โรคฮิต ฤดูฝน ตอนที่ 2 : โรคระบบทางเดินอาหาร

โรคพบบ่อยช่วงฤดูฝน ตอนที่ 1 ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพได้แนะนำโรคติดต่อที่เกิดจากยุงกันไปแล้ว สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยได้ประกาศเตือนประชาชนทั้งหมด 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด โรคไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) และ โรคตับอักเสบ (Hepatitis)

จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2556 โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เนื่องจากในฤดูฝนมีความชื้นในอากาศมากทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อ ได้ดี อีกทั้งน้ำที่ใช้บริโภคอุปโภคอาจไม่สะอาดจึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคได้ เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ดังนั้นจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารกันครับ

1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติเกิน 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกปนเลือด 1 ครั้งต่อวัน โดยอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจถ่ายบ่อยมากถึงกว่า 20 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้จะต้องที่ไม่เคยมีอาการถ่ายเหลวเป็นๆ หายๆ มาก่อน และอาการแบบเฉียบพลันนี้จะอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อหรือได้รับสารพิษที่เชื้อโรคผลิตขึ้นจาก การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต หรือเชื้อหลายประเภทปะปนกัน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันพบได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุมักเกิดอาการรุนแรง เชื้อก่อโรคที่เป็นไวรัส เช่น นอร์วอล์คไวรัส (Norwalk virus) โรต้าไวรัส (Rotavirus) อะดีโนไวรัส (Enteric-type adenovirus) ฯลฯ ส่วนเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น เชื้ออหิวาห์ตกโรค (Vibrio cholera หรือ Vibrio parahaemolyticus) เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) เชื้อแอโรโมแนส (Aeromonas) เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter jejuni) ฯลฯ

การติดต่อ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อน หรือจากการปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อก่อโรค แล้วอาหารหรือน้ำนั้นไม่ถูกทำให้สุกนานพอจึงทำให้ยังมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ ซึ่งถ้าได้รับเชื้อโรคปริมาณมากพอก็จะทำให้เกิดอาการได้ และเมื่อเชื้อถูกขับออกมาในอุจจาระหากไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ ก็อาจปนเปื้อนกับแหล่งน้ำหรือสิ่งที่ใช้ประกอบอาหารต่อไป ทำให้เกิดการติดต่อถึงผู้อื่นได้อีก

เชื้อส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายของคนมาจาก อุจจาระที่มีเชื้อแล้วปนเปื้อนอยู่ในอาหารแล้วถูกรับประทานเข้าสู่ร่างกาย (Fecal-oral route) ซึ่งมักเกิดจากการถ่ายอุจจาระที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ไม่ถ่ายในห้องส้วม หรือหลังถ่ายอุจจาระแล้วไม่ล้างมือให้สะอาดพอแล้วใช้มือหยิบอาหารหรือสิ่ง ของเครื่องใช้หรือสิ่งต่างๆ ทำให้คนที่มากินอาหารหรือสัมผัสสิ่งของมีโอกาสได้รับเชื้อได้

อาการที่พบ

ขึ้นกับชนิดของเชื้อ ส่วนใหญ่เชื้อมีระยะฟักตัว 1-3 วัน (ปกติไม่เกิน 1-2 วัน) แล้วจึงเริ่มปรากฏอาการ ได้แก่

  • ถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติบ่อยครั้งเกิน 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกปนเลือด 1 ครั้งต่อวัน
  • อาจมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดเบ่งถ่าย
  • เมื่อถ่ายเหลวปริมาณมากและบ่อยจะเกิดภาวะขาดน้ำ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะน้อยลง

อาการที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • ถ่ายอุจจาระเหลวปริมาณมาก สูญเสียน้ำมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย หรือซึมลง
  • อาการปวดท้องรุนแรง หรืออาเจียนมาก
  • มีอาการอยู่นานเกินกว่า 5-7 วัน
  • หลังรับประทานยาที่แพทย์จัดให้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะ แทรกซ้อนส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือภาวะขาดน้ำรุนแรง ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลง ซึมลงหรือเพ้อไม่รู้ตัว อาจมีความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ในเลือด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วม กับการให้เกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อทดแทนส่วนที่ร่างกายสูญเสียไป

