โฉมใหม่ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย

วันที่ 30 มีนาคม 2552 นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในวโรกาสที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์ เสด็จมาทรงเปิดอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะได้รับทราบข่าวทางสื่อหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์มากันบ้างแล้วว่า เป็นพระดำริของพระองค์ท่านในฐานะที่เคยทรงเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย และทรงต้องมาทดสอบสมรรถภาพทางการกีฬา ก่อนการเข้าร่วมการแข่งขันแบดมินตัน ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่างานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา มีความสำคัญยิ่งต่อนักกีฬาทีมชาติไทย น่าที่การกีฬาแห่งประเทศไทยจะได้สนับสนุนให้มีความทันสมัยทั้งด้านอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์เครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จำเป็น

ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย มีบุคคลสำคัญที่สมควรกล่าวถึง 2 ท่าน คือ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ และรศ.นพ.เจริญทัศน์ จินตนเสรี ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานด้านนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่มีออฟฟิศเล็กๆ อยู่ใต้อัฒจรรย์ทางด้านตะวันออกฉียงใต้ของสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติมีบุคลากรอยู่เพียงไม่กี่คน ทั้งสองท่านมีส่วนสำคัญในการที่ทำให้งานวิทยาศาสตร์การกีฬา เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเมื่อ 43 ปีที่แล้ว และจนถึงปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศจะประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จะนำมาใช้อย่างจริงจัง และเป็นระบบที่ดีกับนักกีฬาทุกระดับ

ในปัจจุบันฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในการกีฬาแห่งประเทศไทยมีงานหลักๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้

          1.การเตรียมความพร้อมนักกีฬาทีมชาติโดยร่วมมือกับสมาคมกีฬาต่างๆ ที่จะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันและฝ่ายแพทย์ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในกรณีที่เตรียมนักกีฬาทีมชาติเข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิคเกมส์ และการแข่งขันอื่นๆ อีกที่ปัจจุบันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะเป็นองค์กรหลักของประเทศ
          2.การทดสอบสมรรถภาพของนักกีฬาเพื่อให้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ถึงระดับความฟิตของนักกีฬาในช่วงเวลาต่างๆ ก่อนเข้าทำการแข่งขันเกมส์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ของโค้ชและผู้จัดการทีม ในการพิจารณาด้านตัวผู้เล่นหรือการเตรียมทีมที่ดีที่สุด
          3.การบริการตรวจรักษามีหน่วยบริการตรวจรักษาในกรณีที่นักกีฬาได้รับบาดเจ็บ โดยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ไว้ให้บริการนักกีฬาทีมชาติที่เข้ามาฝึกซ้อมภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย สำหรับกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติม และยังต้องเป็นผู้ประสานงาน และส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญของคณะแพทย์ศาสตร์ต่างๆ นอกจากนี้ยังให้บริการกับประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการการฝึกซ้อมหรือเล่นกีฬาแล้วเกิดการบาดเจ็บเกิดขึ้น
          4.การบริการด้านกายภาพบำบัดมีนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญทางด้านการป้องกัน และการฟื้นฟูการบาดเจ็บทางการกีฬา ตลอดจนอุปกรณ์ทางด้านกายภาพบำบัดที่ทันสมัยไว้บริการนักกีฬา
          5.การบริการด้านทันตกรรมมีทันตแพทย์เพื่อให้บริการงานตรวจเช็คสุขภาพฟันตลอดจนการรักษาที่จำเป็น และการประสานงาน และส่งต่อเพื่อรับการรักษาต่อในกรณีต้องการการรักษาจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ และวิจัยเกี่ยวกับฟันยางเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดกับนักกีฬาบางประเภท
          6.การบริการด้านจิตวิทยามีห้องปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยา ดำเนินการโดยนักจิตวิทยาทางด้านการกีฬา เพื่อให้คำปรึกษา และวางแผนงานการเตรียมความพร้อมในด้านจิตใจแก่นักกีฬา
          7.การบริการด้านเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายมีห้องฟิตเนสเพื่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง (Strength) ความอดทน (Endurance) ตลอดจนความอ่อนตัว (Flexibility) และห้องอบไอน้ำไว้ให้บริการด้วย
          8.งานด้านการควบคุมสารต้องห้าม (Doping control) เป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องให้ทั้งการศึกษาแก่นักกีฬา โค้ชของสมาคมกีฬาต่างๆ ตลอดจนหามาตรการป้องกัน และควบคุมเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายคณะกรรมการโอลิมปิคและองค์กรป้องกันการใช้สารต้องห้าม (World Anti-Doping Agency – WADA)
          9.งานด้านชีวกลศาสตร์ (Biomechanic) เป็นงานที่สำคัญสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทยพยายามที่จะผลักดันให้มีบทบาทมากขึ้นในบางประเภทกีฬา
          10.งานด้านการวิเคราะห์เกมส์กีฬางานด้านการรวบรวมองค์ความรู้และการวิจัย
          11.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬางาน 3 ด้านสุดท้ายผมยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำเสนอในครั้งนี้จึงขอนำรายละเอียดมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบในโอกาสต่อไป และสำหรับงานหลักๆ ดังกล่าวข้างต้น
ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาซึ่งมีคุณถวัลย์ศักดิ์ พิมเสน เป็นผู้อำนวยการฝ่าย ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับกองดังนี้

          11.1กองวิจัยและพัฒนากีฬา (ผู้อำนวยการกอง – ดร.กาหลง เย็นจิต) มีหน่วยงานย่อยเป็น 2 หน่วยงาน คือ

  • งานวิจัยวิทยาศาสตร์การกีฬา (ผู้รับผิดชอบ – คุณนิตยา เกิดจันทึก)
  • งานด้านวิชาการ และเทคโนโลยีทางการกีฬา (ผู้รับผิดชอบ – คุณปนิก อวิรุทธการ)

11.2กองสมรรถภาพการกีฬา (ผู้อำนวยการกอง – ยังรอการแต่งตั้ง)

  • งานทดสอบ และส่งเสริมสมรรถภาพ (ผู้รับผิดชอบ – คุณสุรศักดิ์ เกิดจันทึก)
  • งานควบคุมสารต้องห้าม (ผู้รับผิดชอบ – นพ.มีชัย อินวู๊ด)

11.3กองกีฬาเวชศาสตร์ (ผู้อำนวยการ – คุณอรศรี จายะภูมิ)

  • งานตรวจรักษา (ผู้รับผิดชอบ – ทพญ.พิริยา วิมุกตานนท์)
  • งานกายภาพบำบัด (ผู้รับผิดชอบ – คุณสุวิทย์ เกิดบำรุง)

สำหรับโอกาสหน้าผมจะนำเสนอเจาะลึกลงไปให้ทราบบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในภาคปฏิบัติของงานวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย ที่จะส่งผลโดยตรงต่อนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งเป็นนักกีฬา เพื่อความเป็นเลิศของกีฬาประเภทนั้นๆ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีอยู่ และการประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติจริงๆ สวัสดีครับ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ที่ปรึกษา

Scroll to Top