เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B คืออะไร

กรณีดารานักแสดงชื่อดัง ที่ติดเชื้อแบคทีเรียทำให้แขนขาไม่มีเรี่ยวแรงเป็นเวลากว่า 10 วัน ผู้ป่วยได้มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หลังจากที่เล่นสควอชเป็นเวลานาน จากนั้นอาการรุนแรงมากขึ้น มีอาการปวดตามข้อ สะโพก ข้อเท้า ข้อมือ และมีอาการแขน ขา ซีกขวาชาอ่อนแรง เมื่อส่งเลือดตรวจพบว่ามีเม็ดเลือดขาวมาก จึงทำการเพาะเชื้อ และตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งผลการเพาะเชื้อพบว่าติดเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) กลุ่ม บี จึงให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา

เชื้อแบคทีเรียที่ตรวจพบนั้นเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไป และพบมากในหญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ร่างกายไม่แข็งแรง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายงานว่าพบการติดเชื้อโรคนี้ในคนปกติมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ และสมอง พบว่าร้อยละ 20-30ของผู้ป่วย จะหาต้นตอที่มาของเชื้อไม่ได้

เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B

การติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B พบได้ทั่วไป ผู้ที่ได้รับเชื้อบางรายไม่เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด ตัวเชื้อเองพบได้ในลำไส้ ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ และลำคอ ร้อยละ 25 ของหญิงตั้งครรภ์ จะพบเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B ในช่องค ลอดและทวารหนัก ผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่เกิดโรคจัดเป็นพาหะ โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์

ชื่อเต็มของเชื้อนี้ คือ Lancefield group B beta streptococci, Streptococcus agalactiae ครั้งหนึ่งเชื่อว่าเป็นเชื้อก่อโรคในสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อในวัว ก่อให้เกิดอาการเต้านมอักเสบที่รุนแรง ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อ S agalactiae เกิดขึ้นบ่อยที่สุดภายหลังการคลอด เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของภาวะติดเชื้อรุนแรงในทารกแรกเกิด ระยะหลัง ๆ เริ่มมีรายงานทางการแพทย์มากขึ้นเกี่ยวกับการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B ในผู้ป่วยที่ไม่ใช่หญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะในผู้ที่สูงอายุที่มีโรคประจำตัว

อาการในรายที่การติดเชื้อรุนแรง

ในรายที่รุนแรง เรียกว่า invasive disease พบว่า เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B จะกระจายเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อ กระดูกและข้อติดเชื้อ และในบางรายอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบประสาทได้ มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B เกิดภาวะลิ้นหัวใจอักเสบ ผิวหนังติดเชื้อ และพบการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B ในผู้ป่วยโรคเบาหวานผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะสำหรับเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส Group B แพทย์จะพิจารณาใช้ยาในกลุ่มเพนนิซิลลินเป็นหลัก ในรายดารานักแสดงดังกล่าว แพทย์พิจารณาให้การรักษาด้วยด้วยยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฉีดและใช้เวลารักษานานกว่าทั่วไป จากปกติที่ใช้เวลา 2 สัปดาห์ แต่ในกรณีนี้จะต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์และต้องให้ยามากกว่าปกติ 2-3 เท่า

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ผู้ประพันธ์

Scroll to Top