2. โรคบิด

โรคบิด หมายถึงอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย มีอาการปวดเบ่งบ่อยครั้ง สมัยก่อนโรคนี้ถูกเรียกอยู่ 2 แบบคือ “โรคบิดมีตัว” และ “โรคบิดไม่มีตัว” ซึ่ง โรคบิดมีตัวหรือ “บิดอะมีบา” เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว (เชื้ออะมีบา)เข้าสู่ลำไส้ เช่นเชื้อเอนทามีบา (Entamoeba histolytica ) ส่วนโรคบิดไม่มีตัวหรือ “บิดชิเกลล่า” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสกุล “ชิเกลล่า” (Shigella spp.) โรคบิดทั้งสองแบบนี้สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ โดยผู้ป่วยเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยวัยอื่น เชื้อจะทำให้เกิดอาการปวดบิด ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายมีมูกหรือมูกปนเลือด การรักษาคือการรับประทานหรือฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อในลำไส้ ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการโดยให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำทดแทน อย่างเพียงพอ

การติดต่อ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มี เชื้อบิดปนเปื้อนอยู่ แล้วเชื้อเข้ามาทำลายเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่ ทำให้ผิวลำไส้ใหญ่อักเสบ จนอาจเกิดเป็นหนองหรือทำให้เกิดแผลที่ลำไส้ และเมื่อเชื้อถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระก็สามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้อยู่

อาการของโรคบิดมีตัว (หรือ บิดอะมีบา)

ระยะแรก ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ปริมาณมาก คลื่นไส้อาเจียน มีไข้สูง หลังจากนั้น อาการถ่ายอุจจาระเหลวจะลดลง แต่จะถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือดมากขึ้น มีอาการปวดเบ่งเหมือนอยากถ่ายคล้ายถ่ายไม่สุด เชื้อเอนทามีบาอาจลุกลามจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดไปอวัยวะอื่นโดยเฉพาะ อย่างยิ่งทำให้เกิดฝีหนองที่ตับได้

อาการของโรคบิดไม่มีตัว (หรือ บิดชิเกลล่า)

หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วัน จะเริ่มมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก คลื่นไส้อาเจียน ไข้สูง หลังจากนั้นอาการถ่ายอุจจาระเหลวจะน้อยลง แต่จะถ่ายมีมูกปนเลือดภายใน 12-72 ชั่วโมง โดยอาการจะคงอยู่นานประมาณ 3-5 วัน อาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ถ่ายกะปริบกะปรอยบ่อยครั้งประมาณ 1-3 ครั้งต่อชั่วโมง ปวดเบ่งเหมือนอยากถ่ายคล้ายถ่ายไม่สุด อาจเกิดภาวะขาดน้ำเนื่องร่างกายสูญเสียน้ำไปมาก อาการไข้มักหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการปวดบิดถ่ายอุจจาระเป็นมูกอาจหายเองภายใน 3-5 วันโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ

การป้องกันการติดเชื้อ

  • ใช้ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมหรือรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือต้มสุกแล้ว
  • การทำงานเกี่ยวกับอาหาร ประกอบอาหาร หรือบรรจุอาหาร ต้องไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคบิดทำงานที่ต้องสัมผัสอาหาร เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคแล้วติดต่อไปยังผู้รับประทานอาหารนั้น ได้

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • ถ่ายอุจจาระเหลวปริมาณมาก ร่างกายสูญเสียน้ำมาก รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย หรือซึมลง
  • อาการปวดท้องรุนแรง หรืออาเจียนมาก
  • มีอาการนานเกิน 1 สัปดาห์
  • หลังรับประทานยาที่แพทย์จัดให้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะขาดน้ำรุนแรง ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลง ซึมลงหรือเพ้อไม่ได้สติ
  • ผนังลำไส้ทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • เชื้ออาจลุกลามจนทำให้เกิดฝีหนองที่อวัยวะอื่น เช่นที่ตับ ปอด หัวใจ สมอง ไต หรือแม้แต่บริเวณผิวหนัง
  • เชื้อแบคทีเรีย “ชิเกลล่า” สามารถแพร่กระจายไปที่ข้อ ทำให้ข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณข้อได้

