การเลือกวิธีคุมกำเนิด

ผู้ชายและผู้หญิง เมื่อโตเป็นหนุ่มสาวก็พร้อมที่จะสร้างครอบครัวและมีบุตร ในปัจจุบันวัฒนธรรม ค่านิยมแบบสังคมตะวันตกเริ่มเข้ามาในประเทศทำให้คนมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุน้อยลง สภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้จำเป็นต้องมีการวางแผนครอบครัวเพื่อกำหนดจำนวนบุตร และระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่คู่สมรสจะได้มีเวลาสร้างฐานะ และปรับตัว การคุมกำเนิดที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปเช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดซึ่งสามารถวางขายตามร้านขายยา ท่านผู้อ่านสามารถซื้อหามารับประทานได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ท่านทราบหรือไม่ ว่ายาคุมกำเนิดก็มีผลเสีย หากใช้ไม่ระวังก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงของยา นอกจากเหตุผลดังกล่าวปัญหายังมีเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้ท่านผู้อ่านต้องเรียนรู้ และสามารถเลือกวิธีคุมกำเนิดได้อย่างถูกต้อง

หลักการคุมกำเนิดคือการป้องกันไม่ให้อสุจิของฝ่ายชายปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิง หรือหากปฏิสนธิก็เป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนนั้นฝังตัวที่มดลูก ซึ่งมีวิธีการต่างๆ หลายวิธี การคุมกำเนิดในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งปัจจุบันมีทั้งของเพศชายและเพศหญิง การใช้หมวกครอบปากมดลูก การใช้ฟองน้ำ การใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิ การใช้ฮอร์โมนแท่งฝังใต้ผิวหนัง หรือการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติคือการนับวัน และการหลั่งน้ำอสุจินอกช่องคลอด ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือเป็น การคุมกำเนิดชั่วคราว คือถ้าหยุดคุมกำเนิดก็จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ และอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าการทำหมัน ถือเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร โดยการผ่าตัดท่อนำไข่ให้ขาดจากกัน หรือการทำให้ท่อนำไข่อุดตัน หรือการการทำหมันถาวรในชายโดยการตัดผูกท่อนำอสุจิ

image 7

สำหรับการที่จะเลือกใช้วิธีใดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ ควรจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน

1.ลักษณะสม่ำเสมอของรอบระดูเป็นอย่างไรความถี่ห่างของการมีเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร
2.ลักษณะงานของท่านที่จะทำให้ท่านสามารถทานยาได้ตรงเวลาหรือไม่
3.การตั้งครรภ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จะมีอันตรายต่อสุขภาพมากน้อยเพียงไร
4.ท่านยังต้องการมีบุตรอีกหรือไม่
5.ท่านมีความเสี่ยงต่อการใช้ฮอร์โมนบ้างหรือไม่ เช่นกรณีที่ท่านสูบบุหรี่ อายุเกิน 35 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานหรือไม่
6.ถือเป็นข้อที่จำเป็นที่สุดคือ ท่านต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เพื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับท่าน

การเลือกวิธีคุมกำเนิด

1.การเลือกวิธีคุมกำเนิดขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น สุขภาพ ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ จำนวนของคู่นอน ความต้องการมีบุตรในอนาคต
2.วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ และปลอดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คือการไม่มีเพศสัมพันธ์
3.ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอควรจะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีด ใส่ห่วง
4.ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย ให้ใช้ ถุงยางอนามัย
5.ผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้ใช้ถุงยางอนามัย
6.ถ้าไม่แน่ใจว่าแฟนมีโรคติดต่อหรือไม่ไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย
7.ผู้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการวางแผนเช่น ถูกข่มขืนควรใช้ยาคุมชนิดหลังร่วมเพศ
8.นอกจากปัจจัยดังกล่าวยังต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้วยตารางแสดงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด

เมื่อคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 1 ปี ในสตรี100คน จะพบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์ดังนี้

  • ตั้งครรภ์น้อยกว่า 1% ได้แก่ การฝังยา, การใส่ห่วงอนามัย, การทำหมันหญิง
  • ตั้งครรภ์ 6-12% ได้แก่ การฉีดยาคุมกำเนิด, การใช้ยากินคุมกำเนิด, แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด, ห่วงวงแหวนใส่ช่องคลอด, หมวกครอบปากมดลูก
  • ตั้งครรภ์ มากกว่า18% ได้แก่ ถุงยางอนามัย, สารเคมีฆ่าตัวอสุจิ, การนับวันปลอดภัย

