อาการชักในเด็ก

อาการชักในเด็กมีหลายรูปแบบขึ้นกับว่าสมองส่วนใดที่ทำงานผิดปกติ เด็กบางคนอาจมีแค่อาการเหม่อลอยช่วงสั้นๆเหมือนใจลอย โดยไม่มีอาการเกร็งหรือกระตุกของร่างกายให้เห็น บางคนอาจมีอาการเหมือนเป็นลมล้มลงทันที

โรคลมชักบางชนิดสามารถทำให้เด็กมีอาการชักได้หลายรูปแบบ อาการ ชักบางประเภทเกิดเฉพาะบางช่วงอายุเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ รูปแบบอาการชักในแต่ละช่วงอายุจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกชนิดของโรคลมชักใน เด็กได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ อาการชักอาจจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีไข้สูงๆ มักจะมากกว่า 40 องศาเซลเซียส เรียกว่า Acute Febrile Seizure ซึ่งเกิดในเด็กที่อายุ 6 เดือนถึง 5 ปี สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการพัฒนาของสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ในช่วงอายุน้อยจึงทำให้กลไกการปรับอุณหภูมิทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาการชักนี้ จะไม่เกี่ยวกับพยาธิสภาพในสมองของเด็ก และจะไม่ทิ้งรอยโรคไว้ในสมองเด็ก เมื่ออายุมากขึ้น อาการชักเมื่อมีไข้สูงจะหายไปเอง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดภาวะชักนี้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจึงควรให้บุตรหลานทานยาลดไข้และเช็ดตัว เพื่อไม่ให้อุณหภูมิกายเด็กแตะ 40 องศาเซลเซียส

อาการชักไม่ใช่แค่เกร็งกระตุกทั้งตัว

อาการชักที่เป็นที่รู้จักกันดี และสามารถสังเกตได้ชัดเจนคือ อาการเกร็งกระตุกทั้งตัว ตาเหลือก และหมดสติไม่รูสึกตัว ซึ่งสมัยก่อนเรียก อาการชักเช่นนี้ว่า “ลมบ้าหมู” นอกจากนี้ยังมีอาการชักบางประเภทที่ผู้ป่วยอาจไม่ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ได้แก่

  • อาการชักเฉพาะส่วน (Partial Seizure) เช่น อาการกระตุกของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ใบหน้า อาการคลื่นไส้ปวดท้อง อาการกลัวหรือความรู้สึกแปลกๆ อาการเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว ผู้ป่วยที่มีอาการชักเฉพาะส่วนจะรู้สึกตัวดี สามารถพูดคุยได้ระหว่างที่ชัก แต่ในบางรายอาจหมดสติในระยะเวลาต่อมา
  • อาการชักแบบซับซ้อน (Complex Partial Seizure) ผู้ ป่วยมักมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น อาการกลัว อาการปวดท้อง คลื่นไส้ ต่อมาผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ในช่วงที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ และซ้ำๆ เช่น ทำปากขมุบขมิบ เคี้ยวปาก ขยับมือไปมา หรือ ใช้มือขยำเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว หลังจากนั้นผู้ป่วอาจมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว เมื่อหยุดชักมักมีอาการอ่อนเพลีย หรือสับสน และจำเหตุการณ์ขณะชักไม่ได้
  • อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence Seizure) พบ ได้บ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะหยุดพูดหรือหยุดเล่นทันที ไม่ตอบสนองต่อการเรียก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายคล้ายๆกับอาการเหม่อ เป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาทีอาจมีกระพริบตาถี่ๆร่วมด้วย โดยไม่มีการกระตุกของแขนขาระหว่างชัก หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถกลับมาคุย หรือเล่นต่อได้ตามปกติ
  • อาการกระตุกแขนขาเป็นชุดๆ (Infantile Spasm) พบ บ่อยในเด็กช่วงอายุ 3 เดือนถึง 1ปี เด็กมีอาการกระตุกแขนขาสองข้างโอบเข้าหาตัวและศีรษะกระตุกก้มเป็นจังหวะ เหมือนพยักหน้า (Flexion Type) หรือแขนขาสองข้างเหยียดออกไปข้างหลังและศีรษะกระตุกเงยขึ้นเป็นจังหวะ (Extentsion Type) หรือสองแบบรวมกัน อาการกระตุกดังกล่าวมักเกิดเป็นชุดๆติดต่อกัน บางครั้งมีอาการได้มากเป็นหลายร้อยครั้งต่อวัน
  • อาการชักแบบตัวอ่อน (Atonic Seizure) ผู้ ป่วยจะไม่อาการเกร็งกระตุกให้เห็น แต่ชักแบบตัวอ่อน ไม่มีแรงหมดสติล้มลงทันที อาการคล้ายคนเป็นลม แต่ลักษณะชักเช่นนี้เกิดอย่างรวดเร็วไม่มีอาการเตือนมาก่อนผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการชักได้หลายแบบในคนเดียวกัน (Lennox-Gastaut Sydrome) เช่น บางครั้งชักแบบเหม่อนิ่ง ต่อมาชักแบบซับซ้อน หรือกระตุกบางส่วนร่วมกับมีการพัฒนาการช้ากว่าปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการชักหลายแบบมักจะควบคุมอาการได้ยาก

ที่มา: นพ.มนตรี แสงภัทราชัย
ศูนย์สมองกรุงเทพ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top