3. โรคไทฟอยด์

โรคไทฟอยด์ หรือ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella typhi) โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานหรือฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

การติดต่อ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มี เชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้ออยู่ในอุจจาระจากมือที่ปนเปื้อนของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของ เชื้อนี้ เมื่อเชื้อเข้ามาสู่ร่างกายจะแบ่งตัวและทำลายเยื่อบุผิวลำไส้จนทำให้เกิด อาการ ผู้ที่ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาตราบใดที่ยังคงพบเชื้อในอุจจาระ สำหรับผู้ที่มีเชื้อนี้ในร่างกายแต่ไม่ได้รับการรักษาก็จะมีเชื้ออยู่ใน อุจจาระและสามารถแพร่เชื้อได้นานถึง 3 เดือน และพบว่าร้อยละ 5 เป็นผู้ที่เป็นพาหะเรื้อรัง

อาการที่พบ

เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 7-14 วันจึงจะเริ่มเกิดอาการ คือมีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันเหมือนลักษณะขั้นบันได ไข้จะสูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องผูก เป็นประมาณ 7 วัน ต่อมาอาจถ่ายอุจจาระเหลวมีมูกเลือดปน

สำหรับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคพาราไทฟอยด์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อซัลโมเนลลา พาราไทฟี สายพันธุ์เอ หรือบี หรือ ซี (Salmonella paratyphi A หรือ B หรือ C) จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคไทฟอยด์

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

  • ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้อง
  • ลดไข้ด้วยการเช็ดตัว และ/หรือ รับประทานยาลดไข้ร่วมด้วย
  • ไม่ ควรรับประทานยาแก้ท้องเสีย หรือยาที่ทำให้หยุดถ่าย เพราะจะทำยังคงมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในลำไส้ไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้อาการแย่ลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
  • ใช้ ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ และควรถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • เมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรใช้ช้อนกลาง หรือแยกสำรับอาหาร
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายแล้วมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 10 แต่อาการจะน้อยกว่า
  • ผู้ที่เป็นพาหะ (มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ) ไม่ควรทำงานที่ต้องสัมผัสอาหารจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อดังกล่าวในอุจจาระ

การป้องกันการติดเชื้อ

  • ใช้ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือต้มสุกแล้ว
  • การ ทำงานเกี่ยวกับอาหาร ประกอบอาหาร หรือบรรจุอาหาร ต้องไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคไทฟอยด์ทำงานที่ต้องสัมผัสอาหาร เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคแล้วติดต่อไปยังผู้รับประทานอาหารนั้น ได้
  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน โรคไทฟอยด์ ทั้งชนิดหยอดทางปากโดยให้ 2 วัน และชนิดฉีดครั้งเดียว ซึ่งวัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันและสามารถป้องกันโรคไทฟอยด์ ได้ประมาณ 2-5 ปี

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดท้องมาก
  • หลังรับประทานยาที่แพทย์จัดให้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน

  • เลือดออกที่ลำไส้ พบร้อยละ 12 และลำไส้ทะลุพบร้อยละ 3-4
  • ตับอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ทำให้เกิดอาการดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง)
  • อาการระบบประสาท เช่น เพ้อสับสน กระสับกระส่าย ซึมลง หรือกล้ามเนื้อกระตุก ชักเกร็ง
  • อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
  • อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 1 อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

โดยสรุป ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลันไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อใดก็ตามที่กล่าวมา ในเบื้องต้นควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือ “โอ อาร์ เอส” (ORS) แทนการดื่มน้ำเปล่า เพื่อให้ร่างกายได้รับสารน้ำและเกลือแร่เพียงพอ
  • งดอาหารที่มีกากหรือย่อยยาก เช่น นม ผักผลไม้ หรืออาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด
  • สามารถรับประทานยาพื้นฐานเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น ยาแก้อาเจียน ยาลดไข้
  • ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • ไม่ ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาหยุด ถ่าย เพราะจะทำให้มีเชื้อสะสมอยู่ภายในสำไส้มากขึ้น จะยิ่งทำให้หายช้าขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับถ่ายเชื้อโรคออกมาได้

