โรคที่ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง

โรคภัยไข้เจ็บส่วนมากหายเองได้ และคนไข้สามารถรักษาตนเองได้ แต่ก็มีการเจ็บป่วยอีกพอสมควร ที่การรักษามีความสำคัญต่อการหายของโรค การรักษาโรคภัยไข้เจ็บกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ ดังนั้นคนไข้จึงต้องมีความรู้ตามสมควร ที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจว่า เมื่อไรอาจรักษาตนเองได้ โดยไม่มีโทษ และเมื่อไรจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ และถ้าต้องหาหมอ เมื่อไรต้องรีบ และเมื่อไรไม่ต้องรีบ

กรณีต่อไปนี้ ท่านไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง

1. โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน diabetes ความดันเลือดสูง hypertension ตับแข็ง cirrhosis หอบหืด asthma แม้จะรู้จักชื่อยาที่ใช้รักษา แต่ความสำคัญของการรักษาอยู่ที่การพยายามรักษาให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด และการระวังป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่ลึกซึ้งพอสมควรจึงจำเป็นต้องให้หมอรักษาซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า

2. โรคเฉียบพลันรุนแรง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ บาดแผลที่เลือดออกไม่หยุด เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จำเป็นต้องให้หมอรักษา บางกรณีถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินหรือเร่งด่วน

3. โรคหรือการเจ็บป่วยใดๆ ที่คิดว่ารักษาด้วยตนเองได้ แต่เมื่อรักษาแล้วไม่ดีขึ้นดังคาดไม่ควรลังเลใจที่จะปรึกษาแพทย์

4. อาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร

5. อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย หายแล้วเป็นอีกโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรเข้ารับการตรวจเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

ยกตัวอย่างอาการเจ็บหน้าอก chest pain มีทั้งกรณีที่อาจเป็นอันตรายและกรณีที่เป็นเพียงอาการที่น่ารำคาญ ความแตกต่างนี้ พิจารณาได้จากลักษณะของอาการเจ็บ อาการอื่นที่เกิดร่วมด้วย และวัยของคนไข้

1. เจ็บหน้าอก บริเวณแคบๆ ตื้นๆ เอานิ้วกดเบาๆ ก็เจ็บ แต่กดบริเวณห่างออกไปไม่เจ็บ ไม่มีอาการอื่น อาการเจ็บหน้าอกเช่นนี้ มีที่มาจากผนังหน้าอก ซึ่งอาจเป็นที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อหรือกระดูก เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จากการถูกกระทบกระแทก เข็นรถ ยกของ เอื้อมมือหยิบของ นั่งหรือนอนผิดท่านานเกินควร อาการเช่นนี้หายเองได้ ส่วนมากจะหายภายในหนึ่งสัปดาห์ หากไม่ไปทำซ้ำเรื่องต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และไม่กดบริเวณที่เจ็บอีก ถ้าเจ็บเกินรำคาญ อาจรับประทานยาแก้ปวดหลังปวดข้อ หากไม่หาย หรือไม่ดีขึ้นตามคาดจึงค่อยคิดเรื่องหาหมอ

2. เจ็บหน้าอกตื้นๆ ที่ด้านหนึ่งด้านใดของอก เวลาหายใจเข้าลึกๆเจ็บมากขึ้นอย่างชัดเจนเป็นอาการเจ็บจากเยื่อหุ้มปอด ถ้าไม่มีอาการอื่น และหายในวันเดียว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องหาหมอ แต่ถ้าไม่หาย หรือเป็นซ้ำบ่อยๆ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ไอ มีเสมหะ จำเป็นต้องหาหมอ ถ้าเลือกได้ควรหาหมอที่รักษาโรคปอด หรือไปโรงพยาบาลหรือโพลีคลินิกที่มีบริการเอกซ์เรย์ปอด

3. เจ็บหน้าอกลึกๆ หรือเป็นอาการแน่นอึดอัด บริเวณกลางอก หรืออาการเจ็บร้าวไปตามด้านในของแขนด้านซ้าย หรือที่คอด้านซ้าย หรือบอกไม่ถูกว่าที่ใหนแน่ อาการเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาออกกำลังกาย หรือหลังอาหาร อาจเกิดจากโรค หัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ในวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป กรณีเช่นนี้ ควรเลือกหาหมอโรคหัวใจ เพื่อตรวจดูให้แน่ว่าใช่หรือไม่

4. ถ้าอาการในข้อ 3 เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ไม่หายภายใน 15 นาที หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก หน้ามืดคล้ายจะหมดความรู้สึก หรือเหงื่อออกตัวเย็น ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือ การแตกทะลุของอวัยวะในทรวงอก

อีกตัวอย่างหนึ่งกรณีที่เป็นไข้ high fever หมายถึง อุณหภูมิของร่างกายสูงผิดปกติ จนรู้สึกว่าตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว ร้อนๆ หนาวๆ หรือหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว คนอื่นจับตัวก็บอกได้ชัดเจนว่าร้อนกว่าปกติ ถ้าไม่แน่ใจควรวัดด้วยปรอทวัดไข้ ถ้าอุณหภูมิสูงไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส อาการคงไม่ใช่เป็นไข้ หากยังสงสัยก็สามารถวัดใหม่ทุกครั้งที่สงสัย

ความสำคัญของอาการเป็นไข้ ให้พิจารณาจากอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้

1. ถ้าเป็นไข้สูงหนาวสั่น ปวดหัวมาก ถ้าวัดอุณหภูมิจะได้เกิน 39 องศาเซลเซียส อาจจะเกิดจากโรคมาลาเรีย (หากเคยไปนอนค้างต่างจังหวัดมาในระยะเกินกว่าหนึ่งสัปดาห์มาแล้ว) หรือเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นโรคจากการติดเชื้ออื่นๆ จึงควรรีบไปหาหมอที่โรงพยาบาล

2. ถ้ามีอาการปัสสาวะแสบขัด และไข้ไม่สูงอาจรักษาแบบโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ได้เอง แต่ถ้ามีไข้หนาวสั่น หรือมีอาการปวดหลังหรือเอวข้างเดียวร่วมด้วย หรือเป็นโรคเบาหวานอยู่ด้วย ควรไปโรงพยาบาล เพราะอาจมีอาการรุนแรง หรือมีนิ่วในไตร่วมด้วย

3. ถ้ามีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหลไอ จาม เหมือนเป็นหวัด อาจรักษาตนเองได้ แต่ถ้ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ หรือไอมีเสมหะเขียว หรือเหลืองหรือมีเลือดปน ควรพบแพทย์

4. ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินเป็นน้ำเกิดขึ้นกระทันหัน มักเป็นจากโรคอาหารเป็นพิษถ้าอาการอาเจียนหายเร็ว รักษาตนเองได้

5. ถ้ามีอาการคลื่นไส้ ปวดท้องด้านขวาล่างนานราว 4 ชั่วโมงแล้วก็ยังไม่หาย อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ต้องไปโรงพยาบาล

6. ถ้ามีไข้ คลื่นไส้อาเจียน แม้จะไม่ปวดจากโรคตับอักเสบ ควรหาหมอที่โพลีคลินิก หรือโรงพยาบาล เพื่อสามารถเจาะเลือด ตรวจได้ผลในเวลาไม่นานนัก

7. ถ้ามีแต่ไข้ โดยไม่มีอาการอื่น รวมทั้งรับประทานอาหารได้เป็นปกติ หลังรับประทานยาพาราเซตามอลไข้ลดแล้วสบายดี ส่วนใหญ่เป็นจากการติดเชื้อไวรัสธรรมดา ซึ่งจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top