วิธีการคุมกำเนิดโดยการนับวันที่ที่ปลอดภัย

1.การนับวันที่ที่ปลอดภัย หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ก่อน 7 หลัง 7” ซึ่งหมายถึงนับจากวันที่มีประจำเดือนคราวที่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าประจำเดือนจะมาอีกครั้งเป็นวันที่เท่าไร โดยช่วงก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา 7 วัน และนับจากที่มีประจำเดือนมา ต่อไปอีก 7 วัน เบ็ดเสร็จรวม 14 วัน นับเป็นช่วงที่ปลอดภัย
2.เป็นวิธีการควบคุมกำเนิดแบบวิถีธรรมชาติ ทั้งนี้ในการนับจะได้ผลดีเมื่อมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ เป็นรอบที่แน่นอน แต่ก็เสี่ยงต่อการจำวันผิดพลาด ถ้าไม่ได้มีการจดบันทึก
3.อีกประการหนึ่งคือ ช่วงที่มีประจำเดือนปากมดลูกจะเปิดเพื่อให้ขับเลือดออก ถ้ามีเพศสัมพันธ์ช่วงนั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อทำให้มดลูกอักเสบ มีมากกว่าช่วงปกติ เพราะเชื้ออสุจิจะนำเอาเชื้อโรคภายนอก เข้าสู่โพรงมดลูกที่มีการลอกหลุดทำให้เกิดปัญหาได้

วิธีการคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์

1.การนำวิธีคุมกำเนิด มาใช้หลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว พบได้มากในสังคมปัจจุบัน เพราะมีอิสระในการหาซื้อยา และมีอิสระในเรื่องเพศ
2.วิธีการคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์มีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เพื่อป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อน โดยเพิ่มการเคลื่อนไหว บีบตัวของมดลุกและท่อนำไข่ ทำให้การผสมกันระหว่างไข่ และเชื้ออสุจิเป็นไปได้ยาก ยากลุ่มนี้ชื่อ ออพรอล (Ovral) โดยรับประทานครั้งเดียว 4 เม็ด หลังร่วมเพศ พบว่า มีผลคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ได้ อาการข้างเคียงจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อย ปัจจุบันจึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน
3.ยาอีกชนิดที่นำมาใช้คือ โพสตินอร์ (Postinor) ซึ่งมีปริมาณโปรเจสตินสูง เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน และควรใช้หลังร่วมเพศภายใน 3 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง แต่อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
4.การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ก็มีการนำมาใช้ โดยใส่ห่วงอนามัยภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ นับว่าป้องกันการตั้งครรภ์ก็ได้ผลดี

ยาเม็ดคุมกำเนิด

1.ปัจจุบันวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุด และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกคือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน มีสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงาน ปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพสูงมาในการป้องกันการตั้งครรภ์ และมีอาการข้างเคียงรวมทั้งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญอาหารของร่างการน้อย นอกจากนี้ยาเม็ดคุมกำเนิดยังมีประโยชน์ในการลดโอกาสเกิดโรคต่างๆ ทางนรีเวช เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ และการอักเสบในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
2.ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันโดยทั่วไปเป็นชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งหมายถึง ฮอร์โมนสังเคราะห์เอสโตรเจนและโปรเจสติน ฮอร์โมนทั้งสองชนิดมีหน้าที่หลักในการระงับการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว นอกจากนี้โปรเจสตินยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิผ่านได้ยาก และมีผลโดยตรงต่อตัวอสุจิทำให้ไม่สามารถผสมกับไข่ได้
3.การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ควรเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแรกในวันที่ 5 วันแรกของรอบเดือนและควรรับประทานหลังอาหารในเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับยาคุมชนิด 28 เม็ด ให้รับประทานเรียงตามลูกศรติดต่อกันทุกวัน เมื่อหมดแผงแล้วให้เริ่มแผงใหม่ในรุ่งขึ้น
4.ยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด มีฮอร์โมนจริงๆ 21 เม็ด ส่วนอีก 7 เม็ดเป็นวิตามินไม่มีฮอร์โมน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแผงใหม่ สำหรับยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด เป็นฮอร์โมนทั้ง 21 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแผงแล้ว 7 วัน แล้วจึงเริ่มยาแผงใหม่
5.หากลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด 1 เม็ด ให้รับประทานเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดที่เหลือต่อไปตามเวลาจนหมดแผง ถ้าลืมรับประทาน 2 เม็ดให้รับประทานวันละสองเม็ดสองวัน โดยรับประทานเพิ่มหนึ่งเม็ดหลังอาหารเช้าสองวัน และมื้อเย็น หรือก่อนนอน รับประทานเหมือนเดิม ถ้าลืมใน 1-7 เม็ดแรก ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัย ถ้าลืมรับประทาน 3 เม็ด ให้หยุดยาเพื่อรอให้ประจำเดือนมา โดยระหว่างรอประจำเดือนมาให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นเช่น ถุงยางอนามัย เมื่อประจำเดือนมาแล้วให้เริ่มรับประทานแผงใหม่ภายใน 5 วันแรกของประจำเดือน แต่ถ้ายาเม็ดที่ที่ลืมรับประทาน เป็นเม็ดที่ 15-21 ของแผงซึ่งเป็นฮอร์โมน เมื่อรับประทานยาจนหมดไม่ต้องเว้นระยะ 7 วัน และควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัย
6.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไมโครโดส เป็นชนิดที่ประกอบด้วยโปรเจสตินขนาดต่ำ ข้อดีของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้คือ ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ จึงไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนมขณะให้นมบุตร และไม่มีอาการข้างเคียงทางระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ และมักทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยด้วย