การป้องกันการติดเชื้อ

  • ใช้ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมหรือรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือต้มสุกแล้ว

4. อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)

ภาวะอาหารเป็นพิษ หรือ Food poisoning เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย หมายถึง ภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่สร้างจากเชื้อโรคนั้นๆ หรือจากสารพิษหรือสารเคมีที่ไม่ใช่เชื้อโรค ซึ่งครอบคลุมกว้างมาก อาการแสดง เป็นได้ทั้งคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ความรุนแรงของอาการขึ้นกับชนิดและปริมาณการได้รับสิ่งปนเปื้อนนั้น ๆ สามารถแบ่งชนิดของ ภาวะอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) ออกเป็น 2 ชนิด คือ

ภาวะอาหารเป็นพิษที่ ไม่มีการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้

จะเกิดจากมีสารพิษไปทำให้การทำงานของเยื่อบุผิดปกติไป โดยไม่มีการทำลายเยื่อบุ โดยสารพิษนี้อาจจะถูกสร้างหรือมีมาก่อนการรับประทานอาหาร หรือสร้างภายในทางเดินอาหารหลังจากการรับประทานอาหารก็ได้ หรือเกิดจากตัวเชื้อเองทำให้การทำงานของเยื่อบุผนังทางเดินอาหารผิดปกติโดย ตรงก็ได้ ซึ่งเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ได้แก่ เชื้ออหิวาห์ตกโรค (Vibrio cholera), เชื้ออีโคไล ชนิดที่สร้างสารพิษ (Enterotoxic Escherichia coli (ETEC), เชื้อคลอสทริเดียม (Clostridium perfringens), บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus), Staphylococcus spp., เชื้อไกอาเดีย(Giardia lamblia),เชื้อคริพโตสปอริเดียม (Cryptosporidium), โรต้าไวรัส (Rotavirus), โนโรไวรัส (Norovirus) หรือ เชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus)

ภาวะอาหารเป็นพิษที่มีการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้

เกิดจากสารพิษไปทำลายเยื่อบุผนังทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบ มีถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ซึ่งมักเกิดจากเชื้อเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter jejuni), เชื้ออหิวาห์ตกโรค (Vibrio parahaemolyticus),เชื้ออีโคไล ชนิดที่ทำให้ทำให้มีถ่ายเป็นเลือด และรุกรานเซลล์เยื่อบุลำไส้ คล้ายโรคบิดจากเชื้อชิเกลล่า ทำให้มีไข้สูง ท้องเสียรุนแรง (enterohemorrhagic & enteroinvasive E. coli : EHEC และ EIEC), เชื้อเยอซินเนีย (Yersinia enterocolitica, เชื้อคลอสทริเดียม (Clostridium difficile), เชื้อเอนทามีบา (Entamoeba histolytica), เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) หรือ ชิเกลล่า (Shigella) หรือ เกิดภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะอาเจียน ภาวะอ่อนแรง เป็นต้น

ภาวะอาหารเป็นพิษ ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึง ชนิดไม่มีการอักเสบ ซึ่งเกิดจากสารพิษ enterotoxin ทำให้เยื่อบุผนังทางเดินอาหารเช่น เยื่อบุลำไส้ เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการขับสารน้ำออกมากขึ้น รวมถึงการดูดซึมน้ำที่น้อยลงไป ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก และเกิดภาวะขาดน้ำได้ รวมถึงสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดภาวะอาเจียนรุนแรง แต่ไม่รวมถึง “สารพิษ” จากสัตว์เลื้อยคลาน เห็ดหรือโลหะหนัก

การติดต่อ

เกิดจากผู้ป่วยได้รับสารพิษที่ปนเปื้อนใน อาหารหรือน้ำ สารพิษนี้อาจจะถูกสร้างจากเชื้อโรคมาก่อนการรับประทานอาหารหรือน้ำเข้าไป หรือถูกสร้างจากเชื้อโรคภายในทางเดินอาหารหลังจากการรับประทานอาหารหรือน้ำ โดยการปนเปื้อนของเชื้อโรคแต่ละชนิดนั้นจะขึ้นกับชนิดของอาหาร เช่น ข้าว นม เนื้อสัตว์-บก อาหารทะเล ผัก เป็นต้น ซึ่งอาหารหรือน้ำนั้นมักไม่ได้รับการทำให้สุกนานเพียงพอ ทำให้ยังมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่และสร้างสารพิษได้ ซึ่งสารพิษที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ มีทั้งชนิดทนความร้อนและไม่ทนความร้อน หมายความว่า ถ้าเชื้อสามารถสร้างสารพิษชนิดที่ทนความร้อนปนเปื้อนในอาหาร ถึงแม้จะทำให้สุกสารพิษนั้นก็ยังสามารถก่อโรคได้

