามีค้างคาวอยู่อย่างน้อย 60 ชนิด ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของชนิดค้างคาวในไทย และคิดเป็นร้อยละ 6 ของพันธุ์ค้างคาวทั่วโลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค้างคาวลดลงก็คือ การทำลายที่อยู่อาศัย ทั้งการระเบิดหินที่มีถ้ำอยู่ และการทำลายป่าไม้ การล่าค้างคาวเพื่อนำมาเป็นอาหาร รวมทั้งการรบกวนแบบต่างๆ แต่ที่น่าวิตกมากในปัจจุบันก็คือ สารพิษตกค้างจากการเกษตรได้ทำลายค้างคาว โดยเฉพาะพวกที่กินแมลงไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้กรมป่าไม้ต้องขึ้นบัญชีค้างคาวทุกชนิดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ค้างคาวมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษย์ มีส่วนสำคัญในช่วยการผสมเกสร กระจายพันธุ์พืชและช่วยรักษาสภาพผืนป่าให้คงความสมบูรณ์ ที่สำคัญค้างคาวยังเป็นสัตว์ที่ออกลูกเพียงปีละ 1 ตัวเท่านั้น

ความสำคัญของค้างคาวที่มีต่อธรรมชาติและมนุษย์

  1. ค้างคาวทำประโยชน์ให้แก่ทั้งมนุษย์และธรรมชาติอย่างยิ่งใหญ่ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของป่า มีส่วนช่วยในการรักษาไว้ซึ่งโครงสร้าง ความหลากหลายและการหมุนเวียนพลังงานในระบบนิเวศของป่าไม้ โดยจะช่วยผสมเกสร หรือกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้เป็นร้อย ๆ ชนิด เช่น ทุเรียน นุ่น ฝรั่ง มะม่วง ยูคาลิปตัส และกล้วยป่า ในตลาดผลไม้เมืองร้อนทั่วโลก ประมาณร้อยละ 70 เป็นผลไม้ของไม้ป่าซึ่งอาศัยค้างคาวในการผสมเกสร หรือกระจายเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสงวนรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมของพืชป่าไว้ ซึ่งจะใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชบ้านในยามที่อ่อนแอ
  2. ค้างคาวกินแมลงสามารถกินแมลงได้ราว 500-1,000 ตัวในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ส่วนค้างคาวกินผลไม้ก็มีส่วนช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ของพืชหลายชนิดที่บานในเวลากลางคืน และค้างคาวจะกินเฉพาะผลไม้ที่สุกงอมจัดเท่านั้น มิได้ทำลายพืชผลชองชาวสวนแต่อย่างใด
  3. เป็นผู้คืนชีวิตให้ป่า ในพื้นที่ป่าถูกทำลาย จะต้องมีต้นไม้กลุ่มแรกที่บุกเบิกกำเนิดขึ้นมาก่อนที่จะมีต้นไม้อื่นๆ ขึ้นได้ ต้นไม้กลุ่มแรกนี้จะเป็นไม้พวกที่ค้างคาวเป็นผู้พามา ทั้งนี้เนื่องจากค้างคาวมีลักษณะการหากินที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ กล่าวคือ ค้างคาวจะถ่ายมูลในขณะที่บินหากิน
  4. ช่วยรักษาสมดุลของแมลงในธรรมชาติ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชระบาด ค้างคาวกินแมลงนับว่าบทบาทสำคัญในระบบนิเวศน์ โดยที่ค้างคาวเป็นตัวช่วยควบคุมแมลงตามธรรมชาติที่สำคัญ
  5. มูลค้างคาวมีสารชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าเกลือไนเตรต (nitrate) เกลือนี้นำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ดีเพราะให้ธาตุไนโตรเจนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชปริมาณสูงมากคือ 3.36 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับมูลเป็ดมีเพียง 0.85 เปอร์เซนต์เท่านั้น

