BHRC Research Weekly

การประเมินสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดเท้ามากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นถึง 25 เท่า สาเหตุสำคัญเกิดจากแผลที่เท้าโดยผู้ป่วยไม่ทราบ

เนื่องจากมีอาการปลายประสาทเสื่อมและภาวะเส้นเลือดอุดตัน เลือดมาเลี้ยงได้ไม่เต็มที่ การสมานแผลจึงเป็นไปได้ยากโดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน

คาดกันว่าร้อยละ 85 ของผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดเท้าสามารถป้องกันได้หากมีการตรวจสุขภาพเท้าสม่ำเสมอ

ศูนย์เบาหวาน ไทรอย์และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ ตระหนักถึงความสำคัญนี้จึงจัดตั้งคลินิกสุขภาพเท้าขึ้นในปี พ.ศ. 2559

เพื่อคัดกรองประเมินสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวานจากผู้ป่วยเบาหวาน 11,689 คน มีมารับการตรวจประเมินสุขภาพเท้าเพียง 205 คน (1.8%) เห็นชัดว่ายังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

ด้วยเหตุนี้จึงร่วมกับศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพทำการวิจัยเรื่องนี้ โดยรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินสุขภาพเท้าผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้บริการที่คลินิกสุขภาพเท้าในปี พ.ศ. 2560 - 2561 จำนวน 250 คน นำมาวิเคราะห์เพื่อนำผลที่ได้มารณรงค์ให้มีการใช้บริการตรวจสุขภาพเท้าให้มากขึ้น

ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ (80%) มีความเสี่ยงระดับปานกลาง รองลงมามีความเสี่ยงต่ำ(18%) และพบผู้ที่มีความเสี่ยงสูง 2% โดยพบความผิดปกติ 4 รูปแบบ

1.คือความผิดปกติเกี่ยวกับเล็บ/ผิวหนัง พบมากที่สุดคือ 190คน ( 76%) ความผิดปกติที่พบคือ ผิวหนังแตกเป็นร่อง แผลที่ฝ่าเท้า, ผิวหนังแห้ง เล็บหนา (Thickened) , เล็บขบ (Ingrown), เล็บเปลี่ยนสี (Discolored),หนังหนา (callus) เป็นต้น

2.ความผิดปกติด้านรูปทรงเท้า พบจำนวน 51 ราย (7.2% ) ความผิดปกติที่พบคือ ข้างนิ้วโป้งเท้าเป็นปุ่มยืนยื่นออกมา (Bunion) , อุ้งเท้าแบน (Arch deformity), เล็บเท้าจิก(Hammer toes/Claw toes), นิ้วเท้าผิดรูป(Over tapping digits)

3.ความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว คือใช้อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหว พบจำนวน 30 ราย (12 %)

4.ความผิดปกติของหลอดเลือดที่เท้า พบ 12ราย ( 5 %) คือ คลำชีพจรที่เท้าทั้ง 2ตำแหน่งคือ Dosalis pedis และ Posterior Tibial location ไม่ชัดเจน

จึงนำผลการวิจัยนี้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ในปี พ.ศ. 2562 ได้ส่งผู้ป่วยเบาหวานทุกรายตรวจประเมินสุขภาพเท้าทำให้สัดส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการตรวจสุขภาพเท้าเพิ่มขึ้นครบ 100%

งานวิจัยนี้ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในงานประชุมQuality Forum 2019

Reference : พัชณา วุฒิศักดิ์ชัยกุล , ชัยยศ คุณานุสนธิ์ ผู้ที่สนใจสามารถส่งความคิดเห็นหรือคำแนะนำมาได้ที่ [email protected]