การเสียชีวิตของนักกีฬาในสนามแข่งขัน (ตอนสุดท้าย)
การเสียชีวิตของนักกีฬาในสนามแข่งขัน (ตอนสุดท้าย)
การป้องกัน
ผมเขียนบทความในเรื่องเดียวกันนี้มาตลอด 1 เดือน และได้รับความสนใจจากหลายท่านที่อยู่ในวงการกีฬามากพอสมควร ผมคิดว่าการเสียชีวิตของน้องนอร์ท (วรปรัชญ์ ลิ่วศรีสกุล) แม้นว่าจะเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของครอบครัว นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล (บิดา) ซึ่งผมขอนำคำพูดของท่านบันทึกไว้ในคอลัมน์นี้ “ผมหวังว่าการเสียชีวิตของนายวรปรัชญ์ ลิ่วศรีสกุล จะไม่สูญเปล่า และเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการกีฬาได้ตระหนักถึงสุขภาพ และชีวิตของนักกีฬาเป็นสำคัญ เพื่อจะได้ไม่มีนักกีฬาท่านใด ต้องมาเสียชีวิตเพราะขาดการป้องกันอย่างเหมาะสมอีกต่อไปในอนาคต” ผมเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงการป้องกันไว้บ้างแล้ว เช่น การตรวจร่างกายของนักกีฬาก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน การซักประวัติการเจ็บป่วยโรคร้ายแรงของครอบครัวนักกีฬา การจัดบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมระหว่างการแข่งขัน และการส่งตัวนักกีฬา หรือผู้ชมในสนามที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บรุนแรงไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยมีการเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว โดย นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล ได้ค้นคว้า และเสนอแนะในเรื่องเกี่ยวกับการคัดกรอง ผู้ที่มีแนวโน้มว่าอาจมีอันตรายจากการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงมากๆ ออกเป็น 2 ระดับ คือ
ระดับนักกีฬาทั่วไป (ไม่จริงจังมาก)
โดยทำเป็นแบบสอบถามที่ช่วยประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น หากมีความเสี่ยงจึงจะทำการตรวจต่อเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินร้ายแรงในอนาคต
1.1 แบบสอบถามเกี่ยวกับโรคหัวใจ
ท่านหรือญาติมีประวัติโรคหัวใจ หรือญาติเสียชีวิตแบบเฉียบพลันก่อนวัย 50 ปี
ท่านไม่สามารถนอนราบได้เนื่องจากหายใจอึดอัดหรือตื่นนอนกลางดึกแล้วหอบเหนื่อย
ขณะท่านออกกำลังกายจะเหนื่อยเร็วกว่าปกติ / ใจสั่น / หัวใจเต้นสะดุด / มีการแน่นหน้าอก / เคยเป็นลมหรือหมดสติ
1.2 แบบสอบถามเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ
ท่านหรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคหืดหอบ
ท่านมักมีอาการไอ หายใจดังวี๊ดๆ หอบเหนื่อย เวลามีอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ ขณะตื่นนอนกลางดึก
ขณะท่านออกกำลังกายมีหายใจดังวี๊ดๆ หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก
1.3 แบบสอบถามเกี่ยวกับโรคสมอง
ท่านเคยป่วยเป็นโรคลมชัก หมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดเวียนศีรษะหริอบ้านหมุนบ่อยๆ
ท่านเคยเห็นภาพซ้อนหรือสายตามองไม่เห็นอย่างเฉียบพลัน
ท่านเคยปวดศีรษะบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
แบบสอบถามสำหรับผู้ที่เริ่มเล่นกีฬา หรืออยากออกกำลังกายมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกันสำหรับในข้อ 1.1 – 1.3 ค่อนข้างครอบคลุมหลายระบบที่สำคัญ ผมจึงขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ และหากท่านพบว่าท่านเคยมีประวัติตรงกับข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ท่านควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
ระดับนักกีฬาที่เล่นจริงจังหรือนักกีฬาชั้นนำ (Elite Athlete)
ควรมีการตรวจอย่างครบถ้วนก่อนเข้าโปรแกรมการฝึก หรือแข่งขัน (Preparticipation Screen) และกระทำซ้ำเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม (ตามวัยและตามความจำเป็นของแต่ละท่าน) ซึ่งนอกจากการซักประวัติอย่างละเอียด การตรวจร่างกายตามระบบทั่วไป และเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ แล้ว ควรจะเน้นการตรวจเกี่ยวกับโรคร้ายแรงดังนี้
- โรคหัวใจ