ค้างคาวหากินเวลากลางคืน

การที่ค้างคาวออกหากินเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลานอนหลับของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เรารู้เรื่องเกี่ยวกับค้างคาวน้อย ทั้งรูปร่างลักษณะของมันที่ค่อนข้างแปลกประหลาด จึงทำให้ผู้คนหลายๆคนที่หวาดกลัวค้างคาวจนถึงกับสร้างนิยายเรื่องน่ากลัวของค้างคาวออกมาทั้งในรูปความเชื่อพื้นบ้านและนวนิยาย ค้างคาวเป็นสัตว์ที่หากินกลางคืน มันจะเริ่มออกหากินยามพลบค่ำ บางครั้งจะกลับที่พักนอนภายใน 2-3 ชั่วโมง แต่ตามปกติแล้วค้างคาวจะออกหากินตลอดคืนและจะกลับตอนรุ่งเช้า ค้างคาวหากินกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับสัตว์อื่นที่กินผลไม้ น้ำหวาน หรือแมลงเหมือนกัน เช่น นกนางแอ่น นกเงือก หรือนกกินปลี ส่วนค้างคาวกินแมลงออกหากินเวลากลางคืนเพราะมีแมลงมากกว่าเวลากลางวัน พืชหลายชนิด เช่น ไม้ในสกุลสะตอ และเพกา มีการพัฒนาเป็นพิเศษสำหรับค้างคาวกินน้ำหวานที่มีรสชาติเข้มข้นที่ค้างคาวชอบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับเป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างค้างคาวกับต้นไม้เหล่านี้ เพราะในขณะที่ค้างคาวกินน้ำหวาน ค้างคาวจะนำพาเกสรจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่งเป็นการป้องกันตัวจากผู้ล่า ในเวลากลางวันเป็นช่วงกิจกรรมของสัตว์ผู้ล่าจำนวนมาก เช่น เหยี่ยว นกอินทรี ซึ่งคอยจับค้างคาวและสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ กินเป็นอาหาร ส่วนในเวลากลางคืน แม้จะมีผู้ล่า เช่น นกฮูก นกแสก แต่ก็ยังนับว่าน้อยกว่าเวลากลางวัน จึงเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัยกว่าสำหรับค้างคาว ลักษณะการบินของค้างคาวจะแตกต่างจากนกเล็กน้อย จากการศึกษาพบว่า เวลาค้างคาวบินร่างกายจะขนานไปกับพื้น พอหุบปีกหัวจะเงยขึ้น ปีกจะหุบไปข้างหน้า ขณะที่ปีกไปบรรจบอยู่ด้านบนนั้น ปีกจะลู่ไปด้านหลังทำให้พุ่งไปในอากาศได้ดี สามารถหาความเร็วในการบินของค้างคาวได้จากสมการ V = 2.46 (Mg/S) ยกกำลัง 0.48 เมื่อ V คือ ความเร็ว (เมตรต่อวินาที) M คือ มวลค้างคาว(กิโลกรัม) g คือ ความเร่งเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก (เมตร/วินาทีกำลังสอง) S คือ ความยาวของปีกค้างคาว (เมตร)

ระบบการหาทิศทาง

  1. ค้างคาวสามารถหากินในเวลากลางคืนได้ก็ด้วยมีระบบการหาทิศทางที่มีประสิทธิภาพดีเลิศ
  2. ค้างคาวกินผลไม้ มีตากลมใหญ่ และมีสายตาที่พัฒนาเป็นพิเศษจึงทำให้มันสามารถบินในป่าที่มืดมิดเพื่อหาอาหารได้โดยที่ไม่บินไปชนต้นไม้ต่างๆ หรือหลงทาง นอกจากนี้ค้างคาวพวกนี้ยังมีประสาทรับกลิ่นที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้มันสามารถค้นหาผลไม้สุก หรือดอกไม้ที่บานตอนกลางคืนได้อย่างง่ายดา
  3. ค้างคาวกินแมลงพัฒนาระบบหาทิศทางจนมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเครื่องมือหาทิศทางที่ใช้ในเรือดำน้ำ โดยจะปล่อยคลื่นที่มีความถี่สูง ซึ่งหูของคนเราไม่สามารถได้ยิน ออกจากปากหรือจมูกและจะคอยฟังเสียงสะท้อนกลับจากวัตถุรอบตัว ซึ่งจะทำให้มันรับรู้ได้ในทำนอง เดียวกับที่มนุษย์มองเห็นสิ่งต่างๆ ระบบเสียงสะท้อนนี้ก้าวหน้าเกินกว่าระบบการหาทิศทางใด ๆ ที่มนุษย์ได้สร้างมา ค้างคาวสามารถค้นหาวัตถุขนาดเล็กเท่าเส้นผมคนในความมืดสนิทได้ นอกจากนี้ค้างคาวกินแมลงบางชนิด เช่น ค้างคาวในวงศ์ค้างคาวมงกุฎ และวงศ์ค้างคาวหน้ายักษ์ มีการพัฒนารูปหน้าเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการหาทิศทาง เช่น มีหูขนาดใหญ่ มีใบหน้าคล้ายดอกไม้บาน โดยที่ใบหน้าทำหน้าที่ส่งคลื่นไปด้านหน้า ขณะที่หูทำหน้าที่เหมือนจานรับสัญญาณดาวเทียม คอยรับเสียงที่สะท้อนกลับมา
  4. ค้างคาวส่งเสียงร้องที่เรียกว่า “เสียงอุลตราโซนิก” ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่สูงมากกว่า 20 กิโลเฮิร์ซคลื่นเสียงอุลตราโซนิกนี้จะสะท้อนกลับมาเมื่อไปกระทบสิ่งกีดขวาง สมองของค้างคาวจะแปลความหมายและสามารถบอกได้ว่าคลื่นเสียงที่มันเปล่งออกไปนั้นไปกระทบอะไร เหยื่อหรือศัตรู อยู่ห่างออกไปเท่าใด ทิศทางไหน และเคลื่อนที่ไปรวดเร็วเพียงใด ระบบการส่งเสียงและรับเสียงของค้างคาวนี้เรียกว่า Echo-location ปัจจุบันสามารถตรวจสอบการส่งคลื่นเสียงของค้างคาวได้ ซึ่งค้างคาวแต่ละชนิดจะส่งคลื่นเสียงออกมาด้วยความถี่ที่แตกต่างกัน

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top