สารพิษโดยส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์และก่อโรคได้ไม่ นาน ผู้ที่ได้รับสารพิษเพียงอย่างเดียวไม่มีเชื้อโรค มักจะไม่ส่งต่อ แต่อาจพบการระบาดได้ในกลุ่มสังคมหนึ่ง เช่น จากร้านอาหาร โรงเรียน โรงแรม หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีการประกอบอาหารและแจกจ่ายไปให้คนหลายๆ คน ร่วมกัน

อาการที่พบ

อาการที่พบขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและชนิดของ สารพิษที่ได้รับ ซึ่งสามารถก่อโรคได้แตกต่างกัน ส่วนมากจะแสดงอาการ ค่อนข้างเร็ว ไม่เกิน 24 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่ 1-6 ชั่วโมง) หลังได้รับเชื้อหรือสารพิษ และระยะเวลาการเป็นโรค ไม่เกิน 3-5 วัน (ส่วนใหญ่ 1-2 วัน) อาการที่พบ ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือน้ำปนเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

  • ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือ “โอ อาร์ เอส” (ORS) แทนการดื่มน้ำเปล่า เพื่อให้ร่างกายได้รับสารน้ำและเกลือแร่เพียงพอ
  • งดอาหารที่มีกากหรือย่อยยาก เช่น นม หรือ ผักผลไม้ หรืออาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด
  • ใช้ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก
  • รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการอาเจียน ยาแก้ปวดท้อง

การป้องกันการติดเชื้อ

  • ใช้ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก่อนเตรียมหรือรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ
  • รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือต้มสุกแล้ว

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • ถ่ายอุจจาระเหลวปริมาณมาก สูญเสียน้ำมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย หรือซึมลง
  • ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาเจียนมาก
  • มีอาการนานเกินกว่า 5-7 วัน

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนเกิดในคนทั่วไปน้อยมาก แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก, ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงมากกว่า (กรณีนี้ ยกเว้น สารพิษอื่น ที่เกิดจากอาหารกระป๋อง, ปลาปักเป้า, เห็ดพิษ และโลหะหนัก)

5. โรคตับอักเสบ (Hepatitis)

โรคตับอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบและเกิดการถูกทำลายของเซลล์ตับ ทำให้การทำหน้าที่ต่างๆของตับผิดปกติ สามารถแบ่งเป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลัน และ โรคตับอักเสบเรื้อรัง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคตับอักเสบที่ติดต่อกันช่วงฤดูฝน ซึ่งมักเกิดจากการติดต่อทางการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ

สาเหตุ

ของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซึ่งไวรัสตับอักเสบที่สามารถติดต่อกันทางการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (Hepatitis A virus : HAV) และ ไวรัสตับอักเสบชนิด อี (Hepatitis E virus : HEV) ซึ่งไวรัสตับอักเสบชนิด เอ สามารถพบได้ในประเทศไทย ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิด อี นั้น พบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่พบว่ามีการระบาดในประเทศไทย ไวรัสตับอักเสบทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถแพร่เชื้อได้ทางอาหาร ผัก ผลไม้ น้ำดื่ม

จากระบบสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น การขับถ่ายอุจจาระลงแหล่งน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นสาเหตุที่สำคัญมากของการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และ อี ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ โดยทั่วไปจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ในส่วนนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ที่พบได้ในประเทศไทย

