คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เข้าเฝือก
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เข้าเฝือก
เฝือก คืออุปกรณ์ที่ใช้ดามกระดูกและข้อ เพื่อต้องการให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่งๆในปัจจุบันนี้นอกจากเฝือกที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ยังมีเฝือกใยสังเคราะห์ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน มีสีสันสวยงาม
เมื่อไรจะเข้าเฝือก
· ผู้ป่วยกระดูกหัก หรือข้อเคลื่อน
· แก้ไขความพิการ เช่น คด เท้าปุก เป็นต้น
· ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น ในผู้ป่วยแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
· ป้องกันการหักของกระดูก ในกรณีที่เป็นโรคกระดูก เช่น โรคกระดูกบาง หรือเป็นเนื้องอกของกระดูก
· ระยะหลังการผ่าตัดที่ต้องการให้แขน ขา นั้นได้พักอยู่นิ่งๆ
คำแนะนำภายหลังการเข้าเฝือก
· ไม่ควรให้เฝือกรับน้ำหนักทันที หรือลงน้ำหนักเดินบนเฝือกจนกว่าเฝือกจะแข็งแรงเต็มที่
· ยกแขนหรือขา ส่วนที่ใส่เฝือกให้สูงกว่าระดับลำตัวโดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อลดอาการบวม
· อย่าให้เฝือกเปียกน้ำและอย่าให้น้ำเข้าไปภายในเฝือก
· หากมีอาการคัน ห้ามใช้วัตถุแหย่เข้าไปเกาในเฝือก เพราะอาจทำให้ผิวหนังมีแผลถลอกและระวังวัตถุขนาดเล็กที่อาจพลัดตกเข้าไปในเฝือก จะทำให้เกิดแผลกดทับและมีการติดเชื้อตามมาได้
· หมั่นบริหารกล้ามเนื้อเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยการเกร็งกล้ามเนื้อทั้งส่วนที่อยู่ในเฝือก และอยู่นอกเฝือกร่วมกับการขยับเคลื่อนไหวข้อส่วนที่อยู่นอกเฝือก
· ไม่พยายามที่จะถอดเฝือก ตัดเฝือกให้สั้นลง หรือทำเฝือกให้หลวมด้วยตนเอง
· ห้ามผิงไฟ
สิ่งที่ควรสังเกต
ควรพบแพทย์โดยเร็ว เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
· เฝือกมีการแตกร้าว รู้สึกว่าเฝือกแน่นเกินไป หรือหลวม หลุด
· มีอาการปวดมาก โดยเฉพาะบริเวณที่เฝือกกดทับ
· ปลายนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าข้างที่เข้าเฝือก มีอาการปวดบวม เขียวคล้ำ หรือซีดขาวรู้สึกชาเคลื่อนไหวได้น้อยและอาการไม่ทุเลา แม้จะยกส่วนที่ใส่เฝือกให้สูง
· มีเลือด น้ำเหลือง หรือกลิ่นเหม็น ออกมาจากเฝือก
· ผิวหนังบริเวณขอบเฝือก มีการถลอกหรือบวมแดง
ภายหลังการถอดเฝือก
· ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นเบาๆด้วยสบู่และน้ำอาจทาน้ำมันหรือโลชั่น เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นการทำผิวหนังให้สะอาด อาจใช้เวลานานหลายวัน
· เริ่มเคลื่อนไหวข้อที่ถอดเฝือกทันทีที่ทำได้
· ถ้ามีอาการบวม หลังจากเดิน หรือห้อยแขน ขา ควรยกแขน ขาให้สูง โดยวางบนหมอนหรือวัสดุอ่อนนุ่ม เช่น เดียวกับที่ทำในขณะเข้าเฝือกอยู่
· ไม่ควรใช้งานเต็มที่ จนกว่ากล้ามเนื้อจะแข็งแกร่งหรือตามคำแนะนำของแพทย์
ขอขอบคุณ
คำสงวนสิทธิ์
รายงานฉบับนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือในเชิงวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์ต้องการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่ได้เจตนาแนะนำข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรค ตลอดจนไม่ใช่เพื่อการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือมีเจตนาเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงไม่ขอรับรองความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ และเป็นปัจจุบัน ของข้อมูลเกี่ยวกับยา โรค สาเหตุ อาการ วิธีการดูแลรักษา นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ บางส่วนยังไม่มีการรับรองผลของการใช้งาน รวมทั้งไม่มีหลักฐานรับรองที่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น ผู้ใช้ข้อมูล ควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลหรือปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพิ่มเติม หากมีการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ หรือการอ้างอิงข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ และศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไข ดัดแปลงรายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า