ความผิดปกติของถุงน้ำดี

ถุง น้ำดี (gall bladder) ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย โดยอยู่ใต้ตับบริเวณชายโครงด้านขวา ถุงน้ำดีมีรูปร่างคล้ายลูกแพร ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ถุงน้ำดีจะเป็นที่เก็บน้ำดีซึ่งสร้างจากตับ และจะมีท่อน้ำดีไปเปิดสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยน้ำดีมีหน้าที่ย่อยอาหารประเภทไขมัน
ความผิดปกติของถุงน้ำดีที่พบบ่อย คือ นิ่วในถุงน้ำดี และถุงน้ำดีอักเสบ

นิ่วในถุงน้ำดี

1. มักพบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วน ใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน และอยู่ในวัยกลางคนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่มีอาการใดๆ เลย หรือบางรายอาจมีอาการแน่นอึดอัด เหมือนอาหารไม่ย่อยภายหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารที่มีไขมันสูง จะยิ่งมีอาการมากขึ้น
2. นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย มักจะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง อาหารไม่ย่อย แน่น อึดอัด จุก เสียด อาจ มีอาการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน หรือเป็นสาเหตุในตับอ่อนอักเสบ ซึ่งถ้ามีอาการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว พบว่าการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกจะได้ผลดีที่สุด และผู้ป่วยมักจะหายขาดจากอาการดังกล่าว
3. ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการผ่าตัดถุงน้ำดี จากการผ่าตัดทางหน้าท้องทั่วๆ ไปมาเป็นการเจาะผนังหน้าท้อง โดยใช้กล้องวิดิทัศน์ และเครื่องมือสอดผ่านเข้าไปตัดเอาถุงน้ำดีออก ผลดีจากการใช้เทคนิคใหม่นี้คือ สามารถลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดหน้าท้องทั่วไป ได้อย่างมาก ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหว และรับประทานอาหารได้ในวันแรกหลังผ่าตัด ลดเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดเหลือเพียงประมาณ 2 – 3 วัน เทียบกับ 6 – 7 วัน จากการผ่าตัดหน้าท้อง สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณร้อยละ 30 ผู้ป่วยสามารถกลับไปประกอบอาชีพได้เร็วกว่ามาก
4. ข้อจำกัดในการใช้เทคนิคใหม่ พบ ว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาผ่าตัดทางหน้าท้องแทน หลังจากได้พยายามทำโดยการเจาะแล้วประมาณร้อยละ 3-5 ซึ่งมักจะเป็นเหตุผลทางด้านเทคนิคต่างๆ ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ผู้ให้การรักษา เป็นข้อสำคัญที่สุดในการที่จะบอกได้ว่าผลทางการรักษาจะดีหรือไม่ เป็นที่ยอมรับกันว่า ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการทำน้อยกว่า 25 ราย อาจจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้ถึงร้อยละ 67 เทียบกับผู้ที่ทำ 50 รายขึ้นไป จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้เพียงร้อยละ 14-19 ปัจจุบันการรักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดิทัศน์ นับเป็นการรักษาแบบมาตรฐาน ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากแผลผ่าตัดใหญ่ๆ อีกต่อไป

โรคถุงน้ำดีอักเสบ

1. มักจะเกิดร่วมกับคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดี อาการของโรคนี้มักจะมีไข้สูง ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจมีคลื่นไส้อาเจียนและตาเหลืองร่วมด้วย
2. ถุงน้ำดีอักเสบ มักเป็นโรคแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี มีเพียงส่วนน้อยที่อาจไม่พบร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดี แต่อาจพบในโรคอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ตับอ่อนอักเสบ ความผิดปกติของท่อส่งน้ำดี เป็นต้น
3. ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีเฉียบพลัน จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน
4. อาการแทรกซ้อนของโรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน อาจทำให้เกิด ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีเน่า ถุงน้ำดีทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ
5. โรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดนิ่วในท่อส่งน้ำดี ตับอ่อนอักเสบ และอาจมีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งของถุงน้ำดี

คำแนะนำ

ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของถุงน้ำดี โดยมีอาการดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว ท่านควรไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดย แพทย์จะสอบถามอาการอย่างละเอียด ตรวจร่างกายเพื่อการวิเคราะห์โรคให้ถูกต้อง แพทย์อาจต้องส่งไปทำอัลตราซาวด์ของช่องท้อง ซึ่งสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมีนิ่วในถุงน้ำดี หรือมีอาการอักเสบของถุงน้ำดีหรือไม่ การทำอัลตราซาวด์จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top