ยาฉีดคุมกำเนิด

1.ฮอร์โมนที่ใช้ในยาฉีดกำเนิดมักเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดโปรเจสติน การคุมกำเนิดชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน และอาการค้างเคียงต่ำ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกายอมรับและจดทะเบียบให้ฮอร์โมนชนิด Depot MedroxyProgesterone Acetate (DMPA) ปัจจุบันยาฉีดคุมกำเนิดเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มจะใช้เพิ่มขึ้นทั่วโลก
2.กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์ ยาฉีดคุมกำเนิด DMPA มีฤทธิ์ระงับการตกไข่ ทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เชื้ออสุจิจึงผ่านเข้าไปได้ยาก และยังทำให้สภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน โดยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีลักษณะบางหรือฝ่อ นอกจากนี้ยังทำให้หลอดมดลูกบีบตัวน้อยลงทำให้ไข่เดินทางไม่เป็นไปตามปกติ และลดความสามารถของอสุจิที่ผสมกับไข่ด้วย
3.การฉีดยาคุมกำเนิด ควรเริ่มฉีดภายในวันที่ 1-5 ของรอบเดือน ถ้าเป็นการฉีดหลังคลอดบุตร ให้ฉีดยาฉีดคุมกำเนิดภายหลังคลอดบุตรเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ อาจฉีดทันทีหลังคลอด โดยพบว่ายาฉีด DMPA ไม่ทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง และไม่มีผลต่อการพัฒนาการของทารก ภายหลังจากการฉีดเข็มแรกควรฉีดเข็มต่อไปทุก 12 สัปดาห์ หรือ 84 วัน
4.ยาฉีด DMPA ออกฤทธิ์นาน 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกวันเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด จึงไม่ต้องกลัวการหลงลืมเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดยังมีประสิทธิภาพสูง มีอาการข้างเคียงน้อยทำให้เลือดออกทางช่องคลอดน้อยกว่ารอบระดูปกติ
5.อาการข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิด อาจทำให้เลือดออกกระปริดกระปรอย ซึ่งมักพบใน 3 เดือนแรกหลังฉีดยา หลังจากนั้นเลือดที่ออกจะน้อยลง เมื่อฉีดเข็มต่อๆ ไป อย่างไรก็ตามควรได้รับการตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีเลือดออกกระปริดกระปรอยด้วย นอกจากนี้การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ไม่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกแต่อย่างใด
6.ยาฉีด DMPA ทำให้สตรีส่วนใหญ่มีน้ำหนักเพิ่ม 1-5 กิโลกรัมใน 1 ปี จึงควรรับประทานอาหารที่เหมาะสม และออกกำลังกายร่วมด้วย ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากหรือรวดเร็ว โดยไม่มีสาเหตุอื่นอาจเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (Norplant)

1.เป็นยาคุมที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินลักษณะเป็นหลอดซิลิโคน ใช้ฝังบริเวณต้นแขนด้านใน โดยฮอร์โมนจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยสู่ร่างกายช้าๆ
2.มีผลคุมกำเนิดนานประมาณ 5 ปี เหมาะสำหรับผู้มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือต้องการเว้นระยะห่างของการมีบุตรนานๆ
3.ปัจจุบันสะดวกสามารถรับบริการได้ตามโรงพยาบาลของรัฐ และคลินิคทั่วไป

การใส่ห่วงอนามัย (IUD)

