BHRC Research Weekly

การศึกษาเครื่องมือวัดความหุนหันพลันแล่น ตอนที่1

ในด้านจิตวิทยามีปัจจัยหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ Impulsivity หรือ Impulsiveness โดยมีการแปลเป็นไทยว่า ความหุนหันพลันแล่น ซึ่งให้ความรู้สึกติดลบนิดหน่อย หมายถึง ลักษณะของบุคคลที่มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ไม่คิดมาก มีลักษณะ 2 ประการ คือ 1.มีการกระทำทันที 2.เกี่ยวกับสิ่งจูงในปัจจุบันมากกว่าอนาคต อาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างไม่คาดหมาย

เครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้วัดระดับ Impulsivity คือ แบบสอบถาม Barratt Impulsiveness Scale(BIS) ที่แต่เดิมมีข้อคำถาม 30 ข้อ เรียกว่า BIS-11 (สังเกตว่า BIS-11 มีคำถาม 30 ข้อ) และมีการแปลไปใช้ในหลายภาษา มีการพิสูจน์ความสอดคล้องแม่นยำแล้ว ต่อมามีการปรับปรุงให้สั้นลงเหลือ 15 ข้อ (BIS-15) และมีการพิสูจน์ว่า ได้ผลการวัดสอดคล้องกับ BIS-11 ต่อมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็มีการปรับปรุงอีกเหลือ 8 ข้อคำถาม (BIS-Brief)ทำให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ การนำมาใช้กับคนไทย จำต้องได้รับการแปลและพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าภาษาที่ใช้มีความหมายถูกต้อง

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพมีส่วนในการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในคนไทย โดยทำการแปลแบบสอบถามทั้ง 3 แบบ ตรวจสอบความถูกต้องด้านภาษาและความเข้าใจด้วยการแปลไป-แปลกลับ และคำนวณค่าความสอดคล้อง เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงนำแบบสอบถามทั้ง 3 แบบ (BIS-11T, BIS-15T และ BIS-Brief-T) ไปศึกษาในโรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ โรงพยาบาลพญาไท 2 และ โรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง (ชื่อขณะทำการวิจัย ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลเปาโลพระประแดง)

รวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครทั้งหมด 305 คน

ติดตามผลการศึกษาความสอดคล้องและศักยภาพของการนำไปใช้ได้ในตอนต่อไป...

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จากบทความ Thai adaptation and reliability of three versions of the Barratt Impulsiveness Scale (BIS 11, BIS-15 and BIS-Brief) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Psychiatric Research 272 (2019) 744 – 755 [doi: https://doi.org/10.1016/j.psychres.2018.12.173]

Reference : ชัยยศ คุณานุสนธิ์