นอกจากการซักประวัติครอบครัว การตรวจหัวใจโดยแพทย์ด้วยการฟังเสียงการเต้น การเอ็กซเรย์ปอด และหัวใจแล้ว ควรจะทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีด ซึ่งอาจสามารถตรวจพบความผิดปกติของหัวใจได้ประมาณ 80-90% โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในนักกีฬาได้บ่อยๆ และหากมีข้อสงสัยว่ามีปัญหาโรคหัวใจ แพทย์ที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจจะพิจารณาทำ EST (Exercise Stress Test) (การตรวจคลื่นหัวใจขณะที่ผู้รับการตรวจวิ่งสายพานเพื่อทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น) หรืออาจพิจารณาทำ Echo Cardiography (การดูลักษณะของหัวใจโดยอาศัยคลื่นเสียงความถี่สูง) ซึ่งจะสามารถบอกความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัวได้อย่างแม่นยำขึ้น
- โรคหืดหอบ
อาจพิจารณาตรวจดูหน้าที่ของปอดให้ละเอียดขึ้น โดยการทำ Spirometry ซึ่งเป็นการประเมินว่าการทำหน้าที่ของปอดเป็นปกติหรือมีความสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอ๊อกซิเจน – คาร์บอนไดออกไซด์ไปมากน้อยเพียงใด
- โรคสมอง
อาจพิจารณาทำ EEG (การตรวจคลื่นสมอง) ในรายที่มีประวัติผิดปกติทางสมองมาก่อน ซึ่งอาจต้องปรึกษาแพทย์โรคทางสมองเพื่อให้คำแนะนำ
การซ้อมปฏิบัติ (Drill) การช่วยชีวิตในสนามกีฬา (สำหรับการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติ)
คณะกรรมการฝ่ายแพทย์ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้ร่วมมือกับศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดบริการทางการแพทย์ระหว่างการแข่งขันของสมาคมฟุตบอล) และฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (สนามราชมังคลากีฬาสถาน) จะได้ร่วมมือกันฝึกซ้อมปฏิบัติ (Drill) การช่วยชีวิตในสนามกีฬาที่มีการแข่งขันบ่อยๆ โดยจะเป็นการสมมุติสถานการณ์จำลองว่า มีนักกีฬาฟุตบอลหมดสติ หยุดหายใจขณะมีการแข่งขันฟุตบอล ทีมบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในการแข่งขันฟุตบอลจะได้ฝึกซ้อมการปฏิบัติการช่วยชีวิต ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งในอนาคตอาจมีการฝึกซ้อมร่วมกับเจ้าหน้าที่ในสนามกีฬาอื่นๆ ที่มีการแข่งขันฟุตบอลเป็นประจำ เช่น สนามศุภชลาศัย สนามไทย-ญี่ปุ่น สนามกีฬากองทัพบก อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก และที่อาคารนิมิบุตร
การอบรมการปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (BLS – Basic Life Support)
นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล ได้เสนอให้มีการอบรม BLS ให้กับกลุ่มนักกีฬาในภาคเหนือ รวมทั้งผู้ปกครอง ครูผู้ฝึกสอน และผู้ที่สนใจ โดยใช้เวลาครึ่งถึงหนึ่งวัน อบรมรุ่นละ 40 คน และจะนำเสนอให้แก่โรงเรียนมงฟอร์ตที่ลูกเคยเรียนอยู่ เพื่อทำการอบรมให้กับครู และเด็กนักเรียน เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เป็นภาคบังคับ
สำหรับการฝึกอบรมให้ประชาชนทั่วไป ศูนย์การฝึกอบรมของศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพร่วมกับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จะได้จัดการฝึกอบรม ตามหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนที่สนใจในเร็วๆ นี้ (หากท่านสนใจที่จะเข้ารับการอบรม ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1719) และจะร่วมมือกับฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดสำหรับนักกายภาพบำบัดที่จะไปอยู่กับนักกีฬาทีมชาติไทยด้วยในโอกาสต่อไป
ขอขอบคุณ
คำสงวนสิทธิ์
รายงานฉบับนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือในเชิงวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์ต้องการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่ได้เจตนาแนะนำข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรค ตลอดจนไม่ใช่เพื่อการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือมีเจตนาเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงไม่ขอรับรองความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ และเป็นปัจจุบัน ของข้อมูลเกี่ยวกับยา โรค สาเหตุ อาการ วิธีการดูแลรักษา นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ บางส่วนยังไม่มีการรับรองผลของการใช้งาน รวมทั้งไม่มีหลักฐานรับรองที่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น ผู้ใช้ข้อมูล ควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลหรือปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพิ่มเติม หากมีการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ หรือการอ้างอิงข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ และศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไข ดัดแปลงรายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า