BHRC Research Weekly

พบผู้ป่วยอายุน้อย มีเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

มื่อพูดถึงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เรามักจะนึกถึงผู้สูงอายุ หรือในผู้ที่มีประวัติ อาจมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น มีประวัติคนในครอบครัวป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจ(Coronary Artery Disease) มีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อ้วนหรือน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ แต่คงทราบกันดีว่าโรคนี้เกิดกับคนอายุน้อย (ต่ำกว่า 45 ปี) ลงทุกที แม้ในผู้ที่ไม่มีประวัติหรือปัจจัยเสี่ยงก็ตาม

บางรายตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่พบ ทำให้โรคหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่น่ากลัว มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ในวารสาร The Bangkok Medical Journal Volume 15 Number 1 นพ.กัมปนาท วีรกุล ได้รายงานผู้ป่วยชาย อายุ 43 ปี ที่เสียชีวิตกระทันหันขณะเล่นเทนนิสในปี พ.ศ. 2557

ผู้ป่วยรายนี้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผลการตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดอย่างน้อย 5 ปี ได้รับยาลดไขมัน Simvastatin วันละ 10 มิลลิกรัม หลังจากตรวจพบไขมันในเลือดสูงเล็กน้อย (ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดก่อนเริ่มยา 260 mg/dl) ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังในปี พ.ศ. 2554 ที่น่าสนใจคือการตรวจเตรียมก่อนผ่าตัดให้ผลในเกณฑ์ปกติทั้งหมด ผู้ป่วยได้รับยา Etoricoxib ซึ่งอยู่ในกลุ่ม NSAID วันละ 90 มิลลิกรัมเป็นประจำ ผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่นาน 1 ปี หยุดไปแล้ว 17 ปี ไม่ใช้ยาหรือสารสันทนาการใดๆ แต่มีประวัติบิดาเสียชีวิตกระทันหันขณะนอนหลับเมื่อบิดาอายุสามสิบกว่าปี ก่อนเสียชีวิต 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยรายนี้มีอาการแน่นหน้าอกบ้าง แต่ก็ยังสามารถเล่นเทนนิสได้จนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 หลังเล่นเทนนิสผู้ป่วยรู้สึกวิงเวียน หมดสติ ปฐมพยาบาลไว้ไม่ได้ ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล

ผลการตรวจชันสูตรหลังเสียชีวิตพบลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
(1) หัวใจโต มีน้ำหนัก 425 กรัม (น้ำหนักปกติสำหรับผู้มีอายุ 35-45 ปี คือ 265 + 8 ถึง 302 + 7 กรัม)
(2) รอบหัวใจมีไขมัน (Epicardial Adipose Tissue – EAT) ปกคลุม และ (3) พบ Myocardial Bridging และแน่นอนว่าการตรวจชันสูตรพบร่องรอยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทั้งเก่าและใหม่

สรุปการเสียชีวิตคาดว่ามาจากหลายปัจจัย ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction – AMI) อันทำให้เสียชีวิตกระทันหัน โดยอาจจะมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นผลมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเดิมที่กลายเป็นแผลเป็น (scar) ร่วมด้วย

รายงานการตรวจพบไขมันรอบหัวใจ (Epicardial Adipose Tissue – EAT) ในผู้ป่วยรายอื่นๆพบว่า ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง เพราะมีการตรวจพบ Inflammatory cytokines เช่น IL-1, IL-6, IL-6sR และ TNF นอกจากนี้ยังมีรายงานในผู้ป่วย 110 ราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 พบว่าความหนาของ EAT มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของหัวใจขาดเลือด และรายงานการติดตามผู้ไม่มีอาการ 122 ราย นานเฉลี่ย 65.4 เดือน พบว่า EAT ที่ตรวจได้ด้วย CT scan และการเป็นเบาหวาน ต่างมีความสัมพันธ์กับการเกิด non-calcified plague ด้วยค่าความเสี่ยง (Odds Ratio) 4.29 และ 9.00 ตามลำดับ ทำให้เกิดคำถามว่าการตรวจ CT Scan เพื่อดู EAT น่าจะช่วยให้มีโอกาสค้นพบผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกเพียงใด

ผู้สนใจศึกษารายละเอียด จากบทความ Advanced Coronary Atherosclerosis and Fatal Myocardial Infarction in Mild Dyslipidemic, Low Risk Yong Man: A Case Report With Literature Reviewed ในวารสาร The Bangkok Medical Journal Volume 15 Number 1 pages 66 – 72.

Authors : กัมปนาท วีรกุล ชัยยศ คุณานุสนธิ์