การติดต่อ

ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ติดต่อจากคนสู่คนโดยเชื้อเข้าสู่ปาก สามารถแพร่เชื้อได้ทางการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อ ระยะเวลาที่จะเกิดการติดเชื้อได้สูงสุด จะเป็นช่วงที่เชื้อในอุจจาระของผู้ป่วยพบระดับสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มแสดงอาการ และจะลดลงเมื่อตับได้ถูกทำลายหรือมีระดับเอนไซม์ตับในเลือดสูงหรือแสดงอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง (จะพบภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด) หลังจากมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองไปแล้ว 1 สัปดาห์จะหมดระยะติดต่อของโรค

การระบาดของโรคมักเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อในอาหารและน้ำ จากผู้ที่เป็นพาหะของโรค (โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอาหาร) และจากการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ทำให้สุก หรืออาหารภายหลังปรุงสุกสัมผัสกับเชื้อโรค

อาการที่พบ

หลังจากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ จะมีระยะฟักตัวประมาณ 15-45 วัน (โดยเฉลี่ย 28-30 วัน) จะเริ่มมีอาการของตับอักเสบ ซึ่งไวรัสตับอักเสบชนิด เอ จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน ในตอนแรกโดยทั่วไปจะมีไข้นำมาก่อน ร่วมกับปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แบ่งตามอาการ ได้แก่

  • อาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลืองเล็กน้อย
  • อาการ มาก เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้องชายโครงขวา ตัวเหลืองตาเหลืองมากปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด อาจมีอาการคันตามผิวหนังการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ มักมีอาการในเด็กโตและผู้ใหญ่มากกว่าในเด็กเล็ก เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น จะหายจากโรคอย่างสมบูรณ์โดยไม่เป็นพาหะเรื้อรัง หลังจากติดเชื้อและหายจากโรคแล้วผู้ป่วยมักสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสได้ใน ระยะยาว ระยะเวลาของการป่วยนานประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีผลทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใช้ ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก่อนเตรียมหรือรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • เมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรแยกสำรับอาหาร หรือใช้ช้อนกลาง

การป้องกันการติดเชื้อ

  • ใช้ชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก่อนเตรียมหรือรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ
  • รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือต้มสุก นาน 20 นาที
  • งานที่เกี่ยวกับอาหาร การประกอบอาหาร หรือบรรจุอาหาร ไม่ควรอนุญาตให้ผู้ป่วยโรคตับอักเสบทำงานที่สัมผัสอาหาร
  • การให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ในเด็กแรกเกิด หรือ ผู้ที่ยังไม่เคยคิดเชื้อมาก่อนหรือยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

อาการที่ควรไปพบแพทย์

มีอาการทรุดลง รับประทานอาหารไม่ได้ ไข้สูง ภาวะตัวเหลืองตาเหลืองรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับ อักเสบชนิด เอ ส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ภาวะแทรกซ้อน จะพบในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิด บี หรือ ซี มากกว่า) ภาวะแทรกซ้อน คือ ตับอักเสบชนิดร้ายแรง โดยเซลล์ตับจะถูกทำลายเกือบทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองมาก บวม อาจชักเกร็ง หมดสติ อาจทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

เอกสารอ้างอิง

1.สำนัก สารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สธ. ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกัน 15 โรคสำคัญฤดูฝน เผยปี 54 พบป่วยเกือบ 7 แสนคน. กระทรวงสาธารณสุข Ministry of Public Health Website. May 20, 2012. Available at: http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=47030. Accessed June 4, 2012.
2.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ และคณะ. 2545. แนวทางเวชปฏิบัติโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ
3.Guandalini S. Treatment of acute diarrhea in the new millennium. J Pediatr Gastroenterol Nutr. 2000;30(5):486-9.
4.Al-Abri SS, Beeching NJ, Nye FJ. Traveller’s diarrhoea. Lancet Infect Dis. 2005;5(6):349-60.
5.Parry CM, Hien TT, Dougan G, et al. Typhoid fever. N Engl J Med. 2002;347(22):1770-82.
6.Division of Viral Hepatitis. Hepatitis A Information for Health Professionals. Centers for Disease Control and Prevention Web site. November 23, 2010. Available at: http://www.cdc.gov/hepatitis/HAV/index.htm. Accessed June 7, 2012.
7.Kasper DL, Braunwald E, Fauci AS, et al, eds. Infectious Diseases. Harrison’s Principles of Internal Medicine. 17th ed. New York: McGraw-Hill; 2008.

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top