1.เป็นการคุมกำเนิดที่นิยมทำกันในสตรี ที่ต้องการคุมกำเนิดนานๆ อาจใส่หลังคลอดหรือช่วงประจำเดือนมา
2.ปัจจุบันมีห่วงที่นิยมใช้อยู่ 2 แบบ คือ คอปเปอร์ที (CU-T) และมัลติโหลด (Multiload) การใส่ห่วงอนามัยต้องอาศัยบุลากร ที่ผ่านการอบรมด้านเทคนิคเพราะห่วงจะต้องใส่เข้าไปอยู่ในโพรงมดลูก
3.ห่วงสามารถคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3 ปี หลังใส่อาจมีอาการปวดเกร็งท้องได้ ห่วงอนามัยไม่เหมาะกับ คนที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน รับประทานยากดภูมิ เป็นมะเร็งหรือมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่บ่อย เพราะที่บริเวณต่อจากห่วงจะมีเชือกต่อออกมาบริเวณปากมดลูก ใช้เป็นตัวตรวจสอบสอบว่าห่วงยังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ เชือกนี้จะเป็นจุดที่เชื้อเข้าสู่มดลูกได้
4.นอกจากตรวจสอบดูเชือกแล้วต้องได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง หรือเมื่อมีความปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องเกร็ง หรือคลำเชือกไม่พบ

การสวมถุงยางอนามัยสตรี (Diaphragm)

1.เป็นถุงยางขนาดค่อนข้างใหญ่ให้ผู้หญิงสวมก่อนมีเพศสัมพันธ์มีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเพิ่มความนิยมช่วงที่มีการนำเอามาใช้ป้องกันโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ ปัจจุบันออกแบบใช้สะดวกขึ้น ไม่รำคาญ ใช้ง่าย ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เหมาะสำหรับการคุมกำเนิด และป้องกันการติดเชื้อ กรณีผู้ชายปฏิเสธถุงยางอนามัยแบบผู้ชายการสวมถุงยางอนามัยผู้ชาย (Condom)
เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ง่ายสะดวก และมีความปลอดภัย ในการป้องกันการตั้งครรภ์ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ หนองใน แผลริมอ่อน ซิฟิลิส แต่ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูกได้
2.เทคนิควิธีการใช้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ กล่าวคือ ต้องมีการพิจารณาถึงคุณภาพ และชนิดของถุงยาง โดยดูวันหมดอายุ การฉีกซองต้องระวังถุงยางจะรั่วขาด การสวมต้องขณะอวัยวะเพศชายแข็งตัว โดยบีบที่ปลายถุง แล้วสวมเพื่อให้ส่วนปลายเป็นที่รองรับน้ำอสุจิที่จะหลั่งออกมา ห้ามใช้วาสลินหรือน้ำมันเป็นสารหล่อลื่น แต่ให้ใช้เจลหรือน้ำแทน เมื่อใช้เสร็จการถอดต้องใช้กระดาษทิชชูพันรอบ แล้วดึงออกมานำทิ้งในภาชนะที่จัดไว้ เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย หาง่าย ราคาไม่แพง

การคุมกำเนิดแบบถาวร

1.ในผู้หญิงอาจทำหลังจากคลอดขณะอยู่โรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์แรก เรียกว่า หมันเปียก สะดวกสำหรับผู้ที่มีบุตรพอเพียง การผ่าตัดใช้เวลาไม่นาน โดยทำการผูก และตัดท่อนำไข่ การทำวิธีนี้อาจทำร่วมกับผ่าตัดช่องท้องอย่างอื่น หรือทำช่วงไหนก็ได้เรียกหมันแห้ง
2.การทำหมันถาวรในผู้ชายโดยการตัดท่อนำอสุจิ ทำเวลาไหนก็ได้ที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง แผลเล็กใช้เวลาสั้น ประมาณ 20 นาทีก็เสร็จ หลังจากทำแล้วต้องชี้แจงให้ทราบว่า ยังคงมีเชื้ออสุจิค้างอยู่ในท่อนำน้ำเชื้อ จึงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่น โดย รอจนนานกว่า 3 เดือน เพราะการสร้างเชื้ออสุจิใช้เวลาประมาณนั้น

อ้างอิง

1.Contraception Issues in Adolescent Health and Development, WHO 2004
2.Birth control FAQ 112 the American College of Obstetricians and Gynecologists, ACOG

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
453 บทความผู้ประพันธ์

พ.ต. นพ. จักรพันธ์ ศุภเดช
สูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ (อนุสาขาเวชศาสตร์เจริญพันธ์)2 บทความผู้ปรับปรุง

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ161 บทความที่ปรึกษา